อาหารกลางวันนักเรียนโชยกลิ่น

12 ก.พ. 2564 | 02:59 น.

ช่วงนี้ดูเหมือนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” กลับมาเป็นตำบลกระสุนตกอีกรอบ

โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน อาจจะไม่ได้รับเสียงโหวตไว้วางใจจาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางส่วน จนนำไปสู่การปรับ ครม.

ล่าสุดในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างการพิจารณาวาระเรื่องการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีเรื่องอื้ออึงเกิดขึ้นอีกคำรบหนึ่ง

เรื่องของเรื่อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ครม.เพิ่มงบค่าอาหารกลางวันของนักเรียน จาก 24,580.427 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 เป็น 29,836.927 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้น 5,256.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.38% โดยให้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนทุกคน ตั้งแต่เด็กเล็ก-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากอัตรา 20 บาท/คน/วัน เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 

แต่ที่กลายเป็นเรื่องอื้ออึง เพราะมีการตรวจสอบพบว่าข้อเสนอที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอมานั้นมี 3 ประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

ประเด็นแรกคือ การปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ มีการนำดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2556-2562 ที่ 9.72% มา เป็นเกณฑ์ ในการคำนวณ จากนั้นก็ไปปรับลดลดค่าบริหารจัดการในการประกอบอาหารกลางวัน จาก 4.50 บาท เป็น 2.50 บาท หรือลดลง 2 บาท

 

อาหารกลางวันนักเรียนโชยกลิ่น

 

ถึงตรงนี้หลายคนอาจมองว่าก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะทำให้งบประมาณของรัฐที่ใช้ลดลง แต่ข้อเท็จจริงคือ กระทรวงศึกษาธิการได้นำค่าบริหารจัดการที่ปรับลดได้ 2 บาทดังกล่าว เข้าไปบวกเพิ่มในสัดส่วนของค่าวัตถุดิบประกอบอาหาร จากเดิม 15.50 บาท เป็น 17.50 บาท เพิ่มขึ้น 13% 

แต่ครม.เห็นว่าควรปรับเพิ่มสัดส่วนของค่าวัตถุดิบประกอบอาหารเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท รวม 18.50 บาท เพิ่มขึ้น 19.35% จากฐานเดิม 15.50 บาท

ประเด็นที่สอง คือ การขอเพิ่มงบประมาณ สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครั้งนี้ คำนวณภายใต้ จำนวนโรงเรียนในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 51,637 โรง(ปี 2564 จำนวน 50,204) ขณะที่จำนวนนักเรียน 6,147,469 คน(ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 5,967,554 คน)

แต่สำนักงบประมาณ ได้สืบค้นข้อมูลเชิงลึกกลับพบว่า ข้อมูลจำนวนโรงเรียนและนักเรียนรับจริงในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีจำนวนโรงเรียน 49,861 โรง จำนวนนักเรียน 5,894,420 คน โดยเด็กนักเรียนลดจากปี 2564 จำนวน 73,134 คน

ประเด็นที่ 3 กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้ปรับอัตราการจ่ายต่อหัว และเพิ่มค่ารายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนค่า อาหารสูงกว่าโรงเรียนทั่วไป จากเดิมที่จะมีอัตราการจ่ายต่อหัวที่ 20 บาทอัตราเดียวในโรงเรียนทุกขนาด ดังนี้

  • โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-40 คน อัตราการจ่ายต่อหัว 36 บาท
  • โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-100 อัตราการจ่ายต่อหัว 27 บาท
  • โรงเรียนที่มีนักเรียน 101-300 อัตราการจ่ายต่อหัว 24 บาท
  • โรงเรียนที่มีนักเรียน  301 ขึ้นไป อัตราการจ่ายต่อหัว 21 บาท

แต่สำนักงบประมาณดีดลูกคิดแล้วเห็นว่าอัตราการจ่ายต่อหัวที่เหมาะสมควรเฉลี่ยควรอยู่ที่ 21 บาท โดยมีอัตราการจ่ายดังนี้ 

  • โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-100 คน อัตราการจ่ายต่อหัว 23 บาท
  • โรงเรียนที่มีนักเรียน 101 ขึ้นไป อัตราการจ่ายต่อหัว 20 บาท

เมื่อครม.พิจารณารายละเอียดและข้อสังเกตทั้งหมดแล้ว ก็ให้ปรับลดงบประมาณค่าอาหารกลางวันของนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการเสนอลงจำนวน 4,400.623 ล้านบาท จาก 29,836.927 ล้านบาท ลงเหลือ 25,436.304 ล้านบาท

แบ่งเป็น เป็นอุดหนุนให้ อปท. 23,561.921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 823.6 ล้านบาท  และเป็นส่วนที่ต้องจัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการ นำไปจัดสรรให้นักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 1,874.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 32.26 ล้านบาท

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า อาหารกลางวันนักเรียน โชยกลิ่นอย่างไร

ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,653 หน้า 10 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ 2564