ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

03 มิ.ย. 2564 | 18:00 น.

เชียงใหม่ เปิดแผน CHARMING CHIANG MAI SANDBOX กลับมาเปิดท่องเที่ยว 1 ส.ค. นำร่องใน 4 อำเภอของเชียงใหม่ ก่อนขยายเต็มพื้นที่กลางต.ค. หวังกอบกู้รายได้ปีละแสนล้านคืน

เชียงใหม่ เปิดแผน CHARMING CHIANG MAI SANDBOX ลุ้น ศบค.ไฟเขียวกลับมาเปิดท่องเที่ยว 1 ส.ค. นำร่อง 4 อำเภอของเชียงใหม่โชว์เสน่ห์ล้านนา ก่อนขยายเต็มพื้นที่กลางต.ค. ปลุกความคึกคักทางเศรษฐกิจสร้างการจ้างงาน หวังกอบกู้รายได้ปีละแสนล้านคืน

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ประธานอาวุโสหอการค้าเชียงใหม่

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาสามระลอกส่งผลกระทบหนัก ทำให้รายได้ด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ที่เคยมีมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 43,000 ล้านบาท ในปี 2563 หรือลดลงเกือบ 57% จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ปี 2562 ก่อนที่จะเกิด Covid ระบาด มี 11.3 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ล้านคน ในปี 2563 ลดเหลือ 6.27 ล้านคน หรือลดลงประมาณ 50% ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งการบิน โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว บริษัททัวร์ รถเช่า มัคคุเทศก์ ห้างร้าน ถูกกระทบหนัก

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้แทนทีมงานด้านท่องเที่ยวและกองทุน We love Chiang Mai ได้เข้าเสนอขอเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 4 อำเภอ (เมืองเชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า) ในรูปแบบ Sand Box & Sealed Route (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฯ ที่ประชุมเห็นชอบ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม​ตามที่ทีมแพทย์แนะนำ ​เรื่องมาตรการความ ปลอดภัยและแผนการกระจายฉีดวัคซีน จากนั้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 จะนำเรื่องไปกลั่นกรองอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าประชุมคณะกรรมการศคบ.ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย ต้นเดือนมิถุนายน 2564 นี้

นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับแผน CHARMING CHIANG MAI SANDBOX นำร่องใน 4 อำเภอ โดยใช้เสน่ห์เชียงใหม่ช่วยท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน โดยเพิ่มเสน่ห์และความโดดเด่นหลากหลายของสินค้ากับบริการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจึงจะอยู่นานขึ้น

ข้อเสนอโมเดลเสน่ห์เชียงใหม่ แซนด์บอกซ์ ครั้งนี้ เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง มีกำหนดเปิดพื้นที่นำร่องใน 4 อำเภอของเชียงใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 นี้ ก่อนขยายเต็มพื้นที่จังหวัดในกลางเดือนต.ค.เป็นต้นไป โดยจะมี 2 ระบบเดินควบคู่กันไป คือ ระบบ Sand Box สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และระบบ Sealed Route สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วที่เข้ามาเที่ยวภูเก็ตแล้ว ให้มาเที่ยวต่อที่เชียงใหม่ตามเส้นทางที่กำหนด ไม่ได้ปล่อยให้ท่องเที่ยวอิสระ โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรการ SOP

ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

ทั้งนี้ พื้นที่ที่จะนำร่องเปิดรับการท่องเที่ยวใหม่ ต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ประชากรในพื้นที่นำร่องเขต Sand Box 4 อำเภอ ต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ของประชากรขึ้นไป หรือต้องฉีดวัคซีนจำนวน 286,383 คนขึ้นไป ส่วนผู้ให้บริการท่องเที่ยวต่างๆ ต้องฉีดวัคซีน ครบท้้ง 100% ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน SHA ยื่นสมัครเข้ามากว่า 1,000 ราย ผ่านการพิจารณาแล้ว 800 ราย อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาอีก 100 กว่าราย มีผู้ไม่ผ่านการประเมิน 14 ราย และภายในก.ค.นี้ต้องผ่านมาตรฐาน SHA+ คือ ฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 แล้ว

 

จากนั้นในกลางเดือนต.ค. 2564 จะขยายครอบคลุมครบทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับแผนการกระจายและจัดฉีดวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 1.63 ล้านคน จึงต้องมีแผนระดมฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 1.14 ล้านคนขึ้นไป ภาย ในสิ้นเดือนก.ย.นี้

ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

นายณรงค์กล่าวอีกว่า โมเดลเสน่ห์เชียงใหม่แซนด์บอกซ์เพื่อกลับมาฟื้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่นี้ คาดหวังว่า ช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เป็น 600,000 คน สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพิ่ม 18,000 ล้านบาท ที่จะกระจายในห่วงโซ่ธุรกิจ ท่องเที่ยวทั้งวงจร อาทิ ธุรกิจโรงแรม ห้องพัก จาก 2,500 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จาก 1,750 ล้านบาท เป็น 3,500 ล้านบาท การซ็อปปิ้ง-ของที่ระลึก จาก 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท แรงงานมีรายได้หมุนเวียน 1,500 ล้านบาท เกิดการจ้างงานด้านท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 60,000 ตำแหน่ง เป็นต้น

นายณรงค์ยํ้าว่า ถ้าเปิดการท่องเที่ยวกลับมาได้ จะช่วยหนุนการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากที่หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด ที่กระทบไม่เท่ากัน เช่น ตลาดสด สินค้าอุปโภคบริโภค กระทบบ้างแต่ไม่มาก จาก 15% เหลือ 11% บางประเภทหนักมาก เช่น ไมซ์ จากเดิมมีสัดส่วน 7% ของจีดีพี เหลือเพียง 1% อสังหาริมทรัพย์ก็แทบจะนิ่งสนิท เหลือแค่ 25% ยอดคนเข้าพักในโรงแรมก็ตกเหลือเพียง 10% บางรายเหลือ 2% ก็มี ตรงไหนที่พอขยับได้ต้องทำ

แผนจากนี้หลังขับเคลื่อนตัว Sand Box แล้ว คือ หาทางเปิดสายการบิน เป็นเส้นทางบินตรงกับประเทศหรือเขตที่ปลอดภัย เช่น ตลาดจีน เราต้องพยายามเปิดตัวนั้นให้ได้ ถ้าสำเร็จเชื่อว่าจะสามารถขยับได้ทั้งหมด 

ลุ้นศบค. ไฟเขียว เชียงใหม่‘แซนด์บอกซ์-ซีลด์รูท’ ฟื้นท่องเที่ยว

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,685 หน้า 10 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง