การเข้าถึงเงินทุนของ SME: เรื่องไก่กับไข่

29 ก.ย. 2563 | 07:30 น.

ปัญหาความยากลำบากของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME เป็นปัญหาโลกแตกมานานแล้ว แต่ต้องเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ไม่ใช่ทุก SME ในประเทศนี้จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พบว่า

              มี SME 1.29 ล้านรายที่กำลังใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่หากดูตัวเลข SME ทั้งหมดกว่า 3.2 ล้านรายแล้ว แสดงว่ามี SME อีกกว่า 2 ล้านรายหรือคิดเป็น 58% ที่ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่อยากใช้ หรืออยากใช้สินเชื่อแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้

                   เราจะได้ยินเสียงบ่นจาก SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนหรือสินเชื่อได้ว่าเงื่อนไขของสถาบันการเงินค่อนข้างเข้มงวด ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกระดับ ทำให้ SME จำนวนมากที่อาจจะยังไม่ค่อยเข้มแข็งเข้าถึงเงินทุนไม่ได้ ในขณะที่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็มีปัญหาว่า SME ที่มาขอสินเชื่อนั้นไม่มีข้อมูลทางการเงิน

              ระบบบัญชีไม่ดี แผนธุรกิจไม่มีหรือไม่ชัดเจน ระบบการจัดการทางการเงินปนกันหมดทั้งส่วนตัวและส่วนธุรกิจ ฯลฯ จนไม่สามารถพิจารณาว่าสามารถจ่ายเงินกู้คืนมาได้อย่างไร ดังนั้น แม้ว่าจะปรับเงื่อนไขลง แต่หาก SME ที่กู้ไม่มีหลักฐานทางการเงินเพียงพอให้คนปล่อยกู้เห็นอนาคตว่าจะจ่ายหนี้คืนได้ โอกาสได้รับการอนุมัติก็ยาก

                   ปัญหาที่ SME บางรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ก็เพราะสุขภาพทางธุรกิจไม่เข้มแข็งหรือวัดอะไรไม่ได้ และอีกมุมก็คือ เงื่อนไขการเข้าถึงเข้มงวด เกินกำลัง SME จะปีนข้ามได้ เลยไม่สามารถหาเงินทุนมาพัฒนาความเข้มแข็งได้ …. เหมือนปัญหาโลกแตก ระหว่าง “ไก่กับไข่” อะไรควรมาก่อนกัน สำหรับผมแล้ว ยังคิดว่า SME ควรต้องมีศักยภาพก่อน เพราะทุกวันนี้ SME ที่เก่งก็ไม่มีปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนแต่อย่างไร

              แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้าแทรกแซงกลไกการตลาดเงินทุนสำหรับ SME มาอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อ จัดตั้งกองทุนพิเศษด้านสินเชื่อ/ร่วมลงทุนด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน การให้สินเชื่อ Soft Loan แบบ Two Step Loan ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME ที่มีปัญหาทางธุรกิจที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ หรือที่ไม่มีระบบการจัดการธุรกิจในด้านต่าง ๆ

              ทางคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME และมองเห็นปัญหาในเรื่องนี้โดยแบ่งออกมาได้ 3 ประเด็น คือ

การเข้าถึงเงินทุนของ SME: เรื่องไก่กับไข่

              ๑. ปัญหาข้อจำกัดด้านนโยบายและมาตรการด้านการเงินของรัฐ

                   ๒. ปัญหาข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SME ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและ

๓. ปัญหาด้านโครงสร้างการส่งเสริมและสนับสนุน SME ของประเทศไทย

ปัญหาทั้ง 3 ประเด็นมีความเชื่อมโยงกันและกลายเป็นวงจรปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME ที่ต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะสองข้อแรก คือ การพัฒนาขีดความสามารถของ SME ที่ยังอ่อนแอ การบริหารจัดการที่ไม่เป็นแบบแผนของธุรกิจทั่วไป การจัดการแผนการตลาดและการเงินต่าง ๆ และการปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ ในการให้สินเชื่อสำหรับ SME แต่ละประเภทให้เหมาะสมกับเจตนารมย์ของกองทุนสินเชื่อต่าง ๆ ของภาครัฐ

ปัญหาสองปัญหานี้ ผมเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีความเข้าใจถึงปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของ SME ที่อ่อนแอมาตลอด และมีความเข้าใจถึงศักยภาพของ SME ที่มีสถานภาพทางธุรกิจแตกต่างกัน ตั้งแต่ SME ที่เก่งกาจ พร้อมทะยานและขยายตัวเมื่อได้การสนับสนุนทางการเงิน

หรือ SME ที่ต้องการดูแล ต้องการเงินทุนเพื่อเดินต่อ แต่ต้องพัฒนาขีดความสามารถ และกลุ่ม SME ที่กำลังมีปัญหาทางการเงินและธุรกิจ รวมทั้ง SME ที่มีปัญหา เป็น NPL และธุรกิจล้มแล้ว ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะออกมาตรการทางการเงินและที่มิใช่การเงินออกมาหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ให้ SME แต่ละกลุ่มได้เหมาะสม

พูดถึงมาตรการทางการเงินที่ออกมาช่วยเหลือ SME ก็มีการออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะกลุ่มเป้าหมาย โดยมี กฎ กติกาที่เข้มงวดแตกต่างกันตามความสามารถของ SME แต่ละกลุ่ม โดยเงินกองทุนสำหรับ SME ทุกกลุ่มส่วนมากเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ SME ที่มีความสามารถและเก่ง เข้มแข็งทางการเงินก็จะวิ่งไปหาเงินทุนเหล่านี้ในทุกมาตรการ เพราะได้ประโยชน์จากเงินทุนดอกเบี้ยหรือต้นทุนต่ำเหล่านี้ทั้งหมด

ในขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมาตรการนี้ก็ชอบที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ที่แข็งแรง เพราะผู้ปฏิบัติในการให้สินเชื่อและสถาบันการเงินก็ไม่ต้องเสี่ยงต่อการมีหนี้เสีย ที่จะเสียหายต่อสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ กฏเกณฑ์ของผู้คุมธนาคาร คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกฎ ระเบียบในการควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของประเทศ ยิ่งทำให้สถาบันการเงินมักใช้กฏเกณฑ์ที่เข้มงวดที่สุดเป็นตัวกรอง SME ในการปล่อยสินเชื่อ ถ้าเปรียบเป็นรั้ว ก็ใช้รั้วสูง ๆ เพื่อป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยและเป็นเกณฑ์วัดคนเก่ง เพื่อคนที่เข้มแข็งเท่านั้นที่ปีนข้ามได้ ถึงจะสามารถเข้าสถาบันการเงินได้ ทำให้ SME ที่มีปัญหา อ่อนแอ อยู่แล้ว วิ่งไปตรงไหนก็ไม่มีใครอยากให้กู้ เพราะกลัวไม่ได้เงินคืน และโดนลงโทษ      

                การแก้ไขประเด็นปัญหานี้ ก็คือ

                1.รัฐต้องออกแบบมาตรการทางการเงิน ให้กับ SME เฉพาะกลุ่มให้ตรงกับความต้องการ และมีกฎเกณฑ์ที่สามารถทำได้ และเหมาะสมกับสถานภาพของ SME เป้าหมาย พร้อมทั้งสร้างเกณฑ์ที่ไม่ให้ SME ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้ประโยชน์

2.ต้องให้ทุก SME ที่จะเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะต้องเข้าสู่ระบบของรัฐ การจดทะเบียนประกอบกิจการ เพื่อให้รัฐสามารถดูแล ติดตามให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงิน  สามารถส่งต่อความช่วยเหลือและการสนับสนุนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนที่มีจำนวนมาก

            3.มาตรการสนับสนุนทางการเงินเป็นการเฉพาะสำหรับ SME ที่มีความอ่อนแอและมีปัญหาในการดำเนินงานนั้นต้องนำไปผูกกับการพัฒนาทางด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะการมีระบบบัญชีที่ดี การจัดการบริหารธุรกิจที่ดีขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ความช่วยเหลือมาตรการทางการเงิน และสำหรับกฎเกณฑ์การเข้าถึงทางการเงินต้องไม่ใช่กฎเกณฑ์แบบเดียวกับการปล่อยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รัฐควรตั้งกองทุนพิเศษ การบริหารในรูปแบบการบริหารกองทุนพิเศษ และสามารถยอมรับความเสี่ยงในการเสียหายได้มากกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในการดูแล SME ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ตามปกติได้

            4.กำหนดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ต่อสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์แต่ละธนาคาร โดยสามารถนับรวมสินเชื่อที่ธนาคารฯ ปล่อยให้ SME ภายใต้มาตรการของรัฐได้ด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินเอกชนเข้ามาสนับสนุนมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือ SME เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินเอกชนต่าง ๆ มีหน่วยงานสนับสนุน ให้ความรู้ โดยเฉพาะทางการเงินและธุรกิจให้กับ SME อยู่เกือบทุกสถาบันอยู่แล้ว

                สำหรับปัญหาใหญ่ คือ โครงสร้างการสนับสนุน SME ของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 20 หน่วยงานต่างช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ในการช่วยเหลือสนับสนุน SME ดูเผิน ๆ ก็เหมือนดี แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยได้ประสานงานกันเท่าไรนัก และที่ร้ายกว่านั้น หน่วยงานที่ควรดูแลภาพใหญ่ของการพัฒนา SME คือ

                สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ก็ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำตามพระราชบัญญัติฯ อย่างที่ควรจะทำ ทั้งนี้ อาจมาจากการที่ สสว. ไม่มีอำนาจในการดูแลงบประมาณอย่างเบ็ดเสร็จ การติดตาม ประเมินผลยังไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสม และยังใช้เวลาส่วนมากไปดำเนินงานด้านปฏิบัติเอง ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงเสนอในการปรับโครงสร้างการสนับสนุน SME ใหม่ คือ  

                1.ยกเลิกการเป็นหน่วยงานปฏิบัติของ สสว. และให้เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา SME ของประเทศ กำหนดแผนปฏิบัติงานในภาพรวม เชื่อมโยงแผนงาน SME กับหน่วยงานระดับปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน เพื่อให้มีการดำเนินงานด้าน SME ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา SME ในภาพรวม

                2.จัดทำแผนบูรณาการส่งเสริม SMEs ให้ตรงความต้องการของ SMEs ทุกระดับโดย สสว. เป็นผู้ดูแลงบประมาณแผนบูรณาการส่งเสริม SMEs ผ่านการจัดทำแผนส่งเสริม SMEs ทั้งในระดับหน่วยงานในกระทรวงต่าง ๆ และรายกลุ่มจังหวัด/จังหวัด/รายสาขา ให้สอดคล้องกับภาพรวมการพัฒนา SME และมีการติดตามประเมินผลในกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานปฏิบัติ

                3.จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนส่งเสริม SMEs รายจังหวัด โดยมี สำนักงาน สสว. ระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้แผนการพัฒนา SME ระดับจังหวัดสอดคล้องกับแผนพัฒนา SME ภาพรวม นอกจากนี้ สำนักงาน สสว. ในระดับจังหวัดต้องมีหน้าที่ประสานงานและกิจกรรมสนับสนุน SME ทั้งหมดของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดเพื่อสามารถร่วมมือในการสนับสนุน SME ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

                4.จัดตั้งศูนย๋สนับสนุนและให้คำปรึกษา SME ในจังหวัด โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ และผู้ดำเนินงานต้องเป็นคณะบุคคลที่มีความสามารถและประสบการณ์ทางด้าน กฎหมาย บัญชี บริหารธุรกิจ วิศวกรรมหรือการผลิต โดยการให้คำปรึกษา SME และทำหน้าที่การันตีให้กับ SME ในการเข้ารับการสนับสนุนทางด้านการเงินตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ   

                5.สสว. ระดับจังหวัดต้องมีหน้าที่ในการติดตาม กำกับ ดูแลกิจกรรม และเป็นแกนประสานในการพัฒนา SME ในระดับจังหวัดของหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรด้าน SME และประเมินผล  

ข้อเสนอแนะของคณะทำงานศึกษาปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของ SME ของกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น อาจไม่ง่ายในทางปฏิบัติ บางคนเคยพูดหลังจากฟังแนวคิดและข้อเสนอแล้วว่า “ยากยิ่งกว่าย้ายภูเขา” ซึ่งก็ใช่ เพราะยากจริง ๆ ที่ยากนั้นก็เพราะเราเอาข้อจำกัดในปัจจุบันเป็นตัววางไว้ แต่หากมองบนกระดาษเปล่าและค่อยร่างรูปแบบโครงสร้างใหม่

เราก็จะเห็นว่า ไม่ได้ยากเกินจะทำ และระบบแบบนี้ก็ไม่ใช่ใหม่ในโลกนี้ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ก็คล้าย ๆ แบบนี้ และประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น เราจึงคิดว่าระบบการสนับสนุน SME ตามที่เสนอนั้น น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ และน่าจะดีมีประโยชน์ต่อ SME มากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน