จ้างงาน 1 ล้านคน เดิมพันครั้งสำคัญ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’

22 ส.ค. 2563 | 03:10 น.

จ้างงาน 1 ล้านคน เดิมพันครั้งสำคัญ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย...บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,603 หน้า 10 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม 2563

 

นับถอยหลังวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ก็จะได้เห็นมาตรการชุดแรกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการว่างงาน ของคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่

 

คุณสุพัฒนพงษ์ ประกาศชัดว่ามาตรการที่จะออกมาจะมีการจ้างงานระยะสั้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 1 ล้านคนใน 2 ส่วนหลักๆ คือ บัณฑิตจบใหม่ 400,000 คน และคนที่ตกงานอยู่อีก 400,000 คน

 

เมื่อดูจากแนวคิดของคุณสุพัฒนพงษ์ พบว่ามาตรการแก้ปัญหาการว่างงานชุดใหม่ที่จะออกมานั้นจะมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยมีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ Co-payment เช่น ถ้าไปทำงานในบริษัทเอกชนรัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกินจำนวนเท่าไหร่ แต่จะไม่ใช้วิธีหักลดหย่อนภาษีเหมือนที่เคยทำมา เพราะเห็นผลช้า

 

“คนตกงานจำนวนหนึ่งจะมีมาตรการภายใต้เงินงบประมาณปี 2564 และมาตรการภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท หลักล้านตำแหน่งรวบรวมกันได้อยู่แล้ว แรงงานที่จะว่าจ้างในระยะสั้น ช่วง 12 เดือนหลังจากนี้ จัดหาให้ได้ แต่ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการด้วย”

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการว่างงานเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข จากข้อมูลของสภาพัฒน์พบว่า สถานการณ์การว่างงานในขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีผู้ว่างงานสูงถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติและเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ ไตรมาส 2 ปี 2552

 

จ้างงาน 1 ล้านคน เดิมพันครั้งสำคัญ  ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’

 

 

สภาพัฒน์ชี้ว่าหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแรงงานถูกเลิกจ้างและใช้สิทธิ์ประกันสังคมกว่า 4.2 แสนคน ที่เหลืออีก 1.76 ถึง 1.8 ล้านคน แม้จะมีงานทำแต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการได้รับการเยียวยาและชดเชยจากระบบประกันสังคม คนกลุ่มนี้แม้จะมีงานทำ แต่มีความเสี่ยงถ้าเปิดเมืองไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ฟื้น สถานประกอบการอาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือต้องปิดกิจการในช่วงที่เหลือ 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ รัฐบาลจะดึงเอกชนให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาการว่างงานอย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาการว่างงานด้วยการอัดฉีดเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้หน่วยงานรัฐหลายแห่งนำไปใช้จ้างงานระยะสั้น 

 

ไม่ว่าจะเป็น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,805 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน 4,787ล้านบาท โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) วงเงิน 169.8 ล้านบาท 

 

 

 

โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) วงเงิน 15 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า วงเงิน 741.58 ล้านบาท โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1,080.58 ล้านบาท โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการวงเงิน 2,701.87 ล้านบาท โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน วงเงิน 246.69 ล้านบาท

 

แต่ดูเหมือนว่าโครงการเหล่านี้กลายเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหรือผู้ที่กำลังว่างงานให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะมีงานทำ มีรายได้ 

 

การดึงเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาการว่างงาน ของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ครั้งนี้จึงถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ