ยุทธศาสตร์แก้จนฉบับ‘สังศิต’

09 ก.ย. 2563 | 04:00 น.

ยุทธศาสตร์แก้จนฉบับ‘สังศิต’ บทความ โดย รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,608 หน้า 5 วันที่ 10 - 12 กันยายน 2563

 

มีคำถามว่าทำไมคนไทยจำนวนมากจึงยากจนและมีความเหลื่อมลํ้าทางด้านรายได้และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของภาครัฐอย่างไม่เท่าเทียมกัน? 

 

วิธีมองและการอธิบายสาเหตุ ตลอดจนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมีหลายมุมมอง (approach) แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ มุมมองแบบโครงสร้างนิยม (structuralism) ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ดี เช่น การมองโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างทางด้านสังคม ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่มีอำนาจทุน อำนาจรัฐ และอำนาจทางการเมือง มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ที่ไร้อำนาจต่อรอง 

 

แต่การมองสาเหตุของความยากจนแบบข้างต้นนี้ จะนำเสนอทางออกของประเทศอย่างไร นโยบายเพื่อหาทางออกให้กับประเทศจะใช้นโยบายปฏิรูปหรือปฏิวัติ? หากไม่ใช่นโยบายทั้งสองแบบนี้ เรามีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่านี้อีกหรือไม่? 

 

สำหรับนโยบายการปฏิรูปประเทศอย่างที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและตำรวจ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องกล่าวถึงแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ที่สภาพัฒน์ทำหน้าที่รายงานต่อทั้งสองสภาทุก 3 เดือน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้งบประมาณสนับสนุนแผนต่างๆ เหล่านี้เลย  

 

สำหรับเรื่องนี้ ผมเห็นว่าแผนที่ปราศจากงบประมาณจากรัฐบาล ก็เป็นเพียงเอกสารที่เป็นความรู้ชุดหนึ่งเท่านั้นเอง เนื้อหาสาระของมันจะมีความหมายต่อการแก้ปัญหาความยากจนได้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ 

 

นอกจากนี้พรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลดูจะสนใจนโยบายของพรรคตัวเองที่ใช้หาเสียงมามากกว่าแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่คสช.ผลักดันให้เกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้นข้าราชการส่วนใหญ่อาจไม่เคยอ่านตัวแผน มิใยต้องพูดถึงว่าพวกเขาจะผลักดันแผนนี้หรือไม่ 

 

ผมคิดว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผมสามารถพยากรณ์ได้เลยว่าแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี จะถูกนำไปเก็บไว้บนหิ้งตลอดไป แผนการปฏิรูปประเทศจะกลายเป็นชุดความรู้ชุดหนึ่งที่จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นความรู้ของรัฐบาลอีกต่อไป มันจะกลายเป็นความรู้ที่คนในสังคมไม่ได้อ่าน ไม่ได้ฟังและถึงแม้มีโอกาสได้ฟัง คนก็จะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมันจะกลายเป็นชุดความรู้ที่ล่องลอยอยู่ในสูญญากาศ เมื่อไม่มีอำนาจทางการเมืองมารองรับชุดความรู้นี้ ความรู้ชุดนี้ก็จะไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ให้กลายเป็นความจริง (truth) ของสังคมได้อีกต่อไป

 

คำถามว่าการปฏิรูปจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง หรือจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน อันไหนดีกว่ากัน? 

 

สำหรับผมแล้วยอมรับได้ทั้งสองทาง ขอเพียงให้การปฏิรูปนั้นเกิดประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้จริง และการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองขอให้เป็นไปอย่างสันติ และปราศจากการใช้ความรุนแรง

 

การปฏิรูปจากข้างบนลงสู่ข้างล่างสามารถให้ประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศส เคยเกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ได้ใช้อำนาจเผด็จการประกาศนโยบายการปฏิรูปที่ดินด้วยการแจกจ่ายที่ดินให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรชาวฝรั่งเศสได้ครอบครองที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย จนกลายเป็นมรดกตกทอดมาตราบจนถึงทุกวันนี้ 

 

ส่วนในเยอรมัน บิสมาร์ก ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้ชนชั้นแรงงานมีความพร้อมที่ปฏิวัติสังคมนิยมด้วยการใช้กำลังและความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะใช้การปราบปรามหรือหาทางออกอย่างสันติวิธี บิสมาร์กตัดสินใจเลือกนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางแทนการใช้กำลัง ด้วยการปฏิรูประบบราชการให้เป็นแบบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการทำลายล้างความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และทำลายล้างการคอรัปชันในระบบราชการ ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงชาติตระกูลและความมั่งคั่ง รวมทั้งการปฏิรูปยังได้ทำลายความเชื่อไสยศาสตร์และนำความคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้าแทนที่ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้เขายังได้สร้างระบบประกันสังคมที่ดีที่สุดในโลกขึ้นให้กับประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เยอรมันที่ล้าหลังกลายเป็นชาติที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วจนไล่ทันความเจริญของอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปก่อนหน้านานแล้ว

 

 

 

สำหรับตัวอย่างการปฏิรูปจากข้างล่างได้เกิดขึ้นใน ราชวงศ์แมนจู ของจีนที่นำโดย ดร.ซุนยัตเซ็น ที่สามารถเปลี่ยนประเทศจีนจากประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาเป็นระบบสาธารณรัฐได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นจีนต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองและสงครามต่อต้านญี่ปุ่นอย่างยาวนานอีกหลายสิบปีตราบจนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้รับชัยชนะในปี พ.ศ. 2494 และสามารถนำพาประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ในที่สุด 

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการต่อสู้ของ มหาตะมะคานธี และ เนลสัน แมนเดลา ที่สามารถปลดปล่อยอินเดีย และแอฟริกาใต้ ให้เป็นประเทศเอกราชจากอังกฤษอย่างสันติวิธี ถือเป็นแบบ อย่างของการใช้พลังประชาชนไปปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงประเทศ ให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองได้สำเร็จ แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศดำเนินไปได้ค่อนข้างจะล่าช้าและประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยากจนข้นแค้น

 

ยุทธศาสตร์แก้จนฉบับ‘สังศิต’

 

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ 

 

 

ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทยแล้วการปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุด คือการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้าให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อบรรลุภารกิจนี้ 

 

1. เราต้องปฏิรูประบบการศึกษาให้เกิดความเป็นธรรม โดยยึดหลักการว่าคนมีน้อยรัฐต้องอุดหนุนมากเป็นพิเศษ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม 

 

2. ต้องปฏิรูประบบราชการให้เกิดธรรมาภิบาล ส่งเสริมคนดีและเก่งในภาครัฐให้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในอาชีพได้

 

3. ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของคนเป็นสำคัญ และ

 

4. ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจตลาดเสรีให้เป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม ที่เน้นการให้ประโยชน์แก่ประชาชนส่วนข้างมาก ส่งเสริมธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็กและกลางให้เติบโตได้ ให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม และรัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจของคนไทย เน้นการใช้วัตถุดิบของไทยในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และหากกลไกตลาดสร้างความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน รัฐบาลสามารถใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาดได้

 

 

 

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับผมการปฏิรูปที่สำคัญ คือการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจต้องมาก่อนการปฏิรูปทางการเมือง และควรมาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยซํ้าไป แต่หากมีผู้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมจะไม่คัดค้าน แต่ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย หากจะแก้ไรัฐธรรมนูญ ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นมากกว่า ที่สำคัญการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง ก็ต้องมีผู้นำประเทศที่มีความคิดปฏิรูปด้วย

 

เฉพาะหน้าสิ่งที่ผมอยากเห็นการปฏิรูปมากที่สุดคือ การขจัดความยากจน และเครื่องมือที่สำคัญคือ การสร้างแหล่งนํ้าขนาดเล็กให้ครอบคลุมทั้งประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 2-4 เดือน 24 ลุ่มนํ้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นปิง วัง ยม น่าน และที่เหลือทั้งหมด ควรสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ ตามสภาพความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์โดยมีระยะห่าง 2-5 กิโลเมตรต่อฝาย 1 ตัว ความสูง 2- 4 เมตร เนื่องจากเป็นฝายขนาดเล็กจึงไม่ติดขัดเรื่องการเวนคืนที่ดิน และการทำ EIA 

 

ทุกลำนํ้าในประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งเก็บนํ้าที่สมบูรณ์ตลอดปี นํ้าปริมาณมหาศาลนี้จะช่วยพยุงนํ้าใต้ดิน พยุงระดับนํ้าบนดินตลอดทั้งสองฟากฝั่งให้มีความชุ่มชื้นยาวนาน คืนความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ช่วยรักษาสภาพของลำนํ้า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ลดปัญหาไฟป่า ลดปัญหาโลกร้อน 

 

ฝายแกนซอยซีเมนต์ยังทำหน้าที่เหมือนคลองกระจายนํ้าขนาดใหญ่ได้ด้วย ซึ่งสามารถสูบนํ้าขึ้นจากทั้งสองฝั่งไปเติมแหล่ง นํ้าบนดินได้ นอกจากนี้ตลอดสองฟากฝั่งของทุกลำนํ้ายังสามารถสูบนํ้าด้วยโซลาเซลล์ขึ้นไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรกรได้อีกด้วย

 

ผมคิดว่าถ้าเวลานี้เรามาช่วยกันสร้างแหล่งเก็บกักนํ้าขนาดเล็กๆ ให้เต็มทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้าให้ตกไปให้ได้ภายใน 1 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะกลายเป็นคนชั้นกลาง (ในความหมายถึงรายได้ ไม่ใช่จิตสำนึก) ไปทันที กำลังซื้อและกำลังการบริโภคภายในประเทศจะมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะโตอย่างมีคุณภาพครับ