"ประกันสังคม" ชดเชยลูกจ้างร้านอาหาร ถูกห้ามลูกค้านั่งกินในร้าน

08 พ.ค. 2564 | 05:00 น.

สำนักงานประกันสังคม เผยเกณฑ์ชดเชยลูกจ้างร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามให้ลูกค้านั่งกินในร้าน โดยจ่ายชดเชยให้ 50 % ไม่เกิน 90 วัน

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงมาตรการในการเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์โควิด-19 หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ออกประกาศคุมเข้มใน 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ลูกจ้างในร้านอาหารต้องหยุดงานและขาดรายได้

เกณฑ์การจ่ายชดเชยมีดังนี้

1. กรณีว่างงานและขาดรายได้ที่เป็นเหตุสุดวิสัย’ ประกันสังคมจ่ายให้ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน (ยึดตามจำนวนวันที่รัฐออกประกาศ)โดยนายจ้างจะต้องออกเอกสารรับรอง รวบรวมข้อมูล และให้ลูกจ้างกรอกเอกสาร ‘แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน’

สามารถดาวน์โหลดจาก https://empui.doe.go.th/assets/doc/sos_2-017.pdf พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้างยื่นให้กับสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่

สำหรับกรณีที่ประกันสังคมกำหนดเข้าเกณฑ์การขาดรายได้ที่เป็น ‘เหตุสุดวิสัย’ ต้องมีองค์ประกอบ คือ รัฐสั่งให้หยุดกิจการ ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง

2. กรณีถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างปิดกิจการ ประกันสังคมจ่าย ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 200 วัน กรณีนี้ลูกจ้างจะต้องลงทะเบียนว่างงานและรายงานตัวกับประกันสังคมด้วยตัวเอง

ข่าวเกี่ยวข้อง: