จับตาผลการประชุมผู้นำอาเซียน

25 เม.ย. 2564 | 23:10 น.

จับตาผลการประชุมผู้นำอาเซียน : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในวันเสาร์ที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เราคงจะทราบผลการประชุมผู้นำอาเซียนที่ทางรัฐบาลอินโดนีเชียได้จัดขึ้นที่กรุงจากาตาเรียบร้อยไปแล้ว ผมเชื่อว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาปัญหาในประเทศเมียนมา มาขึ้นบนโต๊ะอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้เราเองก็พยายามเมียงมองดูว่า เมียนมาจะเดินไปในทิศทางไหน  อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งเหล่านี้เป็นการคาดเดาที่ผมเองว่านี่คือบททดสอบครั้งสำคัญของรัฐบาลใหม่ของเมียนมาครับ

ผมต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้ฝักใฝ่เผด็จการนะครับ ที่ผมวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ก็สุ่มเสี่ยงมากๆ อยู่แล้ว เพราะฉนั้นท่านที่เป็นผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ท่านไม่ต้องส่งรถทัวร์มาลงนะครับ เอาเป็นว่าอ่านจากมุมมองของคนไทยคนหนึ่งที่ทำมาหากินที่นั่นมานาน ส่วนท่านแฟนคลับที่เป็นชาวเมียนมา ท่านก็คิดเสียว่าผมส่งสารมาบอกให้ท่านเตรียมตัวที่จะดำเนินธุรกิจต่อหลังจากเหตุการณ์สงบก็แล้วกันนะครับ

การตอบรับคำเชิญเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียนของท่านนายพล อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นการเดินหมากเกมส์ที่เหนือชั้นมากๆ เพราะเป็นการเดินเกมส์ในการสร้างเวทีให้แก่รัฐบาลใหม่ของประเทศเมียนมาที่สวยงามมาก เพราะจะทำให้ผู้คนที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเลยครับ ในเมื่อสมาชิกประเทศอาเชี่ยนเชิญท่านมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ มาในฐานะอะไร? คงไม่ใช่มาในฐานะผู้สังเกตุการณ์นะครับ ท่านมาในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายนก็ได้เสร็จสิ้นและผ่านไปได้ด้วยดี ผมรอรับฟังผลการประชุม จนกระทั้งหัวค่ำ ก็มีฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตท่านหนึ่ง ได้ส่งข่าวมาให้ ต้องกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ถ้าเราได้อ่านฉันทามติที่ทางที่ประชุมเขาตกลงกันไว้จากบันทึกการประชุมอย่างไม่เอนเอียง หรือไม่เอาความรู้สึกอคติใดๆมาเกี่ยวข้อง แล้วแปลตามตัวอักษรแล้ว เราจะทราบว่า ห้าข้อของฉันทามติที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ทั้งหมด 5 ประการมีดังต่อไปนี้  ประการที่ 1 ต้องยุติความรุนแรงในประเทศเมียนมาและทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ ประการที่ 2 การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มต้นที่จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน  

ประการที่ 3 ทูตพิเศษของประธานอาเชี่ยนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ย กระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของท่านเลขาธิการอาเชี่ยน. ประการที่ 4 อาเชี่ยนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ AHA (ศูนย์ช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอาเชี่ยน) ประการที่ 5 ทูตพิเศษและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่อ่านฉันทามติแล้ว เชื่อว่าหลายๆ ท่านจะต้องคิดต่อไปอีกว่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ไป ส่วนตัวผมคิดในแง่บวกนะครับว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพในประเทศเมียนมา ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นชาวต่างชาติและชาวเมียนมาเอง หากสามารถดำเนินการได้ดี หรือค่อยๆหาบันไดให้ทุกฝ่ายได้ไต่ลง เพราะหากปล่อยไปยาวนาน ไม่เพียงแต่ประชาชนชาวเมียนมาที่เสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ผู้ประกอบการต่างชาติอย่างพวกเราที่เป็นชาวไทยหรือชาติอื่นๆที่เข้าไปทำธุรกิจในนั้น ก็ต้องเจ็บตัวไปด้วย และผมก็เชื่อว่า ทุกๆฝ่ายในประเทศเมียนมา ไม่ว่า ทั้งฝ่าย SAC, CDM, NLD, RCSH, ที่กำลังอยู่บนเวทีการแสดงอยู่ในขณะนี้ คงจะมองออกว่านี่คือโอกาสดี ที่จะได้ไต่เพดานบินลงอย่างนุ่มนวลที่สุดของเครื่องบินลำนี้ หากพลาดโอกาสเช่นนี้ไป ผมก็ไม่อยากจะคิดต่อเลยนะครับว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีก 

สิ่งที่พวกเราชาวผู้ประกอบการที่จะต้องเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ก็คือต้องจับตาดูสองเดือนต่อจากนี้ไป ถ้าเป็นไปตามที่ประชุมผู้นำอาเชี่ยนลงฉันทามติไว้ เราคงจะได้กลับเข้าไปทำการค้า-การลงทุนในประเทศเมียนมาอีกครั้งแน่นอนครับ ดังนั้นตอนนี้เราต้องเตรียมตัวทั้งเงินทุน (ที่หมดไปเยอะมากจนเกลี้ยงกระเป๋าแล้ว) สินค้าและบริการไว้ให้ดีนะครับ ผมเชื่อว่าตลาดเมียนมาได้อั้นไว้มาปีกว่าแล้ว พอเปิดศักราชใหม่ออกมาอีกครั้ง ความต้องการบริโภคที่อั้นไว้ จะระเบิดออกมาอย่างแน่นอนครับ