สินบนโตโยต้าพริอุส ใครโค่น...ศาลฎีกา

04 มิ.ย. 2564 | 02:10 น.

สินบนโตโยต้าพริอุส ใครโค่น...ศาลฎีกา : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3684 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ประวัติศาสตร์กระบวนยุติธรรมของไทยร้อนฉ่าจนตาชั่งแทบหัก เมื่อมีข้อกล่าวหาว่า อดีตประธานศาลฎีกา 2 คน และ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน ปรากฏชื่อเป็น 3 คน ในผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา ที่เว็บ Law360 รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กล่าวอ้างถึงในผลการสอบสวนภายในของ บริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า เข้าไปเกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนก้อนโตจาก บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย ที่จ่ายผ่านบริษัทสำนักงานกฎหมายเพื่อให้ศาลได้มีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณในเรื่องข้อพิพาททางภาษีราว 11,000 ล้านบาท ไม่ต้องจ่ายภาษีเมื่อประมาณปี 2563

ผู้พิพากษา 3 คน ที่ถูกดึงไปเกี่ยวข้องนั้น แต่ละท่านล้วนเป็นบรมครูและเป็นผู้ที่มีวัฎปฏิบัติที่ดีงาม ผ่านการคัดกรอง ผ่านการพิจารณาคัดสรรมาจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศจนก้าวขึ้นมาเป็น “ประธานศาลฎีกา”  2 คน เป็น “ประธานศาลอุทธรณ์” 1 คน 

31 พ.ค.2564 นายดิเรก อิงคนินันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 42 ช่วงปี 2556-2558 พร้อมด้วย นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ปูชนียบุคคลในกฎหมายภาษีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย เป็น  2 ผู้พิพากษาผู้ถูกพาดพิงจากเว็บไซต์ต่างประเทศ (www.law360.com) ซึ่งติดตามการสอบสวนในต่างประเทศเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า กล่าวหาว่ามีการจ่ายสินบนผ่านสำนักงานกฎหมายเเละปรากฏรายชื่อ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้เดินทางมาเเจ้งความต่อกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้ทำการสอบสวนหาผู้กระทำผิด

โดยมี พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. ร่วมทีมพนักงานสอบสวนสอบถ้อยคำ ซึ่งต้องติดตามว่าคดีนี้จะเป็นอย่างไรเพราะเป็นข่าวที่ “ทำลายความเชื่อถือศรัทธาศาลสถิตยุติธรรมไทย”

ในวันนั้น นายดิเรก อดีตประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ 1 ต.ค.2556- 30 ก.ย. 2558 ให้ถ้อยคำสั้นๆ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่รู้เรื่องอะไรเลย เเต่เมื่อมีข่าวเเละได้รับความเสียหาย จึงมาเเจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เเละพร้อมให้ถ้อยคำ

นายดิเรก ยืนยันว่า คดีดังกล่าวตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้งสองศาล ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และไม่ได้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดี หรือวิ่งเต้นต่างๆ โดยข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะไม่ได้ทำผิด และรับสินบน

ในหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของอดีตผู้พิพากษา ระบุว่า ให้ดำเนินการสืบสวนตามกฎหมายกับสำนักข่าว Law360, นายแฟรงค์ ผู้เขียนบทความ, บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด , กรรมการผู้จัดการบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด, บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ สหรัฐอเมริกา และ บุคคลที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ หากผลการสืบสวนพบว่า บุคคลใดไม่ได้กระทำความผิดก็ขอให้กันไว้เป็นพยาน และยังยืนยันความบริสุทธิ์ และยินดีให้ตรวจสอบการเงินและทรัพย์สินว่ามิได้รับสินบนแต่อย่างใด

ขณะที่บรมครูด้านกฎหมายภาษีอากร นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม กล่าวว่าได้นำข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว ที่มีการกล่าวหาพร้อมเอกสาร ซึ่งเป็นสำเนาคำพิพากษาที่ให้โตโยต้าเเพ้คดี มายื่นเป็นหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำ

ผู้พิพากษาชัยสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้จริง ตั้งแต่ที่คดีผ่านการพิจารณามาถึงศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ขณะที่ตัวเองยังเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และได้รับมอบสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโตโยต้า มอร์เตอร์ ประเทศไทย จำนวน 10 สำนวน แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดในสำนวน เห็นว่า บริษัท โตโยต้า มอร์เตอร์ น่าจะแพ้คดี แต่ก็มีหลายสำนวนที่เห็นว่าโตโยต้าชนะคดี ขณะนั้นองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

"ผมเป็นผู้อภิปรายว่า บริษัทโตโยต้า ควรจะเป็นฝ่ายแพ้คดี และเมื่ออภิปรายจบที่ประชุมใหญ่ของศาลฯ จึงลงคะแนนหลังจากพิจารณาจากสำนวนคดีจากทั้งหมดราว 70 คน ในจำนวนนี้ 60 คน เห็นด้วยให้ บริษัท โตโยต้าแพ้คดี และเสียงส่วนน้อย 10 เสียงเห็นว่า ควรจะให้บริษัทโตโยต้าชนะคดีในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์”

“คะแนนเนี่ยก็เกือบทั้งหมด ต่อมาก็ทราบว่าเขา (โตโยต้า) ฎีกาไป ผมก็เกี่ยวข้องแค่นี้ ก็เลยไม่ทราบว่าทำไมกล่าวหาผม ว่าผมไปร่วมกับประธานศาลฎีการับสินบนเรื่องนี้ ทั้งที่ผมเป็นคนตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ ร่วมกันเป็นเจ้าของสำนวนร่วมกัน แล้วก็ให้ความเห็นว่าโตโยต้าควรจะเป็นฝ่ายแพ้คดี”
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ LAW360 ว่าทำไมโตโยต้าประเทศไทยไม่เร่งออกมาชี้แจงว่า ประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมไปถึงการจ่ายเงินค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานทนายความ หากเป็นจริงมีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเป็นเงินจำนวนเท่าไร สูงกว่าปกติหรือไม่

นี่คือท่าทีของอดีตประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์ ที่เสมือนบรมครูด้านกฎหมายของไทย ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับข่าวสินบนเรื่องข้อพิพาทภาษีของการนำเข้าชิ้นส่วนของรถโตโตต้าพริอุส ที่สหรัฐฯ สอบสวนว่ามีการจ่ายสินบนให้ศาลสูงของไทย

ขณะที่ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 45 ช่วงปี 2562-2563 ดูจะเดินเกมในการทำความจริงให้ปรากฏอีกแบบหนึ่ง ตามวิถีของศาลสถิตยุติธรรม 
ไสลเกษ ให้สัมภาษณ์พิเศษผมว่า ข้อกล่าวหาในคดีนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลสูงของไทย และไม่เคยปรากฏมาก่อนในกระบวนการยุติธรรมว่า จะมีบริษัทเอกชนจ้างสำนักงานกฎหมายเอกชนมาจ่ายสินบนผู้บริหารศาลในระดับสูงถึง 3 คน ซึ่งถือว่ากระเทือนต่อภาพลักษณ์ความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนและต่างประเทศ

ดังนั้น ผมจึงเสนอว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เกี่ยวพันกับผู้พิพากษาที่เกี่ยวพันเท่านั้น หากแต่สำนักงานศาลยุติธรรมต้องไปพิจารณาว่า จะมีกระบวนการอย่างไรในการพิจารณาสอบสวนเรื่องนี้ และทำความจริงออกมาให้ปรากฏ ที่สำคัญสำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องทำการเปิดเผยเกี่ยวกับคดีนี้ออกมาว่า เป็นอย่างไรให้สังคมไทยรับทราบ

ส่วนว่าใครจะร่วมพิจารณาในองค์คณะสอบสวนไม่ใช่ปัญหา สาธารณะชนแยกแยะแต่ต้องหาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ว่ามันเข้าตรงไหน ถ้าเกี่ยวพันกับใครก็สอบไปเลยไม่ต้องวิตก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันทั้งองค์กร 

นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ควรดึงเอาหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมด มาบูรณาการในการสอบสวนทางคดี เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งน่าจะช่วยในการสอบทานเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายจริงให้ใครหรือไม่ จะได้เคลียร์ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม

“ผมมองอีกมุมหนึ่งในฐานคนที่ทำงานด้านการพิจารณาตัดสินคดีความและกระบวนการยุติธรรมมาทั้งชีวิต ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน คนไหนที่เข้าไปเกี่ยวพันกับคดีแบบนี้ ล้วนเข้าข่ายที่จะต้องถูกตรวจสอบได้หมด ผมคนหนึ่งด้วย ผมยอมรับการตรวจสอบ และผมก็อยากรู้ว่าถ้าไม่มีมูลนั้นคุณทำเพราะอะไร สังคมจะได้เข้าใจ เพราะนี่คือการทำลายล้างศาลยุติธรรมไทย”

นายไสลเกษ เสนอแนวทางอีกว่า ในกระบวนการทำงานนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมสามารถขอความเห็นชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้มีอำนาจเต็มจากสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลกู้ได้ และในวิธีการทำงานก็ควรเปลี่ยนจากปกติที่ศาลจะใช้อำนาจแบบเงียบๆ ทำอะไรไปไม่ค่อยจะพูดมากในการพิจารณาคดี ปล่อยให้ผลของการพิจารณาคดีเป็นตัวอธิบายต่อสังคม แต่กรณีนี้ใช้แบบนั้นไม่ได้ ผู้คนในประเทศมีความสงสัย ตัวผมเองก็สงสัย ต่างประเทศก็สงสัย จึงต้องเปิดเผยในการทำคดีแบบนี้ให้สังคมทราบ ผมเห็นว่าคดีสาธารณะแบบนี้ เปิดเผยให้ทุกคนทราบได้ ผมเห็นว่าไม่ขัดกฏ

สำหรับเรื่องข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้น นายไสลเกษ บอกว่า ประเด็นแห่งคดีได้รับทราบจากสาธารณะ และเมื่อปรากฏเป็นข่าว แค่ได้ผ่านตามา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีความเห็นแตกต่างในการตัดสินคดีของ 2 ศาล ซึ่งบททั่วไปในคดีแพ่งให้จบที่ 2 ศาล ยกเว้นคู่ความขออนุญาตต่อศาลฎีกา อีกครั้ง ศาลฎีกาจะอนุญาตไม่อนุญาตก็มีเงื่อนไข หลักเกณฑ์บังคับไว้ เป็นหลักการชัดเจนว่าเข้าข่ายอะไรบ้าง และสาธารณะชนก็รับรู้ อาทิ เช่น

1.การพิจารณาของ 2 ศาลไม่เหมือนกัน ก็เข้าหลักเกณฑ์ 2.ความสำคัญของเรื่องที่จะต้องพิจารณาในคดีนั้น เคยมีคดีที่เป็นบรรทัดฐานการพิจารณาแล้วหรือไม่ ถ้ามีก็ตกไป ถ้าไม่มีก็ต้องนำมาพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่เคยมีบรรทัดฐาน ปมปัญหาข้อตกลงทางการค้า JTEPA ไม่เคยมีข้อตัดสินแม้เคยมีข้อพิพาทแต่ไม่เคยเข้าสู่การพิจาณาของศาลสูง

“ผมเข้าไปเกี่ยวพันในตอนนี้โดยตรง เพราะเรื่องมาที่ประธานศาลฎีกาให้สั่งจ่ายคดีในคดีภาษีอากร คดีล้มละลาย คดีทรัพย์สิน  ผมก็ใช้ดุลพินิจจ่ายคดีตามหลักเกณฑ์ หลังจากนั้นคดีนี้ก็หลุดไปจากมือผมไปสู่แผนกภาษีอากรพิจารณา ซึ่งผมจ่ายคดีนี้แหละน่าจะถูกต้อง แต่ถ้าไม่จ่ายคดีสิผมนน่าจะมีมลทินมากกว่า เพราะความแห่งการพิจารณาของศาลฎีกามันครบหลักเกณฑ์ อีกกรณีหนึ่งที่อยากให้สังคมพิจารณากันคือ ตามวัตรปฏิบัตรของระบบศาลนั้นมันเข้มมาก หากมีใครสักคนไปแอบอ้างว่าต้องสั่งผู้พิพากษาคนนี้คนนั้น เพราะคนนี้รู้จักมันไม่ได้ ผู้พิพากษาแต่ละคนจะไม่รู้จะรู้แต่เฉพาะคดีที่เราทำ ถ้าใครไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่น จะมีปัญหาในหน้าที่การงาน พวกเราในศาลจึงระมัดระวังในวัตรปฏิบัตรมาก”

ประเด็นนี้ ทางสำนักศาลสูงต้องอธิบายขั้นตอน หลักเกณฑ์การทำงานของศาล การจ่ายคดีให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งผมว่าเปิดเผยได้ เพราะนี่คือกระบวนการทำงานของศาลยุติธรรม

“ผมแปลกใจมากในคดีนี้เพราะผลกระทบแห่งคดีมันรุนแรงเกี่ยวพันกับกระบวนการพิจารณาของศาลสูงของประเทศ ศาลต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ผมสนับสนุน และจะทำหนังสือเรียกร้องไปยังศาลให้ทำเรื่องนี้ รวมถึงร้องขอให้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวพันกับการเงินการสอบสวนสืบสวนทางการเงินออกมาบ่อยเพราะเขามีอำนาจในการสืบเส้นทางการเงินผ่านบัญชี ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำความเท็จเข้าสู้กระบวนการทำลายล้าง”

นายสไลเกษ กล่าวว่า คดีนี้ถ้าดูจากช่วงเวลาแล้ว ขณะที่ บริษัทโตโยต้า(ประเทศไทย) ยื่นขออนุญาตฏีกาหลังจากแพ้คดีในศาลอุทธรณ์ อยู่ในช่วงที่ตนใกล้เกษียณจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา วันที่ 30 กันยายน 2563 คดีดังกล่าวเป็นเพียงชั้นขออนุญาตฎีกา มาออกฎีกากันช่วง มี.ค. 2564 การออกผลคำสั่งเมื่อไหร่อย่างไร ผมก็ไม่ทราบและไม่เคยอยู่ในการรับรู้

"การพิจารณาและการอนุญาตอยู่ในอำนาจของแผนก และหากได้รับอนุญาตให้ฎีกาแล้ว การพิจารณาพิพากษาก็ทำโดยแผนกภาษี คดีดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม หลังจากที่ผมเกษียณอายุไปนานแล้ว ช่วงที่มีข่าวนี้ก็อ่านจากสื่อมวลชนเท่านั้น"

นายไสลเกษ ระบุด้วยว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาทั้งสองท่านที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่เคยมาหาหรือพูดคุยเรื่องคดีนี้เลย อย่างไรก็ตาม อยากให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบและชี้แจงเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อศาลยุติธรรมทั้งระบบ

"ในเบื้องต้นต้องขอบคุณทุกคนที่ห่วงใยสถาบันศาลยุติธรรม อยากให้ดำรงความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง ใครไม่สุจริตก็สมควรถูกตรวจสอบและขจัดออกไป" 

"ไสลเกษ" วัย 64 ปี จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Arts) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษา เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในศาลยุติธรรม อาทิ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดระนอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกา

ที่ผ่านมา ระหว่างปฏิบัติหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น นายไสลเกษ เคยรับแต่งตั้งให้เป็นองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่วมพิจารณาคดีทุจริตโครงการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) , องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีสลายม็อบ พธม. เป็นต้น

“ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินและความผิดของผู้เกี่ยวพันกับคดีสินบนแบบนี้ นายไสลักษณ์ บอกว่า ไม่ยากที่จะตรวจสอบ มันมีระบบการเงิน ถ้าจ่ายสำนักงานกฎหมายก็ต้องมีเงินออก ถ้าสำนักงานกฎหมายจ่ายคนอื่นก็ต้องมีหลักฐานการจ่ายเขา บริษัทโตโยต้าก็ต้องออกมาชี้แจงว่าเงินที่จ่ายไปนั้นจ่ายไปเพื่ออะไร เส้นทางการเงินที่จ่ายออกไปไหนวิ่งเต้นจ่ายคดีให้ใคร”

สุดท้ายเมื่อถามว่า กรณีนี้ดูเหมือนจะเป็นคดีใหญ่ที่เกี่ยวพันผู้พิพากษาระดับสูงถึง 3 คน และแต่ละคนเกี่ยวพันกับคดีการติดสินใหญ่ระดับประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าคดีซุกหุ้น จำนำข้าว คดีขายหุ้นไม่เสียภาษี มีอะไรเกี่ยวพันหรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า ไม่ทราบได้ ผมเป็นผู้พิพากษาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่เกี่ยวพันทางการเมือง ไม่สันทัดเรื่องการวิเคราะห์ทางการเมือง ทำงานแต่สืบค้นความจริง ขอให้ผู้สันทัดกรณีพิจารณาเอง แต่ขอยืนยันว่าคดีนี้ใหญ่มาก และไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของการกล่าวหาประธานศาลฎีกา และกล่าวหาศาลสูง 3 ท่านที่เป็นฝ่ายบริหารในอดีต

ผมยกคำสัมภาษณ์ทั้งหมดมาให้เราพิจารณากัน เพื่อช่วยกันตรวจสอบเรื่องนี้ ที่ว่ากันว่า ถ้าไม่เคลียร์ อาจทำให้ศาลไทยล้มพังไม่เป็นท่าได้