ความช่วยเหลือจากภาครัฐ

10 พ.ค. 2564 | 01:40 น.

ความช่วยเหลือจากภาครัฐ : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากเกิดปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นที่หวู่ฮั่นประเทศจีนที่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศเมียนมาก็ไม่ได้สิทธิพิเศษยกเว้นการระบาดแต่ประการใด เจ้าตัวร้ายนี้คืบคลานเข้าสู่ประเทศเมียนมาในช่วงต้นเดือนเมษายนปี 2020 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกแรก และระบาดระลอกสองที่รุนแรงมากกว่ารอบแรก ได้เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ทำให้ภาคเศรษฐกิจในเมียนมา ต้องตกระกำลำบากมาก การค้า-การลงทุนเดี้ยงไปหมด

มิหนำซ้ำต้องมาพบกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ที่รุนแรงที่สุดนั้น ก็คือช่วงที่มีการลงสู่ถนนประท้วงอาริยะขัดขืนของกลุ่ม CDM นั่นแหละครับ เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่ เพราะทางฝากฝั่งของรัฐบาลใหม่ของเมียนมา เขาก็ไม่ยินยอมที่จะลดราวาศอกเลย จึงมีการปราบปรามที่รุนแรงเกิดขึ้น พวกเราที่ทำธุรกิจที่นั่น ก็ถูกหางเลขไปด้วยซิครับ จะเหลือเหรอ!!!!

ในช่วงหลังมาเมื่อเกิดการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นการปะทะหรืออะไรดี) การคมนาคมก็ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ภาคการเงินธนาคารพานิชย์ก็ปิดสนิท เดี้ยงโดยไม่มีกำหนด อีกทั้งการเงินก็ไม่มีสภาพคล่องเลย ยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยิ่งไม่ต้องพูดถึง หมดสภาพเลยครับ เดี้ยงอย่างกับเขียดถูกรถทับ แบนแต็ดแต๋ตายสนิท ช่วงนั้นผมได้รับโทรศัพพ์จากสมาชิกสภาธุรกิจไทย-เมียนมาได้โทรเข้ามาปรึกษาวันละสิบๆสาย ส่วนใหญ่จะถามว่าจะทำอย่างไรดี? จะต้องโอนเงินแบบไหน? จะค้าขายอย่างไรดี? จะถอนตัวดีไหม? นี่เป็นคำถามยอดฮิตจริงๆ เราเองก็ทราบดีว่าที่ให้คำแนะนำไปนั้น อาจจะเป็นแค่คำปลอบใจเท่านั้น เพื่อนๆสมาชิกเองก็อาจจะทราบเหมือนกัน แต่คงจะคิดว่ามีคนให้ระบาย คงจะสบายใจขึ้นแหละครับ

ในช่วงที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น ผมก็ได้รับเกียรติจากน้องๆ นักข่าวหลายสำนัก มาสัมภาษณ์ผมซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ข่ายหนึ่ง นักข่าวเป็นน้องรักที่ชื่อน้องหนิง หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้ว ก็ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน ผมก็ได้เล่าถึงปัญหาที่พี่น้องผู้ประกอบการไทยในเมียนมาให้ฟัง ต่อมาน้องหนิงได้มีโอกาสพบกับท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีท่านหนึ่ง จึงได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ผมเล่าให้กับท่านไป กระทั่งช่วงปลายเดือนมีนาคม ผมได้รับการเชิญให้ไปร่วมประชุมกับทางกระทรวงพาณิชย์ เพราะท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร เข้ามาดูแลการค้าชายแดน ที่กำลังมีปัญหาการส่งออกเข้าไปในประเทศเมียนมา ทำให้ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องการทราบข้อเท็จจริง จึงเชิญภาคเอกชนเข้าไปร่วมประชุมเพื่อสอบถาม  

ในการประชุมวันนั้น ผมจึงนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นรายงานในที่ประชุม และร้องขอให้ท่านปลัดฯช่วยเหลือ 3 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ซอฟท์โลนเพื่อมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการที่ไม่ใช่รายใหญ่เกือบทุกราย ล้วนมีปัญหากันทั้งนั้น  2. ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องยกเว้นภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลสำหรับปี 2563-2564 และช่วยเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดค้างที่กรมสรรพากรให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 3. การผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมายการนำเงินเข้าประเทศเฉพาะชายแดนที่มีการค้าชายแดนอยู่สำหรับช่วงเวลาวิกฤตินี้ เพราะภาคธนาคารเอกชน ในประเทศเมียนมาไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ การโอนเงินออกมานอกประเทศจึงทำได้ยากลำบากมาก  ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากกระทรวงพาณิชย์ในการนำไปพิจจารณาดำเนินการต่อไป

หลังจากการกราประชุมเสร็จสิ้นไปในวันนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้รีบเร่งดำเนินการต่อ และมีการเรียกประชุมกับทางภาคเอกชนอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ฯพณฯท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ได้กรุณากำกับดูแลโดยผ่านท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ และท่านผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ท่านภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เข้ามาเร่งรัดให้มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และได้มีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “การสนับสนุนผู้ประกอบการการค้าชายแดนไทย-เมียนมา” ขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการว่า การจะขอรับความช่วยเหลือได้อย่างไร? และจะยื่นเรื่องไปที่ไหน? โดยมีวิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก มาให้ความรู้และความกระจ่าง ซึ่งในการสัมมนาดังกล่าว ได้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดร้อยกว่าราย 

สำหรับรายละเอียดในการสัมมนาในวันนั้น ผมคงจะไม่ต้องอธิบายซ้ำนะครับ เพราะสื่อมวลชนหลายสำนัก คงจะมีการรายงานข่าวไปบ้างแล้ว เพียงแต่จะขอนำเอาข้อกังวลใจของผู้ประกอบการที่ผมได้รับการติดต่อเข้ามา หลังการสัมมนาจบสิ้นแล้ว คือหลายๆ ท่านที่เคยมีประสบการณ์ยื่นเรื่องขอสินเชื่อไปที่ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกมาแล้ว ปรากฏว่าการอนุมัติต้องมีเงื่อนไขมากมาย ทำให้ไม่ผ่านการอนุมัติ ครั้งนี้ทางผู้ประกอบการหลายราย ก็เกรงว่าจะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในครั้งนี้ ผมก็ได้แต่บอกไปว่า ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งคิดว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับการช่วยเหลือ ขอให้ยื่นเรื่องขอเข้าไปก่อน ส่วนในการพิจารณา เป็นหน้าที่ของธนาคารเป็นผู้ตัดสิน และครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะวงเงินซอฟท์โลนกองนี้ รัฐบาลได้นำมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เราจึงควรจะต้องรีบยื่นเรื่องขออนุมัติโดยด่วน

นี่คือช่องทางที่จะนำพาให้ธุรกิจของท่านที่กำลังประสบปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ รัฐบาลได้ยื่นมือเข้ามาช่วยท่านแล้ว ท่านก็ควรจะต้องยื่นมือไปรับการช่วยเหลือ อย่ารอให้เขาดึงมือกลับ แล้วค่อยมาบ่นว่าเสียดายนะครับ