"ทางรถไฟสายมรณะ" ในเวอร์ชั่นเมียนมา

02 พ.ย. 2563 | 00:00 น.

"ทางรถไฟสายมรณะ" ในเวอร์ชั่นเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

          ผมเชื่อว่าทุกคนที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติที่สนใจเรื่องของสงครามบูรพา ต้องรู้จัก “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” หรือไม่ก็ในนาม “รถไฟสายมรณะ” เป็นอย่างดี ในส่วนของประวัติศาสตร์ที่ไทยเราเขียนไว้ และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เราคนไทยคงได้รับรู้มาหมดแล้ว ผมจะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้ แต่ที่เมียนมาเขาก็มีการจารึกไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งในฝั่งของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ  เพราะมันไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวใจให้แก่ชาวไทย และบรรดาชาติที่มีเฉลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟนี้เท่านั้น ในมุมของชาวเมียนมาก็เจ็บปวดไม่แพ้ชาติไหนๆ ด้วยเช่นกัน ผมจึงขอนำมาเล่าสู่กันอ่านนะครับ

          การก่อสร้าง "ทางรถไฟสายมรณะ" ซึ่งเป็นทางเชื่อม 415 กม. ทางประเทศเมียนมาเขาเริ่มนับจากสถานีรถไฟบ้านโป่งถึงสถานีรถไฟทั่นบิลซายัท (Thanbyuzayat) ในรัฐมอญของประเทศเมียนมา ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยได้สูญเสียชีวิตของพลเรือนชาวเอเชียและเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรกว่า 100,000 คน ในช่วงระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟมรณะนี้

          โดยได้ถูกสร้างขึ้นจากการที่ทหารญี่ปุ่นต้องการใช้เป็นเส้นทางในการเคลื่อนย้ายทหารและอาวุธ ในระหว่างการก่อสร้างได้เกณฑ์เอาแรงงานพม่าและชาวเอเชียอย่างน้อย 180,000 คน อีกทั้งเชลยศึกกว่า 60,000 คน ซึ่งถูกบังคับใช้แรงงานในระหว่างการก่อสร้าง และไม้หมอนชิ้นสุดท้ายที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์และปิดทองได้ถูกเชลยศึกชาวออสเตรเลียขโมยไป เพราะคิดว่าเป็นทองคำแท้ (บรรทึกจากนักเขียนที่ชื่อว่า Linnyone Thit Lwin ได้เขียนเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ) แม้ว่าในตอนแรกกองทัพญี่ปุ่นจะจ้างแรงงาน แต่ต่อมาได้ใช้วิธีบังคับให้เกณฑ์พลเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้รัฐบาลของ Dr. Ba Maw (นายกรัฐมนตรีพม่าในขณะนั้น) ช่วยเหลือจัดหาคนงาน วิธีหนึ่งที่ทางการพม่าใช้ในขณะนั้น คือการฉายหนังกลางแปลงตามเมืองต่างๆ จากนั้นก็ใช้วิธีจับผู้ชายที่มีร่างกายกำยำทั้งหมดไปขึ้นรถ ส่งเข้าค่ายไปเป็นแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะเลย 
         

          อีกวิธีหนึ่งที่ทางการเมียนมาในยุคนั้นใช้ในการระดมแรงงาน คือหัวหน้าหมู่บ้านต่างๆ จะได้รับคำสั่งให้เกณฑ์ผู้ชายกำยำจำนวนเท่าใดๆ แล้วส่งมาให้เป็นกรรมกร แต่บางครั้งหัวหน้าหมู่บ้านก็จะเลือกเอาที่ตนเองไม่ชอบขี้หน้า แล้วบังคับให้คนที่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไปเป็นกรรมกรก่อสร้างทางรถไฟเลยก็มี จึงทำให้เกิดโศกนาฎกรรมเป็นที่จดจำ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ และได้มีการสูญเสียชีวิตจำนวนมากของกรรมกรชาวเมียนมา (ตอนนั้นเรียกว่าพม่า) ชาวไทย ชาวมาเลเชีย ชาวทมิฬเชื้อสายอินเดีย และเชลยศึกจากอังกฤษออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ สาเหตุการสูญเสียชีวิตเกิดจากภาวะการขาดอาหาร จากการถูกทำร้ายร่างกาย และจากโรคมาลาเรีย อหิวาตกโรคและโรคบิด แผลอักเสพที่เกิดมากในเขตร้อนชื้น เป็นต้น  

          ทางรถไฟสายมรณะดังกล่าว ทางการเมียนมาได้จารึกไว้ว่า ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 21 เดือน และได้แล้วเสร็จในวันที่ 25 ตุลาคม 1943 ต่อมาในปี 1946 ที่รัฐมอญ เมืองทั่นบิลซายัท (Thanbyuzyat) ก็ได้นำเอาที่ดินส่วนหนึ่งมาสร้างเป็นสุสานเพื่อฝังศพแรงงานเชลยศึกที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะนี้  หลังสิ้นสุดสงครามสุสานดังกล่าวก็ได้ถูกทิ้งร้างไว้อยู่นาน จนกระทั่งได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และต่อมาในเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2016 ทางการเมียนมาได้เปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟสายมรณะ” ขึ้นที่เมืองดังกล่าว โดยมีทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นชื่อ Mikio Kinoshita ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดในการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปร่วมงานเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งผู้หมวดญี่ปุ่นได้เล่าความทรงจำบางส่วนในสิ่งที่เขาจำได้เป็นภาษาพม่าด้วยนะครับ
         

          จำได้ว่าผมเคยเขียนเล่าเรื่องราวของทหารผ่านศึกญี่ปุ่นที่ผมเองเคยประสบพบเจอมาด้วยตนเอง ในบทความ “เปิดประตูเมียนมา” มาแล้วครั้งหนึ่ง ก็อยากนำมาเล่าให้ฟังซ้ำอีกนะครับ มีวันหนึ่งเมื่อสักยี่สิบปีก่อน ผมได้ขึ้นเครื่องบินการบินไทยกลับมมาจากเมืองย่างกุ้ง เผอิญนั่งติดกับคุณลุงชาวญี่ปุ่นแก่ๆท่านหนึ่ง ผมก็สนทนากับท่านเป็นภาษาญี่ปุ่น ถามท่านว่ามาเที่ยวย่างกุ้งเหรอ เห็นมากันเป็นกลุ่มใหญ่ ท่านบอกว่าท่านเป็นทหารผ่านศึกมาเคารพสุสานเพื่อนทหารญี่ปุ่นในย่างกุ้ง และท่านก็เล่าด้วยท่าทีเศร้าๆ ท่านเล่าว่าท่านได้ถูกให้มาประจำการที่ประเทศพม่าช่วงสงครามบูรพา มีเพื่อนท่านมาเสียชีวิตจากสงครามนี้หลายท่าน ท่านจึงมาเคารพศพดังกล่าว

          พอเครื่องบินๆ ไปได้สักยี่สิบนาที ท่านก็ถามผมว่าถึงเมืองเมาะละแม่งหรือยัง ผมก็เห็นใจท่าน จึงแกล้งบอกว่าเดี๋ยวจะไปถามกัปตันให้ จากนั้นผมก็ลุกขึ้นเดินไปบอกแอร์โฮสเตทว่า น้องช่วยประกาศทีว่าเครื่องบินกำลังจะบินผ่านเมืองเมาะละแม่งแล้ว ตอนแรกน้องเขาไม่เข้าใจ ผมจึงอธิบายให้เขาฟัง และบอกว่าคุณช่วยสงเคราะห์คนแก่หน่อย ทำไปเถอะทำให้เขาสบายใจ โกหกไม่บาปหรอก น้องเขาก็ช่วยประกาศให้ว่าขณะนี้กำลังจะบินผ่านเมืองเมาะละแม่งแล้ว แค่นั้นแหละครับ คุณลุงแกตะโกนบอกเพื่อนๆว่า  “เฮ้ยๆ ถึงเมาะละแม่งแล้ว” จากนั้นก็มีเสียงสวดมนต์จากเหล่าทหารหาญผ่านศึกชาวญี่ปุ่นบนเครื่องบินกันระงมเลยครับ ผมนั่งอยู่ข้างๆท่าน ก็อดที่จะเศร้าใจกับสงครามในอดีตไปกับท่านด้วยไม่ได้ครับ