"การบินไทย" บี้ลดต้นทุน ให้หยุดงานไม่รับเงิน

26 ก.ค. 2563 | 00:40 น.

 “การบินไทย” วางหลักเกณฑ์ใหม่ ขอความร่วมมือพนักงานลดเงินเดือน ยาวไปถึงเดือนธ.ค.นี้ โดยซอยอัตราการปรับลดให้กว้างขึ้นตามฐานเงินเดือนที่พนักงานพอสู้ไหว จูงใจพนักงานทุกระดับร่วมโครงการ ทั้งเร่งเจรจาเจ้าหนี้ สกัดคนยื่นคัดค้าน ด้านเอเย่นต์ตั๋วเครื่องบิน จ่อยื่นศาลขอพิทักษ์กรณีค้างเงินรีฟันด์ตั๋ว

จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ “การบินไทย” อยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ปัจจุบันบริษัทฯ ผิดชำระหนี้สถาบันการเงิน และหุ้นกู้ มูลค่ารวม 8.5 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สิน 3.54 แสนล้านบาท ขณะนี้การบินไทย เร่งเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอเสียงโหวตสนับสนุนให้ “การบินไทย” ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.นี้ เนื่องจากหวั่นว่าหากมีผู้ยื่นคัดค้าน จะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯอาจไม่เพียงพอ จากระยะเวลาของกระบวนการฟื้นฟูที่จะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงการบินไทย ยังจะจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ ภายใต้โครงการ Togerther We Can ในการขอความร่วมมือกับพนักงานในการลดเงินเดือน ยาวไปถึงเดือนธ.ค.นี้ โดยซอยอัตราในการปรับลดเงินเดือนให้กว้างขึ้น เพื่อจูงใจพนักงานในทุกระดับร่วมโครงการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

หลักเกณฑ์ใหม่ลดเงินเดือน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดโครงการให้พนักงานการบินไทยร่วม 2.1 หมื่นคน แสดงความจำนงค์สมัครใจลดเงินเดือนในช่วง มิ.ย.-ส.ค.นี้ พบว่า มีพนักงานเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 6.1-7.2 พันคน ทำให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 118-147 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเข้าใจได้ว่าพนักงานที่ฐานเงินเดือนน้อย การขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือน 10% ตามประกาศปัจจุบันคงเป็นเรื่องยาก ทั้งๆพนักงานหลายคนก็อยากจะให้ความร่วมมือกับการบินไทยในการฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รื้อใหญ่‘การบินไทย’  ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร  กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ 

"การบินไทย" จ่อรื้อใหญ่ สายพาณิชย์

แผนฟื้น "การบินไทย" ระอุ ล็อบบี้เจ้าหนี้ในปท.ทำแผนฟื้นฟูแข่ง

ทำให้การบินไทย มีแนวคิดจะวางหลักเกณฑ์ใหม่ ภายใต้โครงการ Togerther We Can ที่จูงใจและปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการร่วมมือ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ทำให้ใครเสียประโยชน์มากขึ้น และพนักงานที่เคยให้ความร่วมมือในการลดเงินเดือนอยู่ก่อนแล้ว จะยังคงให้ความร่วมมืออยู่ต่อไป ซึ่งบริษัทจะขอความร่วมมือพนักงานสมัครใจลดเงินเดือนต่อออกไปถึงเดือนธ.ค.นี้

โดยในส่วนของผู้บริหารระดับสูง ถ้าเป็นตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) ที่มาโดยสัญญาจ้าง จากโครงการปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงิน 50% เกณฑ์ใหม่ขอความร่วมมือลดเพิ่ม 70% ส่วนEVP และตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ (VP) ยังคงขอความร่วมมือลดเงินเดือนในสัดส่วน EVP ลด 50% และVP ลด 40% ตามหลักเกณฑ์ที่ขอความร่วมมืออยู่ในปัจจุบัน

  ขณะที่ระดับพนักงาน จะมีการซอยอัตราในการปรับลดเงินเดือนให้กว้างขึ้น อาทิ พนักงานเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท หลักเกณฑ์ปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงินเดือนที่ 10% หลักเกณฑ์ใหม่ ขอความร่วมมือให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 1 วัน ขอความร่วมมือลดเงินเดือนและค่าตอบแทน 3.33% พนักงานเงินเดือนตั้งแต่ 20,001-30,000 บาท หลักเกณฑ์ปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงินเดือน 10.01-15.00% หลักเกณฑ์ใหม่ ขอความร่วมมือให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 2 วัน ลดเงินเดือน 6.67% เป็นต้น ทั้งนี้ถ้าพนักงานทุกคนให้ความร่วมมือ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้การบินไทย 257 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการร่วมลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง จะช่วยการบินไทยประหยัดได้ 3.6 ล้านบาทต่อเดือน

 

ทยอยเจรจาเจ้าหนี้หุ้นกู้

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจากับเจ้าหนี้ พบว่า การบินไทยได้เจรจากับเจ้าหนี้เครื่องบิน ทั้งกลุ่มที่เช่าดำเนินการและเช่าทางการเงิน ครบทั้ง 43 รายแล้ว เช่นเดียวกับการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ในประเทศและกระทรวงการคลัง รวม 18 ราย ก็ได้เจรจาครบถ้วนแล้ว และจะมีการนัดหารือกับผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินอีกครั้ง

ในส่วนของการเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้นกู้สถาบัน 212 ราย ยังไม่ได้มีการเจรจา แต่กำหนดจะนัดหมายเจรจาในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้สหกรณ์ 115 ราย มีการเจรจาไป 87 ราย หรือ 75% ผ่านชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ จำนวน 87 สหกรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นประชาชนทั่วไป 2,122 ราย ยังไม่ได้เจรจา แต่ให้พนักงานติดต่อรายบุคคล โดยออกจดหมายติดต่อผ่านธนาคาร

"การบินไทย" บี้ลดต้นทุน  ให้หยุดงานไม่รับเงิน

ที่เป็นผู้จดทะเบียนและจำหน่ายหุ้นกู้

สำหรับเจ้าหนี้ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่ซื้อตรงกับการบินไทย 2,700 ล้านบาท ซื้อผ่านเอเย่นต์ไทย 800 ล้านบาท ซื้อผ่านเอเย่นต์บีเอสพี ไออาต้า 2,540 บาท การบินไทย อยู่ระหว่างเจรจาเสนอTravelling Voucher จนถึงสิ้นปี 65

 การเจรจา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับเจ้าหนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากหากมีผู้ยื่นคัดค้าน จะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯอาจไม่เพียงพอ จากระยะเวลาของกระบวนการฟื้นฟูที่จะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าเดิม

 

เอเย่นต์ยื่นพิทักษ์ทรัพย์

แหล่งข่าวระดับสูงจากเอเย่นต์ผู้จำหน่ายตั๋วเครื่องบินในประเทศไทย เผยว่า ในขณะนี้เอเย่นต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินหลายราย ที่การบินไทยมียอดค้างคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน (รีฟัน) โดยเฉพาะยอดเงินตั้งแต่หลักหลายล้านไปจนถึงหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไป ต่างดำเนินการจ้างทนาย เพื่อเตรียมยื่นพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลาย เนื่องจากนับจากการบินไทย หยุดทำการบิน และเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เอเย่นต์ต่างๆก็ได้เพียงจดหมายทางอีเมล์ แจ้งให้ทราบเท่านั้นว่ายังไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ได้ เพราะอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฏหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

การพักชำระที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ที่ผ่านมาเอเย่นต์ได้รับการกดดันจากลูกค้าที่จะขอคืนค่าตั๋วเครื่องบินของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางส่วนเอเย่นต์ก็ต้องออกเงินคืนให้ลูกค้าไปก่อน เพื่อรักษาลูกค้า แต่ขณะเดียวกันเอเย่นต์หลายราย ก็ไม่ได้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าไปก่อนได้ ทำให้ปัจจุบันมีเอเย่นต์หลายรายถูกผู้โดยสารไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นจำนวนมากจากปัญหาที่สายการบินไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วให้เอเย่นต์นำไปจ่ายลูกค้าได้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563