‘อยู่ยาก’ คดีบอสจอดสนิท กระทิงขวิดปธ.สอบ‘เนตร’ ไส้แตก

02 ธ.ค. 2563 | 06:00 น.

‘อยู่ยาก’ คดีบอสจอดสนิท กระทิงขวิดปธ.สอบ‘เนตร’ ไส้แตก : คอลัมน์ห้ามเขียน หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดย...พรานบุญ

 

          “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” อมตะข้อคิดของ “มงแต็สกีเยอ” นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีผลงานโด่งดังเรื่อง “The Spirits of the Laws” ยังใช้ได้กับสังคมปัจจุบัน

          นังบ่างตีอกชกหน้าร้องว่า แทบไม่น่าเชื่อว่า คดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนดาบตำรวจตายขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงถึงการสั่งไม่ฟ้องคดีของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างน้อย 3 คณะ จนบัดป่านนี้ยังไปไม่ถึงไหน

          คณะแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรวม 10 คน ได้แก่ 1. นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายสภาทนายความ 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ 10.ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

          อำนาจหน้าที่ คือตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใด โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว โดยมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการฯได้

          ขีดเส้นกำหนดเวลาว่า ต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยให้คณะกรรมการฯรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 10 วัน บัดนี้คณะกรรมการชุดนายวิชา เสนอผลการสอบเสณ้จสิ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการกลับไปไม่ถึงไหน

          ชุดที่สอง อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีรวม 7 ราย ได้แก่ 1.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รอง อสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2.นายสิงห์ชัย ทนินช้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา 3.นายชาติพงศ์ วีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 4.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5.นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน 6.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และ 7.นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

          มอบอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบว่า การพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าว เป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร และให้มีอำนาจหน้าที่เรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการให้เร็วที่สุด มีการดำเนินการสอบสวนกัน 7 วัน ผลปรากฏว่าไม่ผิด

          ชุดที่สาม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ รวม 10 ราย แต่มีการเปิดเผยชื่อและตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธานกรรมการฯ 

          อำนาจหน้าที่คือดำเนินการสอบสวนความเห็นในชั้นพนักงานสอบสวน ตร. และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามความเห็นของสำนักงาน อสส. รวมถึงตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะทำงานฯผู้ลงความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ใช้เวลาประมาณ 15 วัน จนบัดป่านนี้ไม่รู้เป็นเช่นไร...ไม่มีใครรู้

          แต่ที่หนักหนาคือชุดที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ.มีมติแต่งตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้น นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดผู้สั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส แต่ผลการโหวตเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมไม่เห็นชอบ จึงตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ได้ 
 

          ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.อ. รับสำนวนการสอบสวนคดี นายวรยุทธ จากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนายวิชา มหาคุณ และหนังสือลาออกของนายเนตร ที่เคยยื่นไปแต่ยังไม่มีผล ก.อ.จึงยังสามารถตั้งกรรมการสอบสวนได้ วันที่ 20 ต.ค.2563 นายอรรถพล ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ.ครั้งที่ 11/2563 จึงมีมติแต่งตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้นนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดผู้สั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส โดยที่ประชุม ก.อ.มีมติเอกฉันท์เลือก นายไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยชั้นต้นแก่นายเนตร  ทุกอย่างดูเข้ารูปเข้ารอย

          กระทั่งวันที่ 18 พ.ย. 2563 มีรายงานข่าวว่า นายเนตร ยื่นคำร้องถึงประธาน ก.อ. ให้นำเรื่องเข้า ก.อ.เพื่อพิจารณาคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยชั้นต้น...ถือเป็นวิถีการต่อสู้ของผู้ถุกสอบ

          ทว่า ในวันที่ 30 พ.ย. 2563 นายไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ออกมาพูดจนตกตะลึงไปตามกันว่า ได้เข้าพบนายอรรถพล เพื่อยื่นหนังสือลาออก ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดดังกล่าว เพราะการสอบสวนทางวินัยชั้นต้นแก่นายเนตรนั้น ไม่สามารถปฏิบัติงานดำเนินต่อไปได้เท่าที่ควรตามที่ได้ตั้งแนวทางแห่งธรรมาภิบาลที่ตนยึดถือ และไว้วางใจ 

          นอกจากนี้ ยังเกิดการคัดค้านโต้แย้งในประเด็นต่างๆ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ดีเท่าที่ควร จึงเห็นควรหลีกทางให้ผู้อื่นที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสอบสวนฯ ชุดดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอัยการ และตอบโจทย์กับสังคมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          ป่าใหญ่ในระบวนการยุติธรรมเงียบสงัดไปตามๆ กัน...คุกมีไว้ขังแมว...

          ภายหลัง นายไพรัช ยื่นหนังสือลาออก นายอรรถพล ได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งในที่ประชุมถึงการลาออก พร้อมเสนอแต่งตั้ง นายประสาน หัตถกรรม ข้าราชการอัยการบำนาญ อดีตรอง อสส. ที่เป็น ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการสอบสวนฯแทน ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 12/2563  โดยในการประชุมก.อ. ครั้งที่ 13/2563 ในวันที่ 29 ธ.ค. 2563 จะมีการพิจารณาผลสรุปว่า คำคัดค้านของนายเนตร มีน้ำหนักฟังได้หรือไม่...ใครช่วยลุ้นหน่อย

 

          นายไพรัช กล่าวอีกว่า แม้ตนไม่ได้เป็นข้าราชการอัยการมาก่อน แต่อยู่ในวงการมานาน ได้รับเลือกเป็น ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สมัย ผ่านการร่วมโหวตตำแหน่ง อสส. มาแล้ว 6 ราย และยังจบกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา แต่เมื่อมองว่ากระบวนการไปไม่ได้ ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นที่อาจมีความสามารถทำได้ดีกว่า ภายหลังตนยื่นหนังสือลาออก นายอรรถพลได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งในที่ประชุมถึงการลาออก พร้อมเสนอแต่งตั้ง นายประสาน หัตถกรรม ข้าราชการอัยการบำนาญ อดีตรอง อสส. ที่เป็น ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการสอบสวนฯแทน โดยที่ประชุม ก.อ. ครั้งที่ 12/2563 มีมติเอกฉันท์เห็นชอบแต่งตั้งนายประสาน โดยตนมองว่ามีความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งประสบการณ์ที่เป็นถึงอดีตรอง อสส.

          คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยชั้นต้นในการสั่งไม่ฟ้องคดีของนายเนตร นาคสุข ประกอบด้วย 1.นายประสาน หัตถกรรม ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองอัยการสูงสุด อดีตผู้ตรวจราชการอัยการ อดีตอธิบดีสำนักวิชาการ และอดีตอธิบดีสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ซึ่งเป้นผู้ร่างระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดด้านการอบรม การพัฒนาบุคลากรพ.ศ. 2547 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นประธานกรรมการ 

          2.นางพิมพร โอวาสิทธิ์ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ปัจจุบันเป็น รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

          3.นายสนทรรศ สิงหพัศ รอง อสส. ที่เพิ่งรับการแต่งตั้งเมื่อ 1 ตุลาคม 2563 อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

          4. นายชัชชม อรรฆภิญญ์ รอง อสส. เป็นกรรมการ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ก้าวขึ้นเป็นรองอัยการสูงสุดเมื่อ 1 ตุลาคม 2563

          5. นายมั่นเกียรติ ธนวิจิตรพันธ์ ซึ่งขึ้นเป็นผู้ตรวจการอัยการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นกรรมการและเลขานุการ

          6.นายยุทธพงษ์ อภิรัตน์รังสี รองอธิบดีอัยการสำนักงาน ก.อ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

          โซเครตีส เคยกล่าวไว้เป็นบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมบรรลือโลกว่า “ถ้าความยุติธรรมถูกทำลาย ความอยุติธรรมจะเข้ามาแทนที่”

          ปฐพีนี้อยู่ยากจริงๆ!