ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

06 มิ.ย. 2564 | 01:36 น.

การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่ยังสูง รวมถึงค่าภาระตู้เปล่าที่นำเข้ามาใส่สินค้ายังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 ล้านล้านบาทจะไปถึงดวงดาวหรือไม่

ปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 980,703 ล้านบาท หดตัวลง 4.1%  ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงเหลือ 2.32 % จาก 2.49% ในปี 2562  ส่งผลให้ไทยหล่นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน โดยเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำเศรษฐกิจ การค้าโลกหดตัว  การแข็งค่าของเงินบาท  ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะปี 2564  สามองค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายการขยายตัวการส่งออกอาหารที่ 7.1% มูลค่า1.05 ล้านล้านบาท

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับทิศทางอนาคตการส่งออกอาหารของไทย หลังผ่านพ้นมา 5 เดือนของปี 2564

-ส่งออกอาหารปีนี้เป้า 1 ล้านล้านบาทมองว่าจะไปถึงหรือไม่

 ก็ใกล้เคียงครับ เนื่องจากมีตัวลด-ตัวเพิ่มขึ้นมา เพียงแต่สิ่งเรากังวลที่สุดในตอนนี้คือก็คือเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ เพราะสินค้าเกษตรและอาหารเราจะแตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรมพอสมควร ตรงที่มูลค่าสินค้าเราต่ำกว่ามาก และมูลค่าสินค้าจะไปใกล้เคียงกับค่าระวางเรือ(Freight / ค่าเฟรท) ที่ไปต่างประเทศ ก็เลยทำให้ผู้ซื้อปลายทางบางรายก็มีการชะลอ บอกอย่าเพิ่งส่งมานะ ค่าเฟรทเมื่อบวกเข้าไปแล้ว เขาทำตลาดไม่ได้ เพราะค่าเฟรทที่ค้าขายกันมาหลายสิบปีเราซื้อขายกันแบบ FOB คือ เราแค่เอาของขึ้นเรือทางฝั่งไทย หลังจากนั้น Cost เป็นของผู้นำเข้าทั้งหมด

 “ครั้งนี้พอมันเป็นแบบนี้ปุ๊บ  แรก ๆ เราดูเหมือนจะไม่เจ็บตัวมากนัก แต่ตอนหลังค่าเฟรทที่มันแพงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีผลเชิงที่ปลายทางบวกราคา(ค่าเฟรท)ปุ๊บมันขายยาก บางรายก็ขอความช่วยเหลือมายังผู้ผลิตเรา ก็ช่วยกันแบ่งเบาภาระต้นทุน รายไหนที่บอกว่าอย่าชะลอออเดอร์เลย เพราะสต๊อกเราล้น เราผลิตให้คุณแล้ว บางรายอาจจำเป็นต้องยอม เราช่วยค่าเฟรทบางส่วนก็มี แต่หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย เพราะกลายเป็นว่าเงินไปจมค่าเฟรทอย่างเดียว”

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

-ค่าเฟรทปรับขึ้น 100-200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ใช่ บาง Route(เส้นทางเดินเรือ) นี่ ขึ้น 300% เลย ก็ประมาณว่า ถ้ามีเงินจ่ายค่าเฟรทก็พอหาตู้ได้  แต่ก็ยังดีที่ค่าเฟรทโซนเอเชียเราปรับขึ้นไม่โหดเหมือนทางโซนอเมริกา กับยุโรป โดยโซนอเมริกาก็จะขึ้นไป 300% ยุโรป 200-300 %  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขึ้นกับไปประเทศไหน และมีความเร่งรีบในการส่งของหรือเปล่า

-ปัญหาใหญ่คือตู้ขาด และค่าระวางเรือสูงยังเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่  เห็นรัฐมนตรีพาณิชย์ระบุเวลานี้สามารถปลดล็อกให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้เปล่ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้แล้วหลายลำ

ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐมีการผ่อนคลายและมองไปข้างหน้าว่า ถ้าผ่อนคลายแบบนี้อนาคตเรือขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มเพิ่มเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ถ้าเราส่งสินค้าเมื่อก่อนต้องไปถ่ายลำที่สิงคโปร์ หรือมาเลเซียก่อน จากนี้ไปพอสินค้าขึ้นเรือปุ๊บ(ที่แหลมฉบัง) ก็จะช่วยลดต้นทุนในการไปถ่ายลำ เพราะเรือจะวิ่งตรงไปประเทศปลายทางได้เลย ถึงแม้จะไปแวะท่าเรือประเทศอื่นบ้าง แต่ไม่ได้มีการนำสินค้าขึ้น-ลง

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

-เดิมที่เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้ เพราะอะไร

เมื่อก่อนต้องขออนุญาตเป็นรายครั้ง สมมุติเรืออีกสัปดาห์หนึ่งจะเข้ามาก็ต้องขออนุญาตตอนนี้ ก่อนหน้านี้ความไม่สบายใจของสายเดินเรือก็คือความไม่มั่นใจว่าขออนุญาตแล้วจะได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะวิ่งมาแล้ว ซึ่งการอนุญาตก็เป็นเชิงจิตวิทยาก็ประมาณว่า สบายใจเดี๋ยว Route นี้อาจจะตัดสินใจแวะเข้ามาทันทีก็ได้ มีปริมาณตู้สินค้าที่จะเข้า-จะออกพอสมควรก็ยินดีมาแวะอะไรอย่างนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เรือที่มีขนาดความยาว 300 เมตรขึ้นไปในอดีตต้องขออนุญาตเข้าเทียบท่าเป็นรายครั้ง ทำให้เรือใหญ่ไปลอยลำอยู่ที่ท่าเรือสิงคโปร์ มาเลเซีย เลี่ยงการเข้ามาที่ไทย แต่ไปที่ Port(ท่าเรือ) อื่นที่สะดวกกว่า

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

-ที่ผ่านมาในส่วนของภาคเอกชน ได้เสนอให้ภาครัฐขยายเวลาการปรับลดค่าภาระตู้เปล่า

เดิมภาครัฐได้ปรับลดลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า ในอัตรา 1,000 บาท ต่อทีอียูสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต อัตรา 2,000 บาท สำหรับตู้ 40 ฟุต และอัตรา 2,250 บาท สำหรับตู้ 45 ฟุต เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 แต่หลังจากสถานการณ์ยืดเยื้อเอกชนต้องการให้รัฐบาลขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของเอกชน ซึ่งรัฐยอมปรับลดมาสองรอบแล้ว แต่รอบนี้ยังไม่มีคำตอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สรท.จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน แก้สารพัดปัญหาส่งออก

ส่งออกเมษายน พลิกโต 2.1% กลับมาขยายตัวเป็นบวกเดือนที่2

"ส่งออก"-"มาตรการรัฐ"ดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2 เดือนติด

ผ่าเส้นทางวิบากส่งออกไทย ลุ้นกันยาวๆ ดันทั้งปีโต 5-7%

ธปท.จับตา ขาดแคลนปัจจัยการผลิต ห่วงกระทบ “ส่งออก-ก่อสร้าง”