ทุ่ม 8,000 ล้านตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ‘บีโคลฟ’   

04 ต.ค. 2563 | 03:10 น.

“คิวบี เมดิคอล” ทุ่ม 8,000 ล้านบาท ปักหมุดโรงงานผลิตถุงมือยาง “บีโคลฟ” จ.ชลบุรี ปูพรมป้อนตลาดโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง วอนรัฐคุมต้นทุน ปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการส่งออก

นายธนาเดช ศิลปวิศวกุล และนายรุจิภาส ธนภัทรชัยทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวบี เมดิคอล จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการผลิตถุงมือยางทุกชนิดไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้ใช้ ทำให้เกิดการซื้อขายที่เกินราคาและมีสินค้าที่ด้อยคุณภาพ สินค้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งสินค้าปลอมออกสู่ตลาดเป็นจำนวน ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางการตลาด และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

 

จึงผนึกความร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท คิวบี เมดิคอลขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน 50:50 เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางสังเคราะห์หรือถุงมือไนไตรล์ (Nitrile Gloves) และถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Glove) ภายใต้แบรนด์ “บีโคลฟ” (BQLOVE) ด้วยเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสำหรับก่อสร้าง 800 ล้านบาท เครื่องจักร 5,600 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภคและอื่นๆ อีกราว 1,700 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 73.5 ไร่ ภายในอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น จังหวัดชลบุรี

ทุ่ม 8,000 ล้านตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ‘บีโคลฟ’   

ประกอบด้วย 6 อาคาร เครื่องจักร 32 ไลน์การผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ระบบออโตเมติก โดยมีทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศเป็นผู้ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูล เพื่อให้ได้ถุงมือยางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับการรับรองจากสถาบันต่างๆ โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2563 เริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีกำลังการผลิตถุงมือไนไตรล์ประมาณ 1,000ล้านชิ้นต่อเดือน ประกอบด้วยถุงมือยางหลากหลายประเภท ได้แก่ ถุงมือสำหรับการผ่าตัด (Surgical Glove), ถุงมือสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Golve), ถุงมือสำหรับการตรวจโรค (Examination Glove), ถุงมือชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Glove) ฯลฯ

 

“เบื้องต้นการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนการเงินจากกลุ่มแต้ล้งฮั้ว ทำให้ธุรกิจครั้งนี้สำเร็จได้อย่างราบรื่น โดยโรงงานจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เน้นการผลิตเพื่อส่งออก 80% ทั้งตลาดในยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง และจำหน่ายในประเทศ 20% ซึ่งเชื่อมั่นว่าด้วยคุณภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”

 

ทั้งนี้บริษัทได้แต่งตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 2 บริษัท คือ บริษัท ภัสรุจ เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท รสิพัชร์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 2564 โดยตั้งเป้าที่จะมียอดขายประมาณ 9,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

 

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาถุงมือยางเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศจำนวนมาก แต่ต้องพบกับปัญหาที่สินค้าไม่ได้มาตรฐาน การนำสินค้ามือสองมาขายใหม่ รวมทั้งสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าจริง ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนทั้งด้านการส่งเสริมการส่งออก การปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบด้วย

 

สำหรับนายรุจิภาส ธนภัทรชัยทัต เป็นทายาทรุ่นที่ 3 กลุ่มแต้ล้งฮั้ว (TLH) หนึ่งในตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดระยอง เริ่มต้นทำธุรกิจโรงงานยาสูบ (ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว) ขณะที่ลูกหลายมีธุรกิจในหลายจังหวัด ทั้งโรงงานบรรจุข้าวสาร โรงแรม นำเข้า/ส่งออก ผลิตแบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์ Durrianar จำหน่ายในKing power และส่งออกต่างประเทศ ขณะที่คุณพ่อทำบริษัทกระจกรถยนต์และฟิล์มกรองแสงในนาม (TLH Autoglass)

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนปักหมุดตั้ง "โรงงานถุงมือยาง" กว่า 5 พันล้านบาท

ระวัง ! มิจฉาชีพหลอก เป็นนายหน้าขายถุงมือยางในมาเลย์

อาหาร-การแพทย์รุ่ง ขอบีโอไอ 2.8 หมื่นล้าน