เบื้องลึก “ศึกสายสีเขียว” “ศักดิ์สยาม”หัก”บิ๊กป๊อก”

18 พ.ย. 2563 | 23:00 น.

เบื้องลึก “ศึกสายสีเขียว” “ศักดิ์สยาม”หัก”บิ๊กป๊อก”: คอลัมน์ห้ามเขียน ภาคพิเศษ โดย...พรานบุญ


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 17 พ.ย.2563 ถือว่าดุเดือดกว่าที่หลายคนจะคาดคิด เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยเสนอเรื่องให้พิจารณาเป็น “วาระจร” เรื่องการต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ที่เข้าไปแบกรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยแทนที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วม 1 แสนล้านบาท แลกกับการรับสัมปทานการบริหารการเดินรถและยืดอายุสัมปทานตลอดโครงการออกไปอีก 30 ปี โดยคิดราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี นับจากคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือน พ.ย.2562 และมีการเสนอ ครม.พิจารณาหลายครั้งแต่ถูกตีกลับไปตีกลับมาหลายระลอก


ข่าววงในที่ประชุมครม.บอกว่า วาระจรการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่หยิบยกมาหารือกันในครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบนี้บรรยากาศลุกเป็นไฟ กลายเป็นวาระร้อนสุด


ร้อนฉ่าตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ กดไมค์เสนอวาระจร และบอกเล่าเรื่องราวถึงความจำเป็นต้องเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ครม.พิจารณา เพราะเอกชนเข้ามาบริหารจัดการวิ่งรถฟรีมาระยะหนึ่ง และภาระอันหนักอึ้งของกรุงเทพมหานครในการแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล จึงจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลมีกำหนดการจะเปิดให้วิ่งยาวไปสุดสายในช่วงเดือนธันวาคม 2563


ส่วนข้อคิดเห็นทางข้อกฎหมายว่าการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของคสช.ที่ให้ยกเว้นหลักการตาม  พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  (PPP) มาเป็นการต่ออายุสัมปทานเพื่อความรวดเร็วและการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อนั้น ปรากฏว่า มีผู้แทนอัยการสูงสุดชี้แจงในประเด็นดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม.ว่า จากการศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วพบว่า ไม่ขัดหลักของกฎหมายสามารถทำได้ และคำสั่งของคสช.ยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดแต่อย่างใด


ทำให้กระทรวงการคลังซึ่งมีการส่ง ปานทิพย์ ศรีพิมล รองปลัดกระทรวงการคลัง กลุ่มภารกิจด้านรายได้ ไปชี้แจงบอกว่าไม่มีประเด็นที่ติดใจในข้อกฎหมายและเงื่อนไขในการปฏิบัติแต่อย่างใด เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของคสช.ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย PPP ซึ่งหากปฏิบัติตามจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี 8 เดือน เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อหาทางออกในการดำเนินการโครงการของรัฐที่เกิดประโยชน์กับประชาชน กระทรวงการคลังก็ไม่มีความเห็นแย้งใดๆ

 

ยิ่งเมื่อ “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สำทับว่า เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันสำทับว่าการใช้อำนาจตามาตรา 44 ของคสช.ในโครงการนี้ไม่ขัดกับกฎหมายใดๆ อย่างนี้ สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นประโยชน์ของสาธารณะ ข้อวิตกกังวลต่างๆ ก็จบไป 


บรรดารัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่เข้าร่วมประชุม ครม. ที่พลิกไปพลิกมาหาเอกสารวาระจรมาอ่านประกอบการพิจารณา ที่หน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะเรื่องนี้ถูกบรรจุเข้าครม.มาหลายครั้ง แต่สุดท้ายถูกตีตกนำไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมเพื่อเสนอเรื่องเข้ามาใหม่ทุกครั้ง บรรยากาศตอนนั้น สายข่าวบอกผมว่า หลายคนโล่งอก ไม่ติดใจ พร้อมลงมติเห็นชอบ 


แต่แล้วทุกคนก็อ้าปากค้าง นิ่งเงียบเป็นเป่าสาก เมื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ลุกขึ้นคัดค้าน และก้มหน้าก้มตาอ่าน “ความเห็นเพิ่มเติมกรณีความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ของกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือลงเลขรับที่ ธ12490/63 ลงวันที่ 16 พ.ย.256 แบบไม่มองหน้ารัฐมนตรีคนไหน...


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งหน้าตั้งตามอ่านบันทึกคัดค้านและเสนอความเห็นไว้ หลายประเด็น


เริ่มจากคัดค้าน กระทรวงการคลัง ที่นำผลเจรจาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าBTS สายสีเขียวทั้งระบบ ตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) เจรจาได้ข้อยุติตามคำสั่งมาตรา 44 คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) โดยยอมรับภาระหนี้แทน และยืดสัมปทานสายสีเขียวออกไปจนถึงปี 2602 จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 4 ธันวาคม 2572  ที่สำคัญเพดานค่าโดยสารทั้งระบบต้องไม่เกิน 65 บาท จากที่กทม.ศึกษาไว้ที่ 158 บาทตลอดสาย เพื่อดึงประชาชนเข้าระบบรถไฟฟ้ามากขึ้นหากอัตราค่าโดยสารถูกลง 


มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ สวนหมัดยืนยันว่า การต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวไม่ได้เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อกระทรวงคมนาคม เนื่องจากงานโยธาส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่แต่เดิมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างไปกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท นั้น รฟม.ได้โอนทรัพย์สินพร้อมภาระหนี้บวกดอกเบี้ยมาให้กับกทม.หมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดค้างคากับกระทรวงคมนาคมอีกต่อไป 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังไม่ยอมหยุดอ่านข้อเสนอแนะต่อไปว่า อัตราค่าโดยสาร 65 บาท แม้ได้รับการปรับลดแล้วยังถือว่า ยังแพงสำหรับประชาชน


จากนั้นจึงเสนอ 4 ข้อต่อครม.  1. ความครบถ้วนตามหลักการพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) การดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ที่ให้ถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว เป็นการทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น พบว่า การดำเนินการตามคำสั่งฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีการเจรจา กระทรวงคมนาคมเห็นว่า สมควรให้เจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) รวมไปถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสารและค่าโดยสารที่เป็นธรรมก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561


2.ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เห็นว่าควรพิจารณาให้เหมาะสมเป็นธรรมต่อประชาชนควรคิดค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึง 130 บาท/วัน หรือประมาณ 35% ของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท


นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินแล้ว สายสีเขียว ที่มีผู้โดยสารมากกว่ากลับมีราคาค่าโดยสารสูงกว่า และหากสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 800,000-1,000,000 เที่ยวคน/วัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดมากถึง 65 บาท เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 300,000 คน/วัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงเชื่อว่าอัตราค่าโดยสารดังกล่าวสามารถลดราคาลงได้อีก


3. สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 32 กม.  คือ ส่วนต่อขยายเขียวเหนือ-เขียวใต้ อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ได้ จึงควรพิจารณาก่อนว่า รัฐจะได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาดังกล่าวเท่าไหร่ อย่างไร เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐสูญเสียประโยชน์ ทั้งนี้  การใช้สินทรัพย์ของรัฐภายหลังรับโอนจากเอกชนเมื่อหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 กรณีนี้อาจทำให้สินทรัพย์ที่รัฐควรจะได้รวม 68.25 กม. ประกอบด้วย 1)สินทรัพย์เดิมของรัฐ 23.5 กม. 2) สินทรัพย์ของบจ.กรุงเทพธนาคม 12.75 กม.(ส่วนต่อขยายสายสีลม)

                                                                  เบื้องลึก “ศึกสายสีเขียว” “ศักดิ์สยาม”หัก”บิ๊กป๊อก”

 

4.ประเด็นด้านกฎหมาย ควรรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลกรณี กทม.จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง (ลาซาล) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงตากสิน–วงเวียนใหญ่ก่อน เพราะหากต่อสัญญาไป อาจจะมีผลกระทบย้อนหลังได้


ร้อนฉ่าไปทั้งครม.รัฐมนตรีหลายคนหันหน้าไปดูบรรยากาศ หน้าตา ท่าทางของบรรดาเสนาบดีร่วมคณะพบว่า นิ่งสงัด เงียบเชียบ แต่มีอย่างน้อย 2 คน นั่งพลิกเอกสารไปมา แบบคนนั่งไม่ติด


ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ โพล่งขึ้นมาว่าเรื่องนี้มีการหารือกับฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วอย่างน้อย 4-5 ครั้ง จะให้ถามข้อหารือไปครั้งที่ 6 อีกหรือ? ... “ผมเพิ่งรู้นี่และว่า มีประเด็นเหล่านี้อีก เพราะได้พิจารณาหลายครั้งก็ไม่มีข้อแย้ง”


กระทรวงมหาดไทยเขาไปทำข้อมูลมาพบว่า การกำหนดราคาค่าโดยสารที่ระดับ 65 บาทนั้น ถือว่าครอบคลุมการให้บริการตลอด 66 กิโลเมตร เฉลี่ยค่าโดยสารกิโลเมตรละ 0.97 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท แต่ให้บริการระยะทางทั้งสิ้นแค่ 48 กิโลเมตร เฉลี่ย 0.88 บาท/กิโลเมตร


ที่เห็นว่าราคาต่างกันนั้น เพราะส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้นรัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้าง งานโยธา ในขณะที่สายสีเขียวรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนใดๆ จำเป็นต้องใช้รายได้ของตนเองชำระต้นทุนทั้งหมด
นอกจากนี้สายสีน้ำเงินที่ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการแบ่งรายได้ให้รัฐบาล ในขณะที่สายสีเขียวมีการแบ่งรายได้แก่กรุงเทพมหกานคร จำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท 


ดังนั้น หากสายสีเขียวไม่ต้องแบกรับภาระใดๆ เช่น รถฟ้าสายสีน้ำเงินก็สามารถกำหนดค่าโดยสารได้ต่ำกว่าสายสีน้ำเงิน


นอกจากนี้ในคำถามเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น รถไฟฟ้า 2 สายมีรายได้ต่างกัน มีภาระค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่ต่างกัน แต่รัฐบาลกำกับดูแลผลตอบแทนของการลงทุนของเอกชนไว้อย่างเหมาะสม โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีผลตอบแทนจากการลงทุนแค่ 9.6% ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผลตอบแทนจากการลงทุน 9.75% 


ดังนั้นการวิเคราะห์และการกำหนดอัตราค่าโดยสารในร่างสัญญาร่วมทุนที่ผ่านการเจรจาแล้ว จึงเป็นการวิเคราะห์ถึงต้นทุนที่แท้จริง และยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเชื่อมต่อค่าแรกเข้าที่เป็นมาตรฐานอีกด้วย เพื่อลดภาระของประชาชนที่เดินทาง และมีการกำหนด KPI ในเรื่องการให้บริการเดินรถที่เข้มข้น และบังคับให้ผู้เดินรถต้องลงทุนเพิ่มตลอดเวลาจำนวนมากด้วย


ก่อนบรรยากาศจะร้อนฉ่า มาคุไปกว่านี้ เสียงกังวานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังจากหัวโต๊ะที่ประชุมครม.ว่า “ที่มีความเห็นกันออกมาแบบนี้ดีแล้ว รอบนี้เป็การนำเสนอเพื่อทราบ ขอให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณารายละเอียดถึงข้อสังเกตมาเพิ่มเติม เพื่อนำเข้ามาพิจารณาในรอบใหม่ ใครคัดค้าน ใครเห็นแย้งก็เสนอมา กระทรวงมหาดไทยจะต้องไปชี้แจงตอบในทุกคำถาม เพราะไม่ว่าอย่างไร เรื่องนี้เราต้องรับผิดชอบร่วมกันทุกคน”


สุดท้ายวาระเรื่องนี้ ครม.มีมติรับทราบและให้กระทรวงมหาดไทยนำข้อคิดเห็น ข้อทักท้วง ข้อเสนอแนะ ไปพิจารณาและตอบคำถามที่ตั้งขึ้นมาเพื่อนำมาเสนอครม.อีกครั้ง จบ ตะแล่ม ตะแล่ม ตะแร่ม