10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (1)

11 ก.พ. 2564 | 02:00 น.

คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,652 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2564

 

วันก่อนผมเห็นข้อมูลการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจใหญ่ของจีน แต่ก็พบว่า การจัดอันดับทางเศรษฐกิจดังกล่าว พิจารณาจากมิติด้านการปกครองที่รัฐบาลจีนนับเอามณฑล มหานคร และเขตปกครองตนเองให้มีสถานะเท่าเทียมกัน เราจึงเห็นมหานครซึ่งเป็นเสมือนเมืองใหญ่แห่งหนึ่งถูกนับไปเปรียบเทียบกับของมณฑลและเขตปกครองตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์และประกอบด้วยหลายเมืองย่อยในการจัดอันดับดังกล่าว 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า การแบ่งเขตการปกครองของจีนนับแต่สถาปนาประเทศเมื่อ 1 ตุลาคม 1949 จำแนกออกเป็น 

• 23 มณฑล (รวมไต้หวัน)  

• 5 มหานคร เมืองเศรษฐกิจใหญ่ของจีน อันได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง รวมทั้งฉงชิ่งในเวลาต่อมา

• 5 เขตปกครองตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มองโกเลียใน ซินเจียง ทิเบต หนิงเซียะ และกวางสี

ในทางปฏิบัติ มณฑลและเขตปกครองตนเองดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง ขณะที่มหานครได้รับอิสระในการบริหารจัดการภายในที่ค่อนข้างสูงจากส่วนกลาง

แต่ประเด็นในวันนี้เกิดจากข้อสงสัยของผมว่า หากเปรียบเทียบในด้านเศรษฐกิจล่ะ เมืองไหนในจีนมีขนาดใหญ่สุด 10 อันดับแรกในปี 2020... 

ในจำนวน 10 เมืองใหญ่ดังกล่าว มหานครทั้ง 5 ติดอยู่ลิสต์ทั้งหมด และหากเปรียบเทียบในช่วงปี 2000-2020 ซึ่งถือเป็นช่วงพุ่งทะยานของเศรษฐกิจจีน ก็พบว่า เมืองหลักของจีนในปัจจุบันเติบโตแรงในระดับมากกว่า 10 เท่าตัวแทบทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงฮ่องกง โดยในจำนวนนี้ มีถึง 7 เมืองที่เศรษฐกิจเติบใหญ่ในอัตราที่สูงกว่าค่า เฉลี่ยการเติบโตโดยรวมของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ราว 12 เท่าตัว

ในช่วง 20 ปีดังกล่าว เศรษฐกิจจีนทำสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวจาก 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเกือบ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 

การเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวทำให้จีนก้าวเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกนับแต่ปี 2010 และมีบทบาทในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2000 จีดีพีจีนใหญ่กว่าอาเซียนราว 2 เท่าตัว และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 เท่าในปี 2020

อย่ากระนั้นเลย ผมขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก 10 เมืองใหญ่ของจีนในปี 2020 กันดีกว่าครับ...  

10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (1)

 

อันดับ 10 หังโจว เป็นเมืองเอกและเมืองเศรษฐกิจสำคัญสุดของมณฑลเจ้อเจียง มีประชากรราว 8 ล้านคน ตั้งอยู่ ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่นํ้าแยงซีเกียง และมีรายได้เฉลี่ยตัวหัวสูง 

เมืองนี้มีอุตสาหกรรมหลักเดิม อาทิ ผ้าผืน ผ้าไหม เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและยา  ขณะที่นอกเมืองก็เป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่มีผลิตผลดีและมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ การเลี้ยงหม่อนไหม และใบชาหลงจิ่ง

ในยุคสมัยใหม่ หังโจวโด่งดังในด้านอุตสาหกรรมไฮเทค โดยมีกิจการข้ามชาติของจีนและต่างชาติหลายพันรายเข้าไปลงทุนในพื้นที่ อาลีบาบากรุ๊ป แอ๊นท์กรุ๊ป และอีกหลายบริษัทของแจ็ก หม่า มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองนี้

นอกจากนี้ หังโจวยังมีสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำ อาทิ ทะเลสาบซีหู วัดหลิงหยิน ที่นอนจี้กง และศาลเจ้างักฮุย หรือศาลเจ้า “แม่ทัพเยว่เฟย” ในภาษาจีนกลาง โดยมีนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนต่อปี 

หังโจวเป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 4,700 ปีและเป็นหนึ่งใน 6 ราชธานีโบราณของจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ จึงเต็มไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ รวมทั้งนักปราชญ์จีน ทำให้เป็นแหล่งนวนิยาย อาทิ นางพญางูขาว และ บทกวีมากมาย อาทิ “ไซซีสวยทุกอริยาบท ซีหูสวยทุกฤดูกาล”

 

ด้วยเสน่ห์ดังกล่าวทำให้หังโจวได้รับสมญานามมากมายในหมู่คนจีน อาทิ “เมืองหญิงงาม” ที่สาวสวยมากมายถูกคัดไปถวายแด่ฮ่องเต้ในอดีต และ “เมืองสวรรค์บนดินแดนมนุษย์” เพราะมีดินดี นํ้าสะอาด อากาศเยี่ยม และความสวยงามของทัศนียภาพ

หังโจวยังจัดได้ว่าเป็นเมืองน่าอยู่ ดังคำกล่าวโบราณของจีนที่ว่า ชีวิตจะเปี่ยมสุขหากได้ “เกิดที่ซูโจว อาศัยใน หังโจว ดื่มกินที่กวางโจว และตายที่หลิ่วโจว” ขณะที่มาร์โคโปโลก็เคยยกย่องหังโจวว่าเป็นเมืองที่รุ่งเรืองและงดงามที่สุดในโลก เพราะทุกแห่งหนจะเต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิดที่เขียวชอุ่ม บนยอดเขาก็นิยมปลูกชา 

ในปี 2022 หังโจวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งจะมี ส่วนช่วยให้เมืองเป็นที่รู้จักในวงกว้างและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก  

 

อันดับ 9 อู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย มีประชากรรวมกว่า 11 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในตอนกลางของจีน หากเทียบกับของไทย จีดีพีของอู่ฮั่นก็ใหญ่ถึงราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยโดยรวม

อู่ฮั่นเป็นที่รู้จักของชาวโลกเมื่อกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อันที่จริงแล้ว อู่ฮั่นเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ มีสถาปัตยกรรมและวัดวาอารามที่มีลักษณะเฉพาะ “ยุทธการผาแดง” สมรภูมิสงครามอันยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของนวนิยายสามก๊กก็ตั้งอยู่ในเมืองนี้นี่เอง

อู่ฮั่นมียุทธภูมิที่ดีในตอนกลางของจีน จึงเป็นเสมือน “ชุมทาง” ที่เชื่อมพื้นที่ระหว่างเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก หากเราต้องการขับรถจากเฉิงตูหรือฉงชิ่งในด้านซีกตะวันตกไปเซี่ยงไฮ้ในด้านซีกตะวันออกของจีน อู่ฮั่นก็จะเหมาะมากสำหรับแวะพักค้างคืนหลัง การเดินทางราว 800-900 กิโลเมตร

 

อู่ฮั่นเป็นฐานอุตสาหกรรมสำคัญของจีน โดยเฉพาะเหล็ก ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางการทหาร และเปี่ยมไปด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

กิจการขนาดเล็กและใหญ่ของจีนต่างใช้เมืองนี้เป็นฐานการผลิตสำคัญของตนเอง ตงเฟิง ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ และเลอโนโว ก็สร้างโรงงานผลิตใหญ่สุดไว้ที่เมืองนี้ รวมทั้งเทนเซ้นต์ กิจการสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่

ขณะเดียวกัน กิจการข้ามชาติต่างก็หลั่งไหลเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นรัฐบาลของประเทศเหล่านี้เข้าไปเปิดสถานกงสุลใหญ่ประจำเมืองนี้ขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์และประชาชนของตนเองในพื้นที่

ในบรรดากิจการขนาดใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก กว่า 300 บริษัทเข้าไปลงทุนกันแล้วในปัจจุบัน อาทิ ไมโครซอฟท์ เอ็สเอพี จีเอ็ม เปอร์โยต์ เรต์โนลท์ ซีตรอง และฮอนด้า ทำให้ฐานการผลิตของอู่ฮั่นพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนได้รับสมญานามมากมาย อาทิ เมืองไฮเทค และเมืองแห่งยานยนต์

การพัฒนาของเมืองอู่ฮั่นยังก้าวเดินไปอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะด้านดิจิตัล และจีนตั้งเป้าที่จะให้อู่ฮั่นเป็นหนึ่งในเมืองอัจฉริยะต้นแบบในอนาคต