"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทย ดันแผน5ปีพลิกกำไรปี68

24 ธ.ค. 2563 | 12:23 น.

"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทยออกไปอีก1เดือน รับเจรจาเจ้าหนี้ยังไม่เสร็จ ทั้งกางแผน5ปี ตั้งเป้าปี 68 พลิกเป็นกำไร โดยคาดว่าจะมีรายได้อยู่1.25 แสนล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เผยว่า คณะผู้ทำแผนจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายเวลาส่งแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ออกไปอีก 1 เดือน จากวันที่  2 มกราคม2564 เป็นวันที่2 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการที่การบินไทยมีสิทธิขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน

เนื่องจากในขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหน้าสถาบันการเงิน เรื่องการลดหนี้ ยืดหนี้ แฮร์คัทหนี้ ลดทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น ยัวสรุปไม่ได้

ทั้งนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาเบเกอร์ฯ ระบุว่าคาดว่าแผนฟื้นฟูการบินไทย จะเสนอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ได้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนได้ในช่วงกลางเดือนมีนาคมปี2564 และคาดว่าศาลจะพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยช่วงเดือนเมษายน ไม่เกินพฤษภาคมปี2564

ตามไทม์ไลน์ของแผนฟื้นฟูนี้หากศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบด้วยแผน ก็จะทำให้การบินไทยมีแหล่งเงิน เข้ามาดำเนินธุรกิจได้ต่อไป  ซึ่งปัจจุบันการบินไทยพยายามรักษากระแสเงินสดให้อยู่ได้นานที่สุด โดยแผนฟื้นฟูของการบินไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลภายในเดือนเมษายนไม่เกินพฤษภาคมปีหน้า ไม่เช่นนั้นการบินไทยจะลำบากมาก

เนื่องจากก่อนโควิด-19 การบินไทยมีรายได้ 14,500 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรายได้ไม่ถึง1พันล้านบาทต่อเดือน  ซึ่งบริษัทยังคงต้องเดินแผนหารายได้จากnon-flight และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทย ดันแผน5ปีพลิกกำไรปี68

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวต่อว่าขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเตรียมเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว การบินไทยยังจัดทำแผนส่วนอื่นควบคู่ไปกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอีกด้วย 

ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนธุรกิจ การกำหนดแผนการบิน ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายลง 

การดำเนินงานทั้งหลายมีรายละเอียดปลีกย่อยเป็นจำนวนมาก จึงต้องเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ สำหรับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และการกำหนดเงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น จะถูกพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่การบินไทยต้องล้มละลายอย่างแน่นอน

 โดยผู้ทำแผนจะรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ของเจ้าหนี้ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การบินไทยได้ประชุมหารือเพื่อรับฟังความเห็นของเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ และหากแผนฟื้นฟูกิจการถูกจัดทำขึ้นจนสมบูรณ์แล้ว บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดให้เจ้าหนี้ได้ทราบต่อไป 

 

การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหนี้และพนักงานทุกคน และแม้ว่าปัจจุบันการบินไทยยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ตามปกติ เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)

 ประกอบกับแต่ละพื้นที่ก็ได้ออกข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่การบินไทยมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะพยายามเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ต่อไป

ด้านนายนนท์ กลินทะ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน การบินไทย กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูการบินไทย จะเดินได้ต่อไป เรากำลังจะต้องทำให้ได้ใน3เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มรายได้ 2.การลดค่าใช้จ่าย ลดไขมัน และ3.ปรับปรับการทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล 

โดยการบินไทยจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ลดโครงสร้างองค์กรแบบเดิมที่มีลำดับชั้นมากมาย ทำให้กลายเป็นองค์กรที่มีลักษณะไซโล  ส่วนแผนธุรกิจในช่วง5ปีนี้ ในปี2564 การบินไทยจะทำการบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 45-55เมือง และในปี2568 จะบินเพิ่มได้เป็น75-80เมือง เพิ่มจากในปีนี้ที่การบินไทย บินได้15-25เมือง โดยส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินคาร์โก้

ขณะที่การใช้งานเครื่องบิน ในปีนี้ใช้อยู่17-25ลำ รวมสายการบินไทยสมายล์ ในปี64 จะใช้เครื่องบินได้37-45 ลำ และในปี2568 จะใช้เครื่องบินได้75ลำ จากจำนวนเครื่องบินทั้งหมด102ลำ

"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทย ดันแผน5ปีพลิกกำไรปี68

ดังนั้นฝูงบินการบินไทย ก็จะลดลงราว26% ส่วนรายได้ในปี68จะมีรายได้อยู่ที่125,000ล้านบาท ต่ำกว่าปี2560อยู่ที่19% แต่เราคาดว่าในปี68แม้จะมีรายได้ต่ำกว่าปี60อยู่ แต่จะมีกำไร

เนื่องจากการบินไทยเน้นบริหารจัดการลดต้นทุนลงราว36% และการเพิ่มรายได้ในปี64-65ที่จะเพิ่มรายได้จากnon-flight และรายได้จากการทำการบินที่น่าจะกลับมาอยู่ที่60-70% 

รวมถึงมีการขอปรับลดค่าเช่าและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน รวมทั้งจะมีความสามารถทำกำไรดีขึ้น โดยอัตรากำไรต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) จะกลับมาเป็นบวก 0.1 บาท/ที่นั่ง จากก่อนช่วงโควิด หรือในปี 62 ที่อยู่ในระดับติดลบ 0.2 บาท/ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้น140%

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ดำเนินการปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งทำให้ภายในปี 68 คาดว่าจำนวนพนักงานจะปรับลงเหลือประมาณ 1.3-1.5 หมื่นคน จาก 2.9 หมื่นคนในปี 62 หรือลดลง 52%

นายเชิดพงษ์ โชติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง การบินไทย กล่าวว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อยู่ระหว่างเจรจากับผู้สนใจเข้าร่วมทุน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเริ่มดำเนินการหลังจากแผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลาง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

การบินไทย ไม่จบยืดแผนฟื้นฟู ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้

การบินไทย ดิ้นหาเงิน โละเครื่องบิน 42ลำ ขายที่3แปลงหมุนสภาพคล่องปี64

‘การบินไทย’ เปิด Together We Can 2 ขยายเวลาลดเงินเดือน-ลาหยุดไม่รับเงิน

การบินไทย เผย ตารางบินใหม่ เปิด 10 เส้นทางบินไตรมาสแรกปี64