เส้นทางชีวิตเปรมชัย กรรณสูต จากบอสใหญ่ ITD สู่ผู้ต้องขัง และวันแห่งอิสรภาพ

17 ต.ค. 2566 | 08:02 น.

คดีบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อปี 61 ทำให้ชีวิตของ "เปรมชัย กรรณสูต" อดีตประธานบริหาร อาณาจักรอิตาเลียนไทย ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้าง ต้องพบกับจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เส้นทางชีวิตของเขาไม่ธรรมดา หลังรับโทษจำคุกปีกว่าๆ เขาได้รับการปล่อยตัวแล้ววันนี้

เปรมชัย กรรณสูต เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2497 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของนพ.ชัยยุทธ กรรณสูต (บุตรนายเทียนเต็ก และนางริ้ว กรรณสูต) และ พญ.ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต (ราชสกุลเดิม วรวรรณ เป็นธิดาในหม่อมเจ้าวัลภากร วรวรรณ และหม่อมชั้น วรวรรณ ณ อยุธยา) มีพี่น้อง 5 คนประกอบด้วย เอกชัย, พิไลจิตร, นิจพร, อรเอม และเปรมชัย

เขาสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา โดยเป็นพระสหายร่วมรุ่นในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining Engineering) จาก Colorado School of Mines รัฐโคโลราโด และระดับปริญญาโทด้านบริการธุรกิจ (MBA) จาก University of Southern California รัฐแคลิฟอร์เนีย

นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต บิดาของเปรมชัย เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนายจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี หุ้นส่วนคนสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2501 ต่อมาภายหลังการเสียชีวิตของแบร์ลิงเจียรีในปี พ.ศ. 2518 หุ้นทั้งหมดก็ตกเป็นของครอบครัวกรรณสูต

เส้นทางชีวิต "เปรมชัย กรรณสูต"

เปรมชัยในวัยขณะนั้นไม่ถึง 30 ปี เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทอิตาเลียนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2522 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่เดิม “เอกชัย” พี่ชายคนโตถูกวางตัวสืบทอดธุรกิจ แต่เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตในวัย 32 ปี (พ.ศ. 2522) ทำให้ตำแหน่งผู้สืบทอดอาณาจักรอิตาเลียนไทยฯ ตกมาที่เปรมชัย เขานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 โดยปัจจุบัน เขาถือหุ้นสูงสุดที่ 11.90% หรือจำนวน 628,213,626 หุ้น และดำรงตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

อิตาเลียนไทยฯ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างที่มีโครงการขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ รถไฟทางคู่ระยะที่ 2, รถไฟไทย-จีน, รถไฟสายสีม่วง ส้ม แดง, ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในต่างประเทศอีกหลายประเทศ  

เปรมชัยเคยให้สัมภาษณ์สื่อในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เขาต้องเผชิญกับคดีความบุกรุก-ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแล้วว่า บริษัทมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยปีละ 10% มีงานในมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลค่ารวม 317,854 ล้านบาท และงานรอเซ็นสัญญา 282,072 ล้านบาท รวม ๆ แล้วก็ร่วม 600,000 ล้านบาท

ผลประกอบการของอิตาเลียนไทยฯในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เขาเริ่มมีคดีมัดตัว บริษัทมีรายได้รวม 61,531.11 ล้านบาท โดยกว่า 70% มาจากโครงการรัฐ นับว่าเป็นรายได้ที่สูงสุดอีกปีหนึ่ง และยังเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด 31.04% อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการต่อมาในปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 54,915.19 ล้านบาท และต่อมาในไตรมาสสามปี 2564 ซึ่งเป็นไตรมาสก่อนที่เปรมชัยจะถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 2 ปี 14 เดือน พร้อมปรับ 2 ล้านบาท รายได้รวมของอิตาเลียนไทยฯ อยู่ที่ 42,665.16 ล้านบาท ( ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"คดีเสือดำ" ทำชีวิตพลิกผัน

แผนการที่วางไว้ก่อนเข้ารับโทษในเรือนจำ 

เปรมชัยเคยเปิดเผยกับสื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2561 ว่า ในช่วง 1- 4 ปีนี้ จะร่วมประมูลงานภาครัฐที่ทยอยออกมา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจและรักษาส่วนแบ่งการตลาดเบอร์หนึ่งของอิตาเลียนไทยฯเอาไว้ เช่น ทางด่วนสายพระราม 3- วงแหวนฯ รถไฟไทย-จีน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟทางคู่เฟส 2 และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เช่น สายสีแดง สายสีม่วงใต้ สายสีส้ม ตะวันตก

ก่อนหน้านี้ บริษัทยังสามารถประมูลงานขนาดใหญ่ได้ตามเป้าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการวัน แบงค็อก ในส่วนโครงสร้างใต้ดินมูลค่า 8,250 ล้านบาท รถไฟฟ้ามหานครธากา 6,996 ล้านบาท ท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติของพีทีที 5,349 ล้านบาท

งานใหญ่อื่น ๆ อาทิ งานก่อสร้างทางยกระดับต่อขยายถนนธนบุรี-ปากท่อ สัญญาที่ 3 วงเงิน 2,398 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่บริษัทถือหุ้น 5% ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.ประมูลโครงการ เฉพาะงานก่อสร้างในส่วนที่บริษัทรับผิดชอบมีมูลค่ากว่า 117,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการจะได้รับการเดินหน้า รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาที่บริษัทร่วมกับ ซี.พี.เข้าประมูล

ส่วนโครงการในต่างประเทศ ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของรายได้รวม บริษัทมีโครงการหลายประเทศ อาทิ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย โมซัมมิก และไต้หวัน

งบการเงิน ITD ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 (ก่อนเปรมชัยถูกตัดสินจำคุกในเดือน ธ.ค.2564) มีสินทรัพย์รวม 112,238.51 ล้านบาท หนี้สินรวม 96,674.48 ล้านบาท รายได้รวม 42,665.16  ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 853.50 ล้านบาท 

ทายาทรับไม้ต่อ ในวันที่ชีวิตติดกรงขัง

เปรมชัยเคยกล่าวถึงการส่งไม้ต่อ ให้ทายาทสืบทอดธุรกิจต่อจากเขาเอาไว้ว่า เมื่อถึงเวลาก็คงต้องส่งต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่เกิดคดีความ เขาก็วางแผนวางมือและเตรียมการลดบทบาทในอิตาเลียนไทยฯ ลงเป็นลำดับ 

ด้านชีวิตครอบครัวนั้น เปรมชัยสมรสกับนางคณิตา กรรณสูต มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ นายปีติ นางสาวปราชญา และนายธรณิศ กรรณสูต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนมักเห็นลูกชายคนเล็ก (ธรณิศ กรรณสูต) เข้ามาช่วยงาน ติดตามเรียนรู้การทำงานของบิดาในด้านต่าง ๆ โดยมีเปรมชัยและทีมงาน คอยให้คำแนะนำ

ทั้งนี้ นายธรณิศ กรรณสูต ดำรงตำแหน่งกรรมการรองประธานบริหารอาวุโส และผู้ช่วยประธานบริหาร บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ในช่วงที่คดีความถาโถมเข้าใส่นายเปรมชัย ผู้เป็นบิดา เขาได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานบริหารของบริษัท ในกรณีที่ประธานบริหาร (เปรมชัย) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ คำสั่งดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 

อิสรภาพในวัยใกล้ 70 

วันนี้ (17 ต.ค.) กรมราชทัณฑ์มีมติอนุมัติปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยลดวันต้องโทษจำคุก ชื่อของเปรมชัย กรรณสูต อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับอนุมัติปล่อยตัวจำนวน 113 คน โดยเขาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป และไม่ต้องใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เนื่องจากอาจก่อให้เกิดบาดแผลเบาหวานที่ขา แต่เขายังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ จนกว่าจะ "ครบกำหนดพ้นโทษ" ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 นี้