แผนฟื้น "การบินไทย" ระอุ ล็อบบี้เจ้าหนี้ในปท.ทำแผนฟื้นฟูแข่ง

17 ก.ค. 2563 | 06:50 น.

จับตาอัยการ-ทนาย หัวหมอ ล็อบบี้เจ้าหนี้ในประเทศ ยื่นเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูแข่งการบินไทย บอร์ดจี้ฝ่ายบริหารทำความเข้าใจเจ้าหนี้หุ้นกู้ ทั้งจ่อรื้อใหญ่ฝ่ายบริหาร ผ่าตัดโครงสร้างองค์กรใหม่ หลังพบปัญหาจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการลงบัญชีที่ผิดพลาด ทำให้คุมตัวเลขทางการเงินทำได้ยาก ด้าน “พีระพันธุ์” มั่นใจ แมคคินซีย์ ทำเค้าโครงแผนฟื้นฟูเสร็จทันเสนอศาล 17 ส.ค.นี้

ภาระหนี้สิน 352,484 ล้านบาท ที่ปัจจุบัน การบินไทย อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอสนับสนุนการทำ แผนฟื้นฟูกิจการ แต่ในขณะนี้พบว่ามีอัยการ และทนายกลุ่มหนึ่งที่ต้องการทำคดีหรือทำแผนฟื้นฟู เข้าไปล็อบบี้เจ้าหนี้ในประเทศ เพื่อรวบรวมหนี้ให้ได้จำนวนมากพอ ที่จะไปยื่นเสนอชื่อผู้บริหารแผนแข่งกับการบินไทย โดยในวันที่ 13 ส.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้าน มีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้านขอฟื้นฟูกิจการ ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในวันที่ 17 ส.ค.นี้
 

อัยการรวมถึงทนายเหล่านี้ อาศัยช่องโหว่ ที่การบินไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาเจ้าหนี้ต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessors) ที่เจรจาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 21 ราย ส่วนใหญ่สนับสนุนการบินไทย แลกกับการเสนอจำนวนเงินที่จะทยอยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณา
 

สวนทางกลับการเจรจากับเจ้าหนี้ในประเทศ ที่ได้ทยอยเจรจากับสถาบันการเงิน ซึ่งการบินไทยเป็นหนี้อยู่ราว 1 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ผ่านมายังไม่ได้เข้าไปเริ่มเจรจา
 

เจ้าหนี้หุ้นกู้ ไม่ได้มีแค่สหกรณ์และการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าไปเคลียร์ให้ก่อนหน้านี้ก็เป็นเพราะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์เท่านั้น ดังนั้นเพื่อกันไม่ให้เกิดมีทนายไปยุแยง ที่จะสร้างปัญหาให้กับการบินไทย ทำให้ล่าสุดบอร์ดการบินไทยจึงมีการจี้ให้ไปทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้วย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“การบินไทย”จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา ยันจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบ
กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟู
“พีระพันธุ์” แจงเหตุยำใหญ่บ.ที่ปรึกษา ทำแผนฟื้นฟูบินไทย

 

ขณะเดียวกันทีม ฟื้นฟูการบินไทย ยังมองถึงการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย และการผ่าตัดโครงสร้างองค์กรแก้ปัญหาการวางโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ที่มีการตั้งบอร์ดไปคุมการทำงานฝ่ายบริหาร ทั้งๆที่ควรเป็นอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี)มีการเปิดทางให้คนในออกจากองค์กร แล้วไปมาสมัครในตำแหน่งที่มีการเปิดสรรหาใหม่ ที่ตอนออกไปก็ได้เงิน แถมกลับมายังได้เงินเพิ่มกว่าเดิม ลดการรั่วไหลในการจัดซื้อจัดจ้าง

 

 

แผนฟื้น "การบินไทย" ระอุ ล็อบบี้เจ้าหนี้ในปท.ทำแผนฟื้นฟูแข่ง
 

รวมถึงการทำงานที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการทำบัญชี ที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การคุมตัวเลขทางการเงินทำได้ยาก อย่างในกรณีที่การบินไทยเป็นหนี้ธนาคารออมสิน 2,500 ล้านบาท หนี้แบงก์ออมสินหายไป เพราะเขาหักกลบลบหนี้ไปแล้ว ด้วยการเอาเงินพนักงานที่สำรองไว้สำหรับเกษียณ ไปใช้หนี้ แล้วลงบัญชีว่ามีเงินเข้ามาอีก เพื่อบาลานซ์บัญชี
 

สอดคล้องกับนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินกล่าวว่า ธนาคารออมสินยื่นอายัดเงินกู้ 2,500 ล้านบาทจากยอดหนี้ทั้งหมด 3,500 ล้านบาท เพราะได้หักกับเงินสดที่การบินไทยฝากไว้ที่ออมสิน 1,000 ล้านบาทแล้ว จึงเหลือที่ต้องอายัดเพียง 2,500 ล้านบาทเท่านั้นและการยื่นอายัดเงินกู้การบินไทยเป็นไปตามขั้นตอนของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพื่อแสดงความเป็นเจ้าหนี้ต่อการบินไทย
 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด 20 ล้านบาทเข้ามาทำ แผนฟื้นฟูการบินไทย ร่วมกับบอร์ด 6 คน แต่การว่าจ้างดังกล่าว ทางอีวายฯไม่สามารถดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูได้ครบ เพราะอีวายประเทศไทย ไม่มีประสบการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูสายการบินมาก่อน เป็นการจ้างก่อนที่ตนจะเข้ามานั่งเป็นบอร์ดการบินไทย ทำให้ต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มคือบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ โค ซึ่งมีประสบการณ์ฟื้นฟูกิจการอเมริกันแอร์ไลน์ มาร่วมงานเพิ่มเติม 17.5 ล้านบาท
 

ขณะนี้แมคคินซีย์ฯเริ่มเข้ามาทำแล้ว โดยจะทำแผนการเงินว่าบริษัทต้องปรับลดค่าใช้จ่ายแบบไหน ปรับทุนอย่างไร ใช้เงินอย่างไร วางแผนธุรกิจอย่างไร เพื่อฟื้นฟูให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจ การทำแผนการบริหารจัดการด้านบุคคลากร จัดทำโครงสร้างองค์กร ไม่ให้ซํ้าซ้อน ลดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจ
 

โดยในแผนต่างๆจะเป็นเค้าโครงของแผนฟื้นฟู ที่จะเสนอศาลในวันที่ 17 ส.ค.นี้ หากศาล ให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ก็จะมีการกลับไปทำแบบฉบับสมบูรณ์ แล้วไปเสนอศาลอีกครั้ง เพื่อให้ศาลเห็นชอบให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนทำฟื้นฟู ซึ่งการเข้ามาทำแผนฟื้นฟู ผู้บริหารและพนักงานต้องเสียสละ เพราะหัวใจในการฟื้นฟูคือพนักงาน นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563