จี้รัฐชะลอไถ่ถอนจำนำยุ้งฉาง 1.1 ล้านตัน ลดวิกฤติข้าวราคาร่วง

19 มิ.ย. 2564 | 05:30 น.

ธ.ก.ส.เร่งเกษตรกรไถ่ถอนข้าวเปลือกจำนำยุ้งฉาง 1.1 ล้านตันหลังสิ้นสุดโครงการ ขณะโรงสีกดราคาซื้อหลังส่งออกสะดุด หอมมะลิร่วงเหลือตันละหมื่นไม่คุ้มไถ่ถอน แนะขยายเวลา หวั่นข้าวหลุดจำนำอื้อยิ่งทำราคาตก

ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และมติคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) ปีการผลิต 2563/64 (เพิ่มเติม) เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยเป็นการปรับกรอบวงเงินจาก 19,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 4,504 ล้านบาท รวมเป็น 24,330 ล้านบาท โดยเป็น วงเงินสินเชื่อ จำนวน 3,500 ล้านบาท วงเงินค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว จำนวน 480 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 524 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการชะลอปริมาณข้าวเปลือกเพิ่มเติมจำนวน 320,000 ตันข้าวเปลือก รวมเป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก โดยราคาที่ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ ไม่เกินร้อยละ 90% ของราคาตลาด แบ่งเป็น  ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด,ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด, ข้าวเปลือกเจ้า, ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (กราฟิกประกอบ) กำหนด ชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย โดยขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น 31 มีนาคม 2564 และภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม- 31 กรกฎาคม 2564 

นายสวน เจริญสุขรุ่งเรือง อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเขตภาคเหนือตอนล่าง กล่าวถึงสถานการณ์ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เวลานี้ไม่ค่อยดี ราคาเฉลี่ยที่ 11,500 บาทต่อตัน ซึ่งโรงสีก็พยายามกดราคา อ้างเหตุผลต้องมีการลงทุนค่าอบความชื้น ค่าเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ซึ่งเกษตรกรหากจะขายได้คุ้มทุนควรจะอยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน ดูทิศทางแนวโน้มราคาแล้วเกษตรกรคงลำบาก ใจจริงไม่อยากให้เป็นภาระรัฐบาล  

จี้รัฐชะลอไถ่ถอนจำนำยุ้งฉาง 1.1 ล้านตัน  ลดวิกฤติข้าวราคาร่วง

ขณะที่นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินว่า ข้าวในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกของ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ในสต๊อก 1.1 ล้านตัน คาดจะมีข้าวหอมมะลิ  6-7 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่น ที่ผ่านมาโรงสีในภาคอีสานมีการรับซื้อข้าวเข้ามาจากเกษตรกรเริ่มระบายข้าวออกมามาก เนื่องจาก ธ.ก.ส. เร่งรัด ให้รีบขาย ทั้งที่ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ติดปัญหาโควิดระลอก 3 สถานการณ์ส่งออกไม่ดี แทนที่จะชะลอการะบายกลับดันซัพพลายออกมา ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดราคาตก โดยข้าวเปลือกหอมมะลิจาก 12,000-12,500 บาทต่อตัน ปัจจุบันเหลือ 10,500-11,000 บาทต่อตัน ปรับลดลงมากว่า 1,500 บาทตันต่อตัน จากก่อนหน้านี้โรงสีทุกโรงมีข้าวต้นทุนสูงเก็บอยู่ในสต๊อก ขณะที่ผู้ส่งออกก็ชะลอคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศยังไม่ดี ประกอบกับโรงสีมีเงินทุนจำกัด ทำให้ไม่สามารถที่จะซื้อข้าวได้เพิ่มมาก คาดแนวโน้มราคาข้าวก็จะลดลงอีก แนะ ธ.ก.ส. ขยายเวลาไถ่ถอนออกไปก่อนไม่ต้องรีบร้อน

ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้เตรียมแผนไว้แล้วหากข้าวเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน ปล่อยให้หลุดจำนำยุ้งฉางเกษตรกร ก็ไม่ต้องกังวล เพราะข้าวจะตกเป็นของ ธ.ก.ส. อีกด้านหนึ่งรัฐบาลจะชดเชยการขาดทุนให้ ธ.ก.ส.อยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 (มีข้าวหลุดจำนำยุ้งฉาง 2.8 แสนตัน)  ธ.ก.ส.เคยเสนอแนวทางในการระบายข้าวหลุดจำนำยุ้งฉาง 3 แนวทาง ได้แก่

1.นำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารจำหน่ายในทุกสาขาของ ธ.ก.ส.

2.ขายให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อไม่ต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตัน

3.ประมูลขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไป โดยใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขาย

ดังนั้น ต้องรอดูว่า ธ.ก.ส. จะระบายในรูปแบบไหน จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง