ถม5แสนล้านแก้แล้ง ดัน23เมกะโปรเจ็กต์กู้วิกฤติงัดก.ม.คุมจัดสรรน้ำ

17 ม.ค. 2563 | 07:05 น.

รัฐลุยแผนปี 63-65 เร่งดัน 23 เมกะโปรเจ็กต์นํ้าสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินกว่า 5 แสนล้าน เล็งใช้กฎหมายคุมเข้มจัดสรรนํ้าครั้งแรก หลัง 15 เขื่อนจ่ายนํ้าเกินแผนหวั่นไม่พอใช้ “ณรงค์ชัย” แนะรัฐฉวยบาทแข็ง-ดอกเบี้ยตํ่าเร่งลงทุนโครงการนํ้า

 

ประเทศไทยประสบภัยพิบัติภัยแล้ง-นํ้าท่วมซํ้าซาก รัฐบาลได้ทุ่มงบจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในชุดที่ผ่านมาจึงได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 20 ปี (ปี 2561-2580) เป็น 1 ใน 3 เสาหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศ ประกอบด้วย เสาแรก คือ กฎหมาย ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562

เสาที่ 2 “แผนแม่บท” และเสาที่ 3 หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการนํ้าที่มีเอกภาพ ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ 46/2560 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศ ลดความซํ้าซ้อนของหน่วยงานด้านนํ้าที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวงในอดีต

ถม5แสนล้านแก้แล้ง  ดัน23เมกะโปรเจ็กต์กู้วิกฤติงัดก.ม.คุมจัดสรรน้ำ

เร่งแผนปี 63 แก้แล้ง-ท่วม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง สทนช. ได้ดำเนินงานมาก่อนที่แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าจะได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เมื่อแผนแม่บทคลอดออกมาจึงนำมาใช้ย้อนหลัง นับปีเริ่มต้นคือปี 2561 โดยได้วางกรอบนโยบาย ปรับดัชนีชี้วัด และปรับเป้าหมายกันใหม่ในแผน 20 ปี แบ่งเป็น 5 ปีแรก (ปี 2561-2565 ) กำหนดเป็นปีที่ 1 ส่วนปีที่ 2 (ปี 2566-2570) ปีที่ 3 (ปี 2571-2575) และปีที่ 4 (ปี 2576-2580)

สำหรับในปีแรก (ปี 2561-2565) จะเร่งดำเนินโครงการที่มีศักยภาพรวม 30 โครงการ วงเงินกว่า 5.5 แสนล้านบาท ช่วยเพิ่มนํ้าต้นทุนทั่วประเทศ 5,094 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ 7.4 ล้านไร่ (ในจำนวนนี้เป็นโครงการแก้ภัยแล้ง 23 โครงการ วงเงินรวม 5.09 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นโครงการแก้ปัญหาด้านอุทกภัย (ดูกราฟิกประกอบ)) แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2563 รวม 11 โครงการ วงเงินกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท ใช้งบผูกพันประจำปีของกรมชลประทาน โดย ครม.ได้เห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มนํ้าห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร วงเงิน 7,445 ล้านบาท เป็นต้น

 

 เล็งกู้ลงทุน 4.7 แสนล้าน

ส่วนในปีงบประมาณ 2564 มี 10 โครงการ วงเงินกว่า 1.57 แสนล้านบาท เตรียมนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในเร็ว ๆ นี้ โครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน-ตาก วงเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มนํ้าต้นทุน 1,795 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.61 ล้านไร่ ล่าสุดโครงการนี้กรมชลประทานรายงานว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่ผ่าน อาจจะต้องเลื่อนไปปี 2565เป็นต้น

ปีงบประมาณ 2565 มี 9 โครงการ วงเงินกว่า 3.18 แสนล้านบาท โครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการ ผันนํ้า โขง เลย ชี มูล (ระยะที่ 1) วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท เพิ่มนํ้าต้นทุน 1,900 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.69 ล้านไร่ และโครงการคลองระบายนํ้าหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย พื้นที่สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ วงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มนํ้าต้นทุน 50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.4 ล้านไร่ เป็นต้น

“19 โครงการในแผนปี 2564-2565 รวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท อาจต้องใช้เงินกู้ ไม่เช่นนั้นโครงการอาจจะไม่เป็นไปตามแผน เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งแต่ละโครงการพยายามเร่งเต็มที่ เพื่อเก็บนํ้าไว้ในหน้าฝนปีนี้”

ถม5แสนล้านแก้แล้ง  ดัน23เมกะโปรเจ็กต์กู้วิกฤติงัดก.ม.คุมจัดสรรน้ำ

 

 

งัดกม.คุมเข้มจัดสรรนํ้า

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามี 15 เขื่อนจ่ายนํ้าเกินแผนงาน ซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบกันทั้งหมด จากเวลานี้มีการปลูกข้าวเกินแผนการใช้นํ้ามาก (เกินแผนกว่า 3 ล้านไร่) มีทั้งเกษตรกรและนักการเมืองมากดดันให้เขื่อนปล่อยนํ้า จึงทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่ต้นฤดูดังนั้นจากนี้พื้นที่ปลูกพืชต้องไม่เพิ่ม หากปล่อยให้เป็นแบบนี้นํ้าไม่พอใช้แน่ ดังนั้นอาจมีการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ.2561 มาตรา58 คือประกาศพื้นที่ควบคุมการใช้นํ้า จะมีแบ่งชัดเจนว่าเป็นนํ้าใช้ภาคส่วนใด เพื่อภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ อย่างชัดเจน หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม หรือขัดขวางโดยกระทำการใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถม5แสนล้านแก้แล้ง  ดัน23เมกะโปรเจ็กต์กู้วิกฤติงัดก.ม.คุมจัดสรรน้ำ

ฉวยบาทแข็งเร่งลงทุนเก็บนํ้า

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรจะอาศัยจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าและดอกเบี้ยในประเทศตํ่า ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังขาดอยู่มาก โดยเฉพาะระบบนํ้าที่ควรลงทุนกระจายไปทั้งประเทศ เพราะนอกจากจะสามารถระดมทุนในประเทศด้วยต้นทุนตํ่า สามารถออกพันธบัตรระยะยาว 20-30ปี ไปได้เป็นการล็อกต้นทุนระยะยาวด้วย โดยไม่ต้องห่วงภาระนี้สาธารณะ เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับกรอบวินัยการคลังที่สูงถึง 60% นอกจากนั้นหากต้องซื้ออุปกรณ์ เครื่องจักรจากต่างประเทศก็จะได้ราคาตํ่าลง จากเงินบาทที่แข็งค่าอีกด้วย และยังเป็นการผลักให้เงินไหลออกด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563