มารยาททางการเมือง กับผลประโยชน์ชาติ

23 ก.พ. 2564 | 10:28 น.

มารยาททางการเมือง กับผลประโยชน์ชาติ : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3656 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี หรือ สงครามน้ำลายทางการเมืองในสภาฯจบลง แต่ผลของการโหวตลงคะแนนก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ขึ้นแบบชุลมุนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ว่า 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ของพรรคประชารัฐ ตัดสินใจโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ดี หรือกรณี 3 ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ โหวตไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคของตนเองก็ดี รวมถึงกรณี 4 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน จากพรรคก้าวไกล หันมาโหวตให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ผสมโรงด้วยพรรคเล็กและ ส.ส.ฝ่ายค้าน เลือกงดออกเสียงบ้าง หรือโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีบางท่าน เช่น 3 ส.ส.พรรคเพื่อชาติ โหวตไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จนเสียงโดดเหนือกว่ารัฐมนตรีอื่นๆ ทำให้เห็นการโหวตลงคะแนน โดยมิได้ยึดถือตามมติพรรคหรือ โดยมิได้ยึดถือเอาหลักความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ชนิดลงเรือลำเดียวกัน จะชั่วดีอย่างไรก็ต้องโหวตให้พวกเดียวกัน การโหวตลงคะแนนในสภาฯ ครั้งนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์ความเป็นอิสระของ ส.ส.อยู่เหนือมติพรรค อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในการเมืองไทย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีประเด็นถกเถียงถามหาเรื่อง "มารยาททางการเมือง" สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล และถามหาการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ที่มิได้โหวตตามแนวทางพรรคว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องและโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่  

แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า กฎกติกามารยาททางการเมืองคืออะไร มีผลบังคับต่อการทำหน้าที่ ส.ส.หรือไม่ ใครเป็นผู้กำหนดกฎหรือกติกามารยาทเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ประมวลจริยธรรมของ ส.ส.ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องนี้ คงจับความหมายจากผู้พูด หรือพรรคที่กล่าวอ้างเรื่องนี้ได้เพียงว่า การมีมารยาททางการเมือง หมายถึงการทำตามมติพรรค หรือตามมติพรรคร่วมรัฐบาล แม้การกระทำนั้น หรือการลงมติเช่นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติก็ตาม

เมื่อเกิดกรณีการโหวตลงคะแนนของ ส.ส.ในสภาฯ เพื่อประโยชน์ประเทศชาติ แต่ไม่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีพรรคนั้นๆ จึงมักจะงัดเอาคำว่ามารยาททางการเมืองมาใช้ปกป้องตนเอง ตีโพยตีพายหาทางเล่นงาน ส.ส.ที่โหวตลงคะแนนโดยยึดผลประโยชน์ชาติ หรือแม้กระทั่งหาทางเล่นงานโดยงัดเอาข้อบังคับพรรคมาบังคับใช้ เพื่อจะกดดันกดหัวให้ ส.ส.หลับหูหลับตาโหวตตามที่พรรคมีมติ แม้จะขัดต่อจิตวิญญาณและสำนึกรับผิดชอบของ ส.ส.ที่ดีก็ตาม

กรณีที่การเมืองไทยในอดีต ที่พรรคการเมืองมักบีบบังคับให้ ส.ส.โหวตตามมติพรรค โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ ทำลายความเป็นอิสระของผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือบังคับ ส.ส.ในพรรคด้วยอิทธิพลของอำนาจหัวหน้าพรรค หรืออำนาจเงินกับผลประโยชน์ที่ตนหยิบยื่นให้ลูกพรรค ให้กระทำการใดๆ ตามที่พรรคสั่ง ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยล้าหลัง เมื่อจะมีการปฏิรูปการเมืองไทยเสียใหม่ ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีบทบัญญัติเพื่อรับรองสถานะและการทำหน้าที่ของ ส.ส.ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยบัญัติไว้ดังนี้

มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์  

และก่อนเข้ารับหน้าที่ ต้องปฏิญาณตนตามมาตรา 115 ว่า "ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาและปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันในการทำหน้าที่ของ ส.ส.ให้เป็นไปโดยอิสระปราศจากการครอบงำใดๆ ที่มิชอบ

ส่วนกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ก็แต่เฉพาะมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101 เท่านั้น นอกจากนี้แล้วในข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ก็มีกำหนดไว้ในข้อ 8.รับรองการทำหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีบทบัญญัติใดๆ เกี่ยวกับเรื่องมารยาททางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ มารยาททางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริงในทางการเมือง สุดแท้แต่พรรคการเมืองใด จะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ตนเท่านั้น มิได้เป็นประเพณี หรือแนวทางปฏิบัติโดยเคร่งครัดหรือเป็นความผิดแต่อย่างใด  

การที่พรรคการเมืองใดจะงัดเอาข้อบังคับหรือระเบียบพรรคมาเล่นงาน หรือลงโทษ ส.ส.ที่ทำหน้าที่โดยอิสระตามรัฐธรรมนูญ จึงมิอาจกระทำได้ นอกจากตำหนิติเตียน หรือต่อว่าด้วยความไม่พอใจเท่านั้น ไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย หรือ ต่อสถานะการทำหน้าที่ของ ส.ส.ท่านนั้นๆ แต่อย่างใด ตรงกันข้าม การทำหน้าที่ของ ส.ส.ผู้แทนของปวงชนชาวไทย ที่ทำหน้าที่โหวต หรือลงมติในเรื่องใดๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และกล้าหาญ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน จึงสมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญมากกว่าที่จะถูกพิจารณาหาเรื่องลงโทษ

เพราะผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน ย่อมอยู่เหนือมารยาททางการเมือง นักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหลาย จึงควรเลิกกล่าวอ้างเรื่องมารยาททางการเมืองที่เลวร้าย ที่ทำลายประโยชน์ชาติเหล่านั้นเสีย จะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองยิ่งกว่าการตีโพยตีพายเล่นงานผู้อื่น และปกปิดการกระทำผิดของตน