เอกชนหวั่นวิกฤติน้ำซ้ำรอยปี2548

12 ม.ค. 2563 | 05:00 น.

 

วัดอุณหภูมิความกังวลกันแล้ว  ปีนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน  ภาคท่องเที่ยว เกษตร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม ต่างวิตกถึงปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะลามมาสู่วิกฤติน้ำ   ที่ส่วนใหญ่ยังจดจำภาพเก่าที่ต่างวิ่งวุ่นหาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดรอบๆ ที่มีแหล่งน้ำใหม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ชาวบ้านขุดในพื้นที่ตัวเองเพื่อเก็บน้ำขาย ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมก็วิ่งจัดสรรน้ำใช้ผลิตและกักตุน  เนื่องจากการเดินเครื่องจักรไม่สามารถหยุดผลิตได้  อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องใช้น้ำต่อวันในปริมาณมาก  ภาคปศุสัตว์ต้องลดการใช้น้ำลงพร้อมกับลดการผลิต

สถานการณ์ดังกล่าวแม้แต่กรมชลประทาน นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 ออกมา เปิดเผยว่า ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ยอมรับว่าปี 2562 ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30%  ถ้าวัดจากค่าปกติ ที่จังหวัดระยอง  โดยปริมาณน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำลดลงทุกแห่ง(ดูกราฟิก)

สำหรับความจุของอ่างเก็บน้ำ จากแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง  ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำหลัก เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลที่มีความจุอ่าง  164 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีความจุอ่าง  79  ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีความจุอ่าง 40 ล้านลบ.ม.   อ่างเก็บน้ำคลองระโอก มีความจุอ่าง 19 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีความจุ  295 ล้านลบ.ม.  ปัจจุบันน้ำเพื่อการประปาและเพื่อภาคอุตสาหกรรมจะใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งคืออ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำประแสร์  และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองระโอก จะป้อนให้กับภาคเกษตรทั้งหมด

ปัจจุบันถ้าโฟกัสที่อ่างเก็บน้ำแล้ว  เฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกรายและอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ทั้ง 3 อ่างเก็บน้ำดังกล่าว มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 135 ล้านลบ.ม.ในจำนวนนี้มาจากปริมาณน้ำในแต่ละอ่าง จำนวน 78 ล้านลบ.ม. ที่เหลือมาจากที่มีน้ำฝนที่ไหลลงอ่างฯ แต่ละแห่งรวมจำนวน 57 ล้านลบ.ม.

 เอกชนหวั่นวิกฤติน้ำซ้ำรอยปี2548

กรมชลฯรับมือด่วน 2 ด้าน

สำหรับแผนรับมือล่าสุดของกรมชลประทาน  มี 2 ส่วนหลัก คือ 1.กรมชลประทานได้กำหนดแผนใช้น้ำรายวันโดยทุกภาคส่วนจะต้องใช้น้ำวันละ 1.117 ล้านลบ.ม.  หากใช้ได้ตามนี้  จะสามารถใช้น้ำได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ 78 ล้านลบม.ที่ยังไม่รวมน้ำผันมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีก 62  ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงอ่างฯปกติตามเกณฑ์ต่ำสุดอีก 57 ล้านลบ.ม. ดังนั้นเมื่อรวมปริมาณน้ำทั้ง 3 อ่างฯ จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ได้ในปริมาณ 197 ล้านลบ.ม.

2. หลังเดือนมิถุนายน 2563  ถ้าฝนยังไม่ตก กรมชลประทานเตรียมผันน้ำ 3 ด้าน คือ ผันน้ำมาจากคลองสะพาน ที่เป็นแหล่งน้ำของชาวบ้านจะผันได้จำนวน 20 ล้านลบ.ม.ตามเกณฑ์ต่ำสุดต่อเดือน  และผันน้ำมาจากคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี จะผันได้จำนวน 14 ล้านลบ.ม. รวมถึงเอามาจากน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำประแสร์จำนวน 20 ล้านลบ.ม.ตามเกณฑ์ต่ำสุดต่อเดือน จะได้น้ำที่ผันมาเพิ่มมาใส่ใน 3 อ่างเก็บน้ำ ก็จะสามารถยืดเวลาได้อีก 2 เดือนจากเดือนมิถุนายน ขยับได้ถึงเดือนสิงหาคม2563 ก็จะพอดีกับฤดูฝน

 เอกชนหวั่นวิกฤติน้ำซ้ำรอยปี2548

จากการสำรวจเสียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นพบว่าหากประมวลตามสถานการณ์ภัยแล้งปี2563  จะวิกฤติหนักกว่าปี2548  แต่สามารถรับมือได้เนื่องจาก ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำเพิ่มมาใหม่ 2 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำประแสร์ และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  รวมถึงมีระบบเชื่อมโยงน้ำที่ดียิ่งขึ้นกว่าวิกฤตน้ำครั้งก่อน ซึ่งในขณะนั้นอ่างเก็บน้ำประแสร์ก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์

ภาคเอกชนเริ่มกังวลน้ำขาด

เมื่อโฟกัสมาทางด้านภาคเอกชน ที่ต้องใช้น้ำในภาคการผลิต  แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก  เปิดเผยว่า  รู้สึกกังวล กลัวจะเกิดปัญหาวิกฤติน้ำภาคตะวันออกแบบปี 2548  นอกจากนี้ล่าสุดยังมีผู้ประกอบการบางรายมีการใช้น้ำไม่ตรงตามที่กรมชลประทานขอความร่วมมือ ที่ขอให้ใช้น้ำต่อวัน 1.117 ล้านลบ.ม.  แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังใช้น้ำต่อวันสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่

“หากใช้น้ำเกินแผนที่ตั้งไว้ก็ควรไปใช้ในแหล่งน้ำของตัวเองที่เก็บไว้และควรนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น  เกรงว่าถ้าขาดน้ำใช้ จะเดือดร้อน เพราะเคยมีประสบการณ์ต้องลดการผลิตลงโดยเฉพาะหลายโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นเลือดใหญ่ด้านการผลิต”

การตื่นตัวของปัญหาการใช้น้ำในช่วงภัยแล้งนี้ก่อนหน้านั้นโครงการชลประทานชลบุรีก็ออกมารับมือ เพราะ เป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะต้องนำไปป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิต และปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 13 แห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ถูกจัดสรรการใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค จำนวน 47 ล้านลบ.ม. เป็นสัดส่วนที่มากสุด รองลงมาจัดสรรสำหรับภาคการเกษตรจำนวน 25 ล้านลบ.ม. และใช้สำหรับภาคการผลิตจำนวน 19 ล้านลบ.ม. ที่เหลือเป็นน้ำเพื่อการอื่นๆ(รั่วซึม,น้ำสำหรับเลี้ยงท้ายอ่างฯเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ )จำนวน 18 ล้านลบ.ม.  ซึ่งล่าสุกมีกระแสข่าวในพื้นที่ว่าทางระยองและชลบุรีจะลดปริมาณการจ่ายน้ำไปยังพัทยาที่ปัจจุบันพัทยาใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยวและประปาครัวเรือน วันละ 2 แสนลบ.ม.ต่อวัน โดยใช้น้ำจาก 5 แหล่งน้ำหลักในจังหวัดชลบุรี ไล่ตั้งแต่จากอ่างเก็บน้ำชากนอก อ่างเก็บน้ำห้วยสะพาน อ่างเก็บห้วยขุนจิต อ่างเก็บน้ำมาบประชันและอ่างเก็บน้ำหนองกลางดง ใช้น้ำจากแหล่งดังกล่าวผ่านการประปาภูมิภาครวมกันจำนวน 1 แสนลบ.ม. โดยการประปาคิดค่าน้ำลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ และอีก 1 แสนลบ.ม.ใช้จากแหล่งน้ำของการประปาภูมิภาคและน้ำจากจังหวัดระยอง

หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ  รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำจากภาคส่วนต่างๆเริ่มขยับตัวรับมือกับวิกฤติน้ำที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะภาคเอกชน ดูจากหลายนิคมอุตสาหกรรมต่างออกแรงรับมือน้ำอย่างแข็งขันเพราะเกรงว่าปีนี้จะซ้ำรอยวิกฤติน้ำปี2548

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย      : TATA007