‘Innovative Disruption’ ผลกระทบต่อกฎหมาย ที่ยังขาดความสนใจในสังคมไทย

20 ต.ค. 2562 | 02:00 น.

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20-23 ตุลาคม 2562

 

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเกือบทุกอย่างในการใช้ชีวิต แน่นอนว่าย่อมต้องนำมาทั้งข้อดีและข้อเสีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกเริ่มตื่นตัวต่อผลกระทบจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะตลาดแรงงานในกลุ่มต่างๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า หุ่นยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะถูกนำมา ใช้ทดแทนแรงงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งท่านผู้อ่านเองก็คงจะได้พบเห็น หรือมีประสบการณ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่มากก็น้อย เช่น ปัจจุบันการทำธุรกรรมกับทางธนาคารหรือแม้แต่การติดต่อหน่วยงานภาครัฐสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เดิมเคยทำหน้าที่ดังกล่าวถูกลดจำนวนลงไปอย่างมาก นี่ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์เราหลายสิบปีแล้ว หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการมุ่งหานวัตกรรมใหม่ หรือเป็นเรื่องของความพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดหรือขีดจำกัดในความรู้เดิมๆ ที่เรียกว่า Frontier Research

การพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องทำให้ทุกปีมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายๆ เรื่องถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นที่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้อัตโนมัติ เครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานเอง รถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึงคุณหมอ AI อย่างผิงอัน (Ping An) ของจีน ที่เป็นตู้คลินิกอัตโนมัติที่นำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาให้บริการกับประชาชน

ในขณะที่วิทยาศาสตร์ลํ้าหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ อันจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในซีกของงานวิจัยทางกฎหมายกลับไม่ได้มีการเตรียม การรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่นักวิชาการทางกฎหมายมักพูดว่านักกฎหมายเป็นสถาปนิกของสังคม หรือเป็นคนที่วางโครงสร้างระบบสังคมเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ดูเหมือนว่าในภาวะปัจจุบัน นักกฎหมายเป็นเพียงช่างซ่อมแซมบ้านเฉยๆ เพราะการออกกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ไม่มีการพิจารณากฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี หรืออาจกล่าวในฝั่งการวิจัยกฎหมาย การทำ Frontier Research แทบจะไม่มีซึ่งเป็นความแตกต่างจากงานวิจัยในฝั่งวิทยาศาสตร์

หากจะพิจารณาผลกระทบซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีอันมีผลต่อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ควรได้รับการศึกษา ค้นคว้านั้นมีอยู่มากมายหลายประเด็น เช่น ในหลายบริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีการควบคุมปริมาณวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากหากพนักงานเกิดลืมสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิต จะส่งผลกระทบกับสายงานผลิตซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก


 

 

ในเรื่องนี้มีประเด็นกฎหมายที่น่าพิจารณาอยู่หลายประเด็น เพราะในการทำสัญญานั้น กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็น การกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ซึ่งบุคคลที่กำหนดในกฎหมายนี้อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่กรณีที่คอมพิวเตอร์ทำคำสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้าโดยอัตโนมัติ ถือเป็นสัญญาหรือไม่ เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ใช่บุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้าหากจะพิจารณาว่ามีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องในการลงโปรแกรมกำหนดคำสั่งซื้อดังกล่าว ระยะเวลาที่จะนับอายุความ จะเริ่มนับตั้งแต่มีการลงโปรแกรม หรือจะนับอายุความจากวันที่คอมพิวเตอร์มีการสั่งซื้อ และจะถือว่าสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใด

 

‘Innovative Disruption’  ผลกระทบต่อกฎหมาย  ที่ยังขาดความสนใจในสังคมไทย

 

 ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่กฎหมายควรกำหนดถึงการดำเนินการใดๆ ที่กระทำลงโดยสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ หากแต่เป็นการกระทำของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่ากฎหมายจะกำหนดรับรองการกระทำดังกล่าวอย่างไร

และเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปจนถึงจุดที่อุปกรณ์สมองกลต่างๆ สามารถมีความคิดในการประมวลผลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยตัวเองแล้ว แม้จะยังไม่ได้ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่ก็เริ่มมีการพัฒนาให้มีการขยายการใช้ในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น ปัจจุบันมีบริษัทที่ออก แบบรถที่สามารถขับได้โดยไม่มีผู้ขับ ซึ่งในอนาคตหากนำระบบที่ทำให้เครื่องยนต์สามารถประมวลผลและตัดสินใจได้แตกต่างไปจากที่ตั้งระบบไว้ หากรถดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ ความรับผิดเรื่องนี้จะตกอยู่กับผู้ใด ใช่ความรับผิดของเจ้าของรถหรือไม่ แต่หากพิสูจน์ได้ว่าการขับเคลื่อนของรถแตกต่างไปจากระบบหรือโปรแกรมที่ตั้งไว้ จะถือว่าเจ้าของรถไม่ได้ประมาท และเป็นเหตุให้เจ้าของรถไม่ต้องมีความรับผิดต่ออุบัติเหตุดังกล่าวหรือไม่

นอกจากนี้กรณีการรับอุ้มบุญที่ปัจจุบันกฎหมายไทยมีกฎหมายรับรองให้มีการอุ้มบุญแล้ว ในกรณีที่ไข่ที่นำมาผสมเป็นไข่ที่ได้จากบุคคลที่บริจาคโดยไม่ได้มีการระบุที่มาว่าเป็นของใคร แบบนี้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจะได้สัญชาติของแม่ที่เป็นผู้รับอุ้มบุญหรือแม่ที่บริจาคไข่ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและส่งผลกระทบหรือมีความแตกต่างจากกฎหมายที่เคยกำหนดไว้ในปัจจุบัน แต่เมื่อย้อนมาดูว่าการศึกษาวิจัยในปัจจุบันของนักกฎหมายเกือบทั้งหมดเป็นการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญญาที่มีอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วหากงานวิจัยที่จะจัดทำ ได้มีการทำร่วมกับสายงานวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่หากเกิดขึ้นแล้วมีความจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมายก็ควรที่จะเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการทำหน้าที่ให้สมกับที่เป็นสถาปนิกสังคมเหมือนกับที่พรํ่าสอนกันมา

 

ในความเห็นของผู้เขียนมองว่าประเด็นนี้จะแก้ไขได้คงต้องเริ่มจากสถาบันการศึกษา ที่อาจารย์ในสายนิติศาสตร์ต้องเปิดรับหัวข้องานวิจัยที่มีความท้าทาย ที่ไม่ติดอยู่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแล้วเท่านั้นในปัจจุบัน แต่รับที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับงานวิจัยหัวข้อที่มีความลํ้าสมัย โดยเฉพาะผลกระทบต่อตัวกฎหมายที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะหากอาจารย์เลือกที่จะให้คำปรึกษาแต่เฉพาะเรื่องที่ตนเองถนัด
(comfort zone) ซึ่งทำให้การทำวิจัยที่จะก้าวข้าม frontier research ในฝั่งกฎหมายนั้นเป็นไปได้ยาก หรือจริงๆ แล้วนักวิจัยสายกฎหมายควรเร่งขยายความร่วมมือกับนักวิจัยในสายอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น เพื่อหาจุดเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีและผลกระทบในทางกฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบการแก้ไขหรือออกบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งของการขาดการบูรณางานวิจัยทางกฎหมายร่วมกับศาสตร์อื่นๆ เช่น พฤติกรรมหลายอย่างที่เป็นการกระทำผ่านสื่อออนไลน์ที่กระทำต่อเด็กและเยาวชนยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาผิดการกระทำดังกล่าว หากงานวิจัยทางกฎหมายได้มีการทำวิจัยร่วมกับสายงานข้อมูลดิจิทัล สายงานจิตวิทยาเด็ก สายงานพฤติกรรมศาสตร์ และสายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การรับรู้ถึงผลกระทบของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจนำมาใช้กระทำกับเด็กได้ ควรจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับรู้ รับทราบ เพื่อวางมาตรการทางกฎหมายในการเตรียมการรับมือกับปัญหาที่สังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ แต่เนื่องจากงานวิจัยในสายกฎหมายมักจำกัดตนเองอยู่ในการศึกษาเฉพาะแต่ประเด็นกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นประเด็นที่เกิดปัญหาขึ้นจริงในปัจจุบัน การออกกฎหมายที่จะสามารถนำมาใช้บังคับเพื่อคุ้มครอง หรืออำนวยความผาสุกให้กับคนในสังคมจึงไม่สามารถที่จะทำได้อย่างทันท่วงที

หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรื่อง Innovative Disruption ที่จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายและประชาชนก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

‘Innovative Disruption’  ผลกระทบต่อกฎหมาย  ที่ยังขาดความสนใจในสังคมไทย