มาทำความรู้จัก “โรคลัมปี สกิน” มาจากไหน มีวิธีป้องกันอย่างไร

07 เม.ย. 2564 | 10:00 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างมาตรการควบคุมและป้องกัน "โรคลัมปี สกิน" ชี้เป็นโรคอุบัติใหม่“โคเนื้อ” พร้อมแนะวิธีป้องกัน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

วันที่ 7 เมษายน2564 .นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน พร้อมด้วยนาย.สพสชัยวัฒน์ โยธาคบรองอธิบดี ผอ.สคบ.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากมีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและมีการแพร่กระจายของโรคในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐใต้หวันราชอาณาจักรภูฏาน

 

เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลต่อมาในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563มีรายงานแจ้งเตือนการเกิดโรคลัมปี สกินในโคเนื้อในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงเป็นโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยซึ่งมีการนำเข้าโค กระบือจากประเทศเพื่อนบ้านมีความเสี่ยงสูงที่จะพบการระบาดของโรคดังกล่าวที่ผ่านมา

 

บรรยากาศในที่ประชุม

 

"กรมปศุสัตว์"ได้มีการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือโรคลัมปี สกินโดยชะลอการนำเข้าโค กระบือมีชีวิตและซากโค ซากกระบือจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563, ซักซ้อมความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เข้มงวดเฝ้าระวังทางอาการโดยกำหนดนิยามโรคลัมปี สกิน และหากพบโคกระบือแสดงอาการสงสัยให้รีบดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกินวิธีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ตลาดนัดค้าสัตว์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรคลัมปี สกิน” มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virusเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุมีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย

พร้อมรับมือ

 

โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65เปอร์เซ็นต์ โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่นเห็บ แมลงวันดูดเลือดและยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกินในเกษตรกรรายย่อยที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 10รายจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย

 

ทั้งนี้ เกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2ตัว จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จึงเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น สาเหตุการเกิดโรคเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้น โดยเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการควบคุมโรคเพื่อลดความสูญเสียให้กับเกษตรกร และเฝ้าระวังโรคในจังหวัดข้างเคียง

 

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เน้นย้ำว่า สำหรับการป้องกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งมีพาหะนำโรค คือ แมลงดูดเลือดสามารถป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อได้ด้วยการกำจัดแมลงโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ดำเนินการปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่งไม่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะรวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่โดยรอบ กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ รวมทั้งการกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบโค กระบือป่วยและแสดงอาการผิดปกติ ให้รีบดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทันที เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวต่อไป