เกษตรกร ฟัน 4 แสนล้าน เปิดประเทศ สินค้าปศุสัตว์รุ่ง

05 เม.ย. 2564 | 12:25 น.

สศก. ส่องภาคปศุสัตว์ปี 63 เกษตรกรฟันรายได้กว่า  4.14 แสนล้าน ชูภาคเกษตร “ฮีโร่” ช่วยประเทศพ้นวิกฤติโควิด ปี 64 “หมู-ไก่เนื้อ-ไข่ไก่” ความต้องการพุ่ง อานิสงส์เปิดประเทศ นักท่องเที่ยว-ร้านอาหาร-โรงแรมจ่อกลับมาคึกคัก เตือนระวังคู่ค้ากีดกัน 

วันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เสนอแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้ว ใน 6 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, เกาะสมุย, ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ ในเดือนเมษายน เป็นต้นไป  

 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และในฐานะโฆษก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สศก. ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าหากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงจากได้รับวัคซีนจะทำให้เศรษฐกิจของไทยกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ยิ่งเปิดประเทศด้วยแล้วจะเป็นตัวช่วยทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น จากมติครม.ชัดเจนว่าจะมีการเปิดเรื่องของการท่องเที่ยวให้คนมาท่องเที่ยวได้มากขึ้น บวกมีการกักตัวน้อยลงเชื่อมั่นว่าธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้า การบริโภคสถานบันเทิงเริงรมย์ โรงแรมต่าง ๆ จะกลับมาคักคักขึ้น สินค้าอาหารในทุก ๆ ตัวมีโอกาสที่ดีขึ้น

 

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพีการเกษตร) ของไทย แม้จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีในภาพรวมของประเทศในสัดส่วนที่น้อยเพียง 8.14% หรือ ประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท ในปี 2563 แต่อย่าลืมว่าในหลายวิกฤติที่ไทยสามารถผ่านพ้นมาได้ก็มาจากภาคการเกษตร  ยิ่งในสถานการณ์โควิดวันนี้ภาคอื่นตายหมด ขณะเทียบกับอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ทำการเกษตร เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ถือว่าประเทศไทยโชคดี เป็นประเทศเลี้ยงตัวเองได้ อยู่รอดได้ จากภาคเกษตรเป็นฮีโร่ 

 

 

 

“ประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน เป็นแรงงานภาคเกษตรถึง 20 ล้านคน รายได้สุทธิภาคเกษตร 78,604 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายรับรายจ่ายทางการเกษตร ในอดีตที่ผ่านมาในทุกๆ พืช รายได้เพิ่ม และรายจ่ายก็เพิ่ม โดยสาขาพืชเป็นภาคการผลิตใหญ่สุดของภาคเกษตรสัดส่วน 68% สาขาประมงรองลงมาสัดส่วน 16% สาขาปศุสัตว์ 13% และสาขาป่าไม้ 1% ซึ่งทิศทางปี 2564 ยังมีการขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสาขาปศุสัตว์”

 

มูลค่าสินค้าปศุสัตว์

 

โดยข้อมูลในปี 2563 สินค้าปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้มีมูลค่ารวม 4.14 แสนล้านบาท สินค้าปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้มากที่สุดตามลำดับได้แก่ สุกร, ไก่เนื้อ, โคเนื้อ, ไก่ไข่-ไข่ไก่, โคนม-นํ้านมดิบ, กระบือ, เป็ดเนื้อ และเป็ดไข่-ไข่เป็ด ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)

 

ตัวอย่างสุกร ผลผลิตในปี 2563 มีจำนวนกว่า 19.9 ล้านตัว ในปี 2564 คาดผลผลิตจะเพิ่ม 2.24% ความต้องการจะเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  ส่วนไก่เนื้อ ผลผลิตปี 2563 กว่า 1.6 ล้านตัว คาดปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.62% และความต้องการก็เพิ่มเช่นเดียวกัน โดยความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีอยู่ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน อาเซียน และ ยุโรป เป็นต้น ในปี 2564 คาดการส่งออกจะสูงขึ้น ส่วนไก่ไข่ยังใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก แต่บางช่วงล้นตลาดต้องส่งออกไปสิงคโปร์ ฮ่องกง ลาวเมียนมา 

 

“กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ กำลังเจรจาโควตาเรื่องไก่เนื้อที่จะส่งไปประเทศอังกฤษ หลังถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่วนตลาดเดิมไม่มีผลกระทบ คาดว่าจะทำให้ราคาไก่เนื้อในประเทศปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องระวังการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรการสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง” 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง