วิกฤติน้ำแล้ง! เขย่าขาฐานผลิตไทย(มีคลิป)

18 ม.ค. 2563 | 23:00 น.

 

ตั้งหน้านับถอยหลังกันเลยทีเดียว เรียกว่าลุ้นระทึกก็ไม่ผิดไปจากนี้  หากมองในแง่ภาคการผลิตที่ออกมายอมรับว่าปัญหาภัยแล้งภาคเอกชนมองภาพขาดมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังออกเสียงไปทำนองว่าสามารถรับมือได้ พอเข้าสู่เดือนมกราคม 2563  เสียงเริ่มแผ่วลง เพราะแล้งปีนี้ทำท่าจะรุนแรง  งานนี้ทำเอาผู้ประกอบการนั่งไม่ติด โดยเฉพาะกลุ่มทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านเศรษฐกิจ   เป็นศูนย์รวมของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ส่วนใหญ่เคยเผชิญวิบากกรรมร่วมกันมาแล้วจากภัยแล้งจนน้ำขาดแคลนครั้งใหญ่เมื่อปี 2548 

วิกฤติน้ำแล้งปี 2548 ถือว่าสะเทือนความเชื่อมั่นด้านการลงทุน เพราะหลายบริษัทต้องลดกำลังการผลิตลงมีออร์เดอร์เข้ามา แต่ก็ไม่สามารถเดินการผลิตได้เต็มที่ หลังจากภาครัฐออกมาขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนชะลอหรือลดการผลิตลงเพื่อให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือน ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในขณะที่โรงงานผลิตไม่สามารถหยุดเดินเครื่องได้ ก็ต้องปรับแผนกันจ้าละหวั่น วิ่งหาแหล่งน้ำสำรอง  เช่นเดียวกับวิกฤติน้ำปี 2563  ถ้ารับมือไม่ทันก็หนีไม่พ้นซ้ำรอยเดิมแน่นอน เพราะเวลานี้อ่างเก็บน้ำหลักในภาคตะวันออกโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในจังหวัดระยองปริมาณน้ำลดระดับลงต่อเนื่องแล้ว(ดูคลิป)

ชลบุรี-ระยองศูนย์รวมโรงงานผลิต

ต้องจับตาให้ดี โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ใน 2 พื้นที่หลักอย่างจังหวัดระยองและ ชลบุรี เป็นศูนย์รวมของโรงงานขนาดใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี โรงกลั่น และอุตสาหกรรมอื่นๆ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ,สวนอุตสาหกรรม และ เขตอุตสาหกรรม(ดูกราฟิก) ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตประกอบการอีกจำนวนหนึ่ง

วิกฤติน้ำแล้ง!  เขย่าขาฐานผลิตไทย(มีคลิป)

ล่าสุดสัญญาณเตือนภัยวิกฤติแล้งมาแน่   เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำหลัก มีน้ำทะเลหนุนจนเกิดภาวะน้ำกร่อย ก็ไม่สามารถนำไปใช้ในภาคการผลิตได้ เนื่องจากมีโซเดียมคลอไรด์(เกลือ)  เมื่อนำน้ำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องทำน้ำให้บริสุทธิ์ก่อน  ถ้าน้ำเค็มเกลือแกงจะตกตะกอนทำให้เครื่องจักรพัง คุณภาพการผลิตลดลง

ต่อเรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปี 2563 ถือว่าภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี คราวนี้เดือนมกราคมก็เริ่มแล้ว จากที่ทุกปีภัยแล้งจะเริ่มต้นในช่วงไตรมาส 2 เกรงว่าจะซ้ำรอยปี 2548 ที่เกษตรกรเพาะปลูกไม่ได้ กระทบรายได้  ลามมาถึงการใช้น้ำในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต  บางจังหวัดอาจจะขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรมเสียสละปันน้ำให้ภาคครัวเรือนใช้ก่อน ทำให้โรงงานต้องหันไปหาแหล่งน้ำสำรอง เช่น บ่อน้ำของชาวบ้าน หรือซื้อน้ำจากแหล่งต่างๆของภาคเอกชน  เวลานี้เห็นชัดเจนว่าผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้นเพราะต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำเพิ่มขึ้น

หันพึ่งน้ำบาดาลมากขึ้น

สอดคล้องกับนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)สายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ช่วงเดือนธันวาคม 2562 เป็นเดือนแรกที่ภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณเตือนว่าคุณภาพน้ำเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องเริ่มซื้อน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลของภาคเอกชน   หลังจากนั้นเริ่มเห็นน้ำจากอ่างเก็บน้ำมีลักษณะขุ่นมาก  กลายเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่ใช้น้ำ เพราะจะต้องนำน้ำไปผ่านกระบวนการกรองที่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เครื่องกรองทำงานหนักได้รับความเสียหาย มีภาระต้นทุนเพิ่มเข้ามา

“เราต้องเรียนรู้เหตุการณ์จากเมื่อปี 2548  โดยปี 2563 รัฐบาลต้องรับมือให้ได้เพราะมีบทเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)เสนอให้ภาครัฐรณรงค์สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1 อ่าง 1 จังหวัด  รวมถึงการแปลงน้ำกร่อยให้เป็นน้ำจืด ทำให้เป็นแผนรับมือระยะยาว เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ใช้น้ำทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม  สมมติว่า ถ้าฝนตกมา 100 คิว ทุกวันนี้เราเก็บน้ำไว้ได้เพียง 10%  ดังนั้นถ้าสามารถเก็บน้ำฝนได้ถึง 20% ก็น่าจะเป็นปริมาณน้ำฝนที่เก็บไว้ใช้ได้ตลอดแล้ง”

สำหรับทางออกของส.อ.ท.ในระยะสั้นนี้ จำเป็นต้องหันไปพึ่งการใช้น้ำบาดาลมากขึ้น และพึ่งน้ำจากลุ่มน้ำที่น้ำเค็มไปไม่ถึง ซึ่งยอมรับว่าสมาชิกส.อ.ท.ที่มี 12,000 รายส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิต จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) จำนวน 6,000 ราย และเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กประมาณ 2,000 ราย ที่เหลือเป็นสมาชิกสมทบหรือนิติบุคคลอื่นอีกประมาณ 3,000-4,000 ราย

ด้านนายอิทธิ แจ่มแจ้ง  ประธานชุมชนหนองแฟบ เขตเทศบาล เมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง  กล่าวว่า ชุมชนหนองแฟบมีกว่า 400 ครัวเรือน มีประชากรราวมากกว่า 2,200 คน เมื่อปี2548 ชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบหนักในแง่น้ำสำหรับบริโภค  แต่ขณะนี้การใช้น้ำเพื่อบริโภคในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ  แต่เชื่อว่าถ้าแล้งต่อเนื่องยาวกว่าทุกปีก็คงได้รับผลกระทบด้วยในระยะต่อไป เพราะเวลานี้อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลปริมาณน้ำลดระดับลงแล้ว  และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน น่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ใช้น้ำปริมาณมาก

วิกฤติน้ำครั้งนี้กำลังเขย่าขาฐานการผลิตไทย  ทำเอาผู้ประกอบการนั่งไม่ติด ลุ้นปริมาณนำ้รายวัน ขอฝนฟ้าลงมาช่วย ไม่เช่นนั้นแล้ว นอกจากจะซ้ำรอยเดิมปี 2548 จนทุกภาคส่วนแย่งการใช้นำ้ ยังไปซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้อีก ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสุดท้ายล้วนเป็นเรื่องความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในประเทศไทยทั้งสิ้น!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย      : TATA007

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถม5แสนล้านแก้แล้ง ดัน23เมกะโปรเจ็กต์กู้วิกฤติงัดก.ม.คุมจัดสรรน้ำ
เอกชนหวั่นวิกฤติน้ำซ้ำรอยปี2548
13 อ่างเก็บน้ำชลบุรีเสี่ยงน้ำลดฮวบเหลือไม่ถึง40%
ภัยแล้งลามไร่อ้อย ชาวไร่ทุกข์หนักปัจจัยลบรุมกระหน่ำ
แล้งลามฟาร์มหมู-ไก่อ่วม แห่ซื้อ‘นํ้าใช้’ดันต้นทุนพุ่ง