ห่วง ธ.ก.ส. ระบาย “จำนำยุ้งฉาง” ทุบราคาข้าวดิ่ง

19 มิ.ย. 2564 | 08:18 น.

“เกรียงศักดิ์” เตือนรับมือ ปัจจัยลบ ทุบส่งออก ยังไร้สัญญาณฟื้น  ผวาจำนำยุ้งฉางทะลัก กระทบราคาข้าวในตลาด แต่ถ้าระบายช้าจะกระทบข้าวฤดูกาลใหม่ แนะตรวจสต๊อกข้าวก่อนขาย

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาข้าวสาร ข้าวเปลือกทุกชนิด ราคาปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นการที่เราสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดทั้งตลาดบน ตลาดล่าง ในเรื่องปริมาณ และราคา และสถานการณ์ “โควิด-19 “ ทำให้มีปัญหาต่อการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคนค่าบรรทุกสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ตามที่ทราบกันดีอยู่ในขณะนี้แต่ก็ยังมีข้าวเปลือกที่ยังอยู่ในมือเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร อีกประมาณ 1 ล้านกว่าตันข้าวเปลือก

 

“ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวบ้างบางส่วน  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้าวเปลือกในโครงการชะลอการขาย (จำนำยุ้งฉาง) ปีการผลิต2563/64 ซึ่งเกษตรกรได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท มูลค่าในการจำนำ ข้าวหอมมะลิในเขต 23 จังหวัดราคาจำนำ 10,400-11,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ราคาจำนำ 8,900-9,500 บาท/ตัน ซึ่งครบระยะการเก็บฝาก เกษตรกรสามารถไถ่ถอนได้”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทราบจากโรงสีว่า เกษตรกรบ้างพื้นที่ได้ทยอยนำข้าวออกมาจำหน่ายบางส่วน ให้แก่ผู้ประกอบการ ราคา 10,000-11,500บาท/ตัน แล้ว ตามคุณภาพของข้าวเปลือก ซึ่งไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่ในมือเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร มากน้อยแค่ไหน โดยธรรมชาติฝนฟ้าดีเกษตรกรก็จะนำข้าวในยุ้งฉางของตนเองออกมาจำหน่ายเพื่อรอรับฤดูกาลเพาะปลูกในรอบต่อไป

 

ถ้าหากยังมีอยู่อีกจำนวนมาก รอราคา หรือเก็บไว้ด้วยเหตุผลใดก็แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้ามีการจำหน่าย หรือมีการนำมาประมูลในเวลาเดียวกัน หรือเวลาใกล้เคียงกัน โดยภาครัฐ (ธ.ก.ส.)ตามที่เคยปฏิบัติมา และสถานการณ์บีบคั้น ด้วยระยะเวลาอีกประมาณ 4 เดือนเศษ ข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ปีการผลิต 2564/65 ก็จะออกสู่ตลาด หากวางแผนในการบริหารจัดการไม่ดี ก็จะเป็นสภาวะกดดันต่อการระบาย และราคา

 

ผลการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64

 

“เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ในเรื่องการบริหารจัดการ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก หรือจะให้เกษตรกร จำหน่ายตามธรรมชาติ ตามสภาวะความจำเป็น และสถานการณ์ของเกษตรกรแต่ละราย ภาครัฐ (ธ.ก.ส.) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามีการสำรวจตรวจสอบหรือไม่”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ายังก็น่าที่จะต้องรีบสำรวจว่าข้าวเปลือกในยุ้งฉางของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ว่าในปัจจุบัน มีสต๊อกคงเหลือเท่าไหร่ มากกว่าการดูยอดเงินว่าลดลงจากการไถ่ถอนเพียงอย่างเดียว จะได้มีการว่าแผนการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะสต๊อกกดทับ และกระทบต่อราคาตลาดจนมากเกินไป