ทำไมเวียดนาม ‘โตก้าวกระโดด’

14 เม.ย. 2564 | 21:20 น.

คอลัมน์รู้ลึกอาเซียนพลัส  โดย  รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,670 หน้า 5 วันที่ 15 - 17 เมษายน 2564

 

นับตั้งแต่เวียดนามมีนโยบาย “ดอย เหม่ย (Doi Moi)” ในปี 1986 ที่เป็นนโยบายในการปฎิรูปเศรษฐกิจเปิดประเทศสู่ตลาดโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน ทำให้เวียดนามมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยปี 1986-2015 มีอัตราการขยายตัว GDP เฉลี่ยปีละ 7% และหลังปี 2015 ถึง 2020 เฉลี่ยโตปีละ 6% รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีเพิ่มจาก 100 เหรียญในปี 1990 เพิ่มเป็น 3,498 เหรียญ (2020) ถือได้ว่าเป็นประเทศมีประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างมาก

เวียดนามยังมีเป้าหมายการเป็นประเทศอุตสาหกรรมและ “รายได้ปานกลางระดับสูง (High middle Income Country)” ในปี 2035  (ครบ 90 ปีประกาศอิสระภาพ 60 ปีหลังจบสงครามเวียดนาม 49 ปีหลังปฎิรูปเศรษฐกิจ) ซึ่งถือได้ว่าเป็น “เป้าหมายที่ท้าทาย” (ธนาคาร โลกให้คำจำกัดความประเทศที่มีรายได้สูง ต้องมีรายได้มากกว่า 12,535 เหรียญต่อคนต่อปี) เวียดนามตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ต่อหัวต่อปี 15,000 ถึง 22,000 ต่อคนต่อปี ถ้า GDP โต 8% ทำให้มีรายได้ 22,000 เหรียญ (รายงานเวียดนามวิเคราะห์ว่า CPTPP จะทำให้โต 8%) ถ้าโต 7% ทำให้มีรายได้ 18,000 เหรียญ และถ้าโต 6% จะมีรายได้ 15,000 เหรียญ (ใกล้เคียงประเทศตะวันออกกลาง และยุโรปบางประเทศ เช่น โปรตุเกส โปแลนด์) และจากการคาดการณ์ของ “Focuseconomics” โดยนาย Oliver Reynolds (February 16, 2021) ได้รายงานว่าประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงใน 5 ปีข้างหน้า (2021-2025) คือ อินเดีย (7.2%) บังคลาเทศ (6.9%) Rwanda (6.7%) และเวียดนาม (6.7%) ขณะที่ “World Bank” รายงานเศรษฐกิจในปี 2021 เวียดนามมีอัตราขยายตัว GDP สูงสุดในอาเซียน  6.7% และสูงเป็นอันดับสองของเอเซียตามหลังจีน (7.9%)

 

ทำไมเวียดนาม ‘โตก้าวกระโดด’

 

“ผมให้ 12 ปัจจัย” ที่ทำให้เวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจก้าวกระโดดดังนี้

1. ประเมินแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ปีนี้เป็นปีที่เวียดนามใช้แผนฯ 11 (2021-2025) ซึ่งก่อนที่จะมีการใช้แผนฯ ในแต่ละช่วงเวลา เวียดนามให้รัฐมนตรี หน่วยงานรัฐบาลกลางและท้องทิ่นร่วมกันประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของแผนทุกครั้ง ทำให้เห็นจุดอ่อนของแผนฯ ที่ผ่านมา

2. ศักยภาพของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น (วัดจากรายได้ต่อแรงงาน 1 คน) Donghun Kim & KinChung Woon (2020) ได้วิเคราะห์ 3 ช่วงเวลาระหว่างปี 1991-2000, 2001-2010 และ 2011-2018 พบว่าอัตราการขยายตัวศักยภาพแรงงาน เวียดนาม สูงที่สุดในอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 1971-2018 อัตราขยายตัวของแรงงานเวียดนามตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน เพราะว่าก่อนปี 1991 นั้นเวียดนามเพิ่งเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

3. กำลังแรงงานมีมากพอ เวียดนามมีประชากร 97 ล้านคน (2020) มีกำลังแรงงาน 53 ล้านคน ซึ่งมากพอที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับ FDI จากต่างประเทศ อยู่ที่ภาคเกษตร 20 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรม 10 ล้านคน และเหลืออยู่ในภาคบริการ

4. ค่าจ้างถูก เมื่อเปรียบเทียบในประเทศอาเซียนเก่าเวียดนามมีค่าจ้างต่อเดือนตํ่ากว่า แต่สูงกว่ากลุ่มประเทศ CLMV (2021)

5. FDI โตก้าวกระโดด มูลค่า FDI ได้แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพราะการเมืองนิ่ง นโยบายต่อเนื่อง ตลาดภายในประเทศใหญ่ และคุณภาพของแรงงาน (Mirza and Giroud, 2004)

6. รัฐวิสาหกิจเวียดนาม เป็นพลัง หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะสามารถสร้าง GDP ได้ถึง 28% รายงานของ OECD (2017) จำนวนรัฐวิสาหกิจเวียดนามมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรมจำนวน 2,400 แห่ง และสามารถจ้างงานได้ 1 ล้านคน

7. นโยบายต่อเนื่อง การเมืองในเวียดนามมีความต่อเนื่องทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่ลังเลที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง

8. จำนวน FTA ของเวียดนามรวมทุกฉบับที่กำลังเจรจา มีจำนวนมากกว่าประเทศ ไทย โดยเฉพาะ CPTPP และ EVFTA

9. เขตอุตสาหกรรมมากสุดในอาเซียน เวียดนามมีเขตอุตสาหกรรมมากที่สุดในอาเซียน ปี 2563 มีจำนวนมากถึง 500 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ และที่เหลือตั้งอยู่ในภาคเหนือ และภาคกลาง เมียนมาร์มี 37 แห่ง อินโดนีเซีย 66 แห่ง กัมพูชา 25 แห่ง ลาว 8 แห่ง และไทยมีจำนวน 70 แห่ง

 

10. โครงสร้างพื้นฐานพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถนน ท่าเรือ อินเตอร์เน็ต มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น Ho Chi Minh City metro line เริ่มให้บริการปี 2022 (เริ่มสร้างเมื่อปี 2001) สายแรกตลาดเบนทัน (Ben Thanh Market) ไป Suoi Tien theme park ระยะทาง 19.7 กม. มี 14 สถานี (3 สถานีใต้ดิน) และ 11 บนดินและลอยฟ้า ในขณะที่รถไฟความเร็ว 200-350 กม.ต่อชม. เชื่อมภาคเหนือและภาคใต้ เริ่มสร้างปี 2020 ส่วนท่าเรือเวียดนามมีทั้งหมด 44 ท่าเรือ แบ่งตามเหนือ กลาง และใต้ จากรายงานของ ASEAN Information Center รายงานว่า “Mobile Internet Speed” ในอาเซียน เวียดนามเป็นอันดับที่สอง รองจากสิงคโปร์ ตามด้วยประเทศไทย

11. เวียดนามปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นักลงทุนต่างชาติทั้งเครื่องหมายการค้าอุตสาหกรรม การออกแบบ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้อมูล และพันธุ์พืช รวมไปถึงลิขสิทธิ์ดนตรี ศิลปะและแกะสลัก (ปัจจัยหลักมาจาก EVFTA)

12. นโยบาย “China+1” โดยใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเพราะต้นทุนในการผลิตถูกกว่าและเป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมจีน บริษัท Foxconn ที่ผลิต Iphone ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาตั้งที่จังหวัด Bac Giang ห่างจากฮานอย 50 กม.