ช็อก ไร้ พ่อค้าประมูลซื้อขายตลาดกลางยาง

10 มิ.ย. 2564 | 10:30 น.

2 ตลาดกลางยาง “นครศรีฯ-สงขลา” ป่วน  เกษตรกรช็อก  ไร้ พ่อค้าประมูลซื้อขาย ผวาน้ำยางสด โดนหางเลย ตบราคาร่วงวันพรุ่งนี้ ร้อง กยท.ช่วยช้อนซื้อด่วน

นายมนัส บุญพัฒน์ นายสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย  (ส.ค.ย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เห็นฤทธิ์เดชของ '"ผู้ยิ่งใหญ่" ในวงการทำมาหากินกับยางอีกแล้ววันนี้ (10 มิ.ย.64) ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กยท. เปิดราคากลาง 65.20 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ตลาดนครศรีธรรมราช และตลากลางสงขลาไม่มีผู้เข้ายื่นประมูลซึ่งปริมาณยางตลาดละ 160-170 ตัน ทำให้ยางยังกองอยู่ที่ตลาง ส่วนตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีบริษัทเล็กๆ เข้ามาประมูลกันที่ 63.55 บาท/กิโลกรัม ต่ำกว่าราคากลาง ทางตลาดปล่อยไป ไม่เช่นยางจะกองเต็มเหมือน 2 ตลาด ที่ไม่มีพ่อค้าเข้ามาซื้อยางแผ่นรมควันเลย

 

“ผมไปดูราคาตลาดส่งมอบเอพโอบี เดือนกรกฎาคม ราคากรุงเทพ 70.15 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาส่งมอบเอฟโอบี จังหวัดสงขลาอยู่ที่ 69.90 บาท/กิโลกรัม ส่วนเดือนสิงหาคม ราคาส่งออกที่ส่งมอบกรุงเทพฯ อยู่ที่ 70.35 บาท/กิโลกรัม ราคาสงขลา อยู่ที่ 70.10 บาท/กิโลกรัม”

ราคาส่งมอบ FOB เดือนกรกฎาคม และ เดือนสิงหาคม

 

เมื่อมาพิจารณาราคาประมูล 64 บาท/กิโลกรัม ก็ยังมีกำไร แต่บรรดาผู้ยิ่งใหญ่เขาเลือกที่จะไม่เข้าไปซื้อขายในตลาด จะเรียกแบบว่าเขาไม่เกรงใจกฎกติกาตลาดกลางของรัฐหรือไม่ หรือสู้ไปต่อรองเจรจาขอซื้อแบบไม่ต้องยึดกฎกติกา เพื่อให้ได้ราคาตามใจแล้วก็รอให้ยางวันนี้ค้างตลาดรอไปสมทบกับยางที่ผู้แปรรูปขวัญกระเจิงขนกันมาเพิ่มในวันพรุ่งนี้

 

คาดว่าว่าราคาในวันพรุ่งนี้ก็ค่อยเข้าประมูลลงต่ำ แบบเชื่อขนมกินได้ เป็นปัญหาหมักหมมให้กับทั้งผู้แปรรูป และสำนักงานตลาดกลางได้วุ่นวายกันอีกครั้ง อย่างไรก็ดี อยากจะฝากถึงหน่วยธุรกิจการยางแห่งประเทศไทย หรือบียู และกองรักษาเสถียรภาพราคายาง รวมถึงท่านผู้ใหญ่ในการยาง อย่าเฉย เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะพาไปไกลอีกแล้ว และจะส่งผลกระทบถึงราคาน้ำยางสดของชาวสวนต่อไปอย่างหนีไม่รอด วันนี้ชาวสวนขายน้ำยางสด ได้กว่า 45-47 บาท/กิโลกรัม วันพรุ่งนี้จะกระทบ "น้ำยางสด" ร่วงแน่นอน

 

อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ราคายางวันนี้ในภาพรวมปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และโรงงานผลิตถุงมือในไทยยังไม่เข้าสู่การผลิตเต็มอัตราเนื่องจากผลกระทบของ “โควิด- 19 “ ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง

 

ประกอบกับประเทศมาเลเซียประกาศการล็อคดาวน์ เป็นเวลา 14 วันเนื่องจากยอดผู้ติด “โควิด- 19” จำนวน ทะลุ 8,000 คน ต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการยางจำนวนมาก โดยการคาดการณ์ความต้องการยางพารามีมากขึ้น7% จากปีก่อน นักลงทุนยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกต่อไป