ส่อง แผน “ปฏิวัติชาวนา” ยุค “โควิด-19”

02 มี.ค. 2564 | 14:30 น.

“เกรียงศักดิ์-เกษม” ตื่นตัวขานรับ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ลุก ปฏิวัติชาวนา ยุค “โควิด-19” สามารถพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ วงการค้าข้าว ได้หรือไม่

จากการที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้จัดประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายเกี่ยวกับการเสนอ แนะนำ ส่งเสริมให้เกษตรกรนำข้าวของกรมการข้าว ทั้ง 3 พันธุ์ พันธุ์พื้นแข็ง (กข 85) และพันธุ์พื้นนุ่ม (กข 79 และ กข 87) ไปใช้เลือกเพาะปลูกตามที่สนใจ โดยมีโรงสีในพื้นที่รับซื้อ นั้น  โดยเน้นที่ “รายได้สุทธิของเกษตรกรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วต้องเหลือเงินในกระเป๋า” มากกว่าการเน้นดูที่ราคาเป็นตัวตั้งอย่างเดียว

 

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผมคิดว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้ตื่นตัว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก  และการเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกก็เป็นเรื่องโดยตรงของเกษตรกร และควรที่จะสามารถตัดสินใจได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะหากพันธุ์ใดปลูกแล้วมีรายได้มีเงินในกระเป๋าเหลือมากกว่าย่อมดีกว่า  ทั้งนี้ ผมเองในฐานะที่ปรึกษาก็ได้ให้ข้อมูล ทิศทางตลาด ว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร และควรจะรับมืออย่างไร

 

โดยมองว่า ตลาดมีความต้องการทั้งข้าวพื้นแข็งและพื้นนุ่ม  และเราไม่สามารถควรคุมราคาตลาดได้  ที่ผ่านมาเรามักจะวิ่งตามราคาเอาราคาปัจจุบันมากำหนดทิศทางในการเพาะปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไปซึ่งหลายครั้งก็ไม่เป็นตามคาด  แม้ราคาขายจะสูงแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เงินในกระเป๋าของเกษตรกรก็เหลือน้อยหรืออาจขาดทุน ก็มีให้เห็นในอดีต

 

ตอนนี้จึงต้องเน้นให้ย้อนกลับมาดูในเรื่องของ “รายได้ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุ้มค่าในการลงทุน และตรงตลาด หักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรต้องเหลือเงินมากกว่า” จึงมองเห็นศักยภาพ ของข้าว "กข 85" ที่เป็นข้าวพื้นแข็งที่มีความโดดเด่นพิเศษ คือให้ผลผลิตดี และเป็นข้าวที่มีหน้ากว้างในเรื่องของตลาด (คือ สามารถนำมาต่อยอดทำข้าวขายในตลาดได้อีกหลายชนิด ทั้ง ข้าวขาว และ ข้าวนึ่ง รวมถึงปลายข้าวก็สามารถนำมาทำเส้น และ แป้ง ได้ดีด้วย เพราะมีความคล้ายกับพันธุ์ ชัยนาท 1 ในอดีต)

 

ส่วนข้าวพื้นนุ่ม พันธุ์กข 79 และ กข 87 โดยเฉพาะ กข 79 ที่ให้ผลผลิตที่ดี มีความต้านทานโรค เริ่มเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น แต่เกษตรกรอาจจะไม่ค่อยชอบเรื่องอายุการเพาะปลูก เพราะบางช่วงเวลาอาจยาวถึง 135 วัน  แต่ถ้าหากศึกษาหาข้อมูล และใช้วิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสม และไม่กังวลกับเรื่องอายุ ผมว่าผลผลิตรวมน่าจะคุ้มค่าที่รอคอย  ส่วน กข 87 เป็นข้าวพื้นนุ่ม มีความนุ่ม เหนียว และเป็นข้าวให้ผลผลิตที่ดี ตลาดมีความนิยม

 

แต่ก็ต้องศึกษา ในเรื่องช่วงเวลาเพาะปลูก และความต้านทานโรคพืช โรคแมลง โดยข้าวทั้ง 3 ตัวนี้ (กข 85 กข 79 และกข 87) สามารถตอบโจทย์ตลาดบริโภคภายในและส่งออก และที่สำคัญน่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่อง “ผลผลิตต่อไร่”และ “รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย” ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย 

 

 ซึ่งเมื่อผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และข้าวพันธุ์ดังกล่าวราคาตลาดดีก็ยิ่งเป็นผลดีกับเกษตรกร  แต่หากสถานการณ์ราคาตลาดข้าวไม่ขึ้นมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอะไรก็แล้วแต่ ก็ยังถือว่าไม่ขาดทุนหรือช่วยลดการขาดทุน และยังพอรับได้เนื่องจากมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงคอยรองรับในส่วนนี้ ทั้งนี้ ทั้งนั้นอยู่ที่เกษตรกร พิจารณาตัดสินใจ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

 

แต่เรื่องสำคัญที่ท่านนายกชาวนาฯเป็นห่วงคือ แหล่งที่ขายข้าวของเกษตรกร  ซึ่งผมได้ประสานกับโรงสีในพื้นที่ไว้ให้ ในเรื่องของการรับซื้อและส่งเสริม โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆผูกมัดเกษตรกร ที่สำคัญ ท่านนายก สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ประสานงานดึงสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวมารวมโครงการ 

 

ทั้งนี้ ผมมองว่าสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ถือว่าเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับเกษตรกร และอาจถือได้ว่าเป็นเครื่องมือของกรมการข้าว ในการเชื่อมต่อเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ไปถึงมือเกษตรกร เพราะมีขีดความสามารถในการรับ “พันธ์ุขยาย” มาขยายเป็น “พันธุ์จำหน่าย” ได้อย่างแพร่หลาย ทั่วถึง และรวดเร็ว อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับเกษตรกร และยังสามารถให้ความรู้ในเชิงวิชาการแบบเข้าถึงเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญมากในห่วงโซ่นี้

 

โครงการนำร่อง ของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยนี้ เป็นการนำแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี มาประยุกต์ใช้ ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่หากได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ก็ยิ่งจะเพิ่มความแข็งแรง เป็นกำลังใจ ให้กับสมาชิกของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินโครงการดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ระยะยาวต่อโครงสร้างพื้นฐานของข้าวไทย

 

เกษม ผลจันทร์

 

สอดคล้องกับนายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์  เผยว่า  มองว่ามีความเป็นไปได้ถ้า ชาวนา โรงสี  เมล็ดพันธุ์ ร่วมใจกันทำ ในส่วนของภาพที่ออกมา เป็นเรื่องที่ดี เพราะจุดมุ่งหมายเดียวกัน ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น พอมีข้าวดีก็ทำให้ผู้ส่งออกได้รับอานิสงส์ไปด้วย  เพราะยอดการส่งออกตกลง เพราะคุณภาพข้าวเราไม่ดีพอ และราคาในประเทศแข่งขันไม่ได้ หากรอการส่งเสริมจากภาครัฐ ผมก็พูดไปหลายครั้งว่าการส่งเสริมในภาครัฐ ยังไม่ได้ทำ ยังจับประเด็นไม่ถูกสักเท่าไร นโยบายไม่ได้ทำจริง

 

แต่วันนี้ สมาคมชาวนาฯ จับมือผู้ประกอบการเอกชนที่ลุกขึ้นมาก็ต้องการให้ชาวนาทั่วประเทศมีรายได้ที่ดีขึ้น มีกำไรมากขึ้น แต่ต้นทุนในการผลิตสูง จะทำอย่างไร ต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ตอบโจทย์ ต้องการตลาด ในเทรนด์ของข้าวนุ่มเพื่อต้องการส่งออก คุณภาพที่สามารถสู้กับต่างประเทศได้

 

“เรายินดีช่วยหาพันธุ์ การผลิตแนะนำว่าเกษตรกรใช้ข้าวที่ดีแล้วก็สายพันธ์ที่มีผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งสมาคมเราสามารถที่จะทำได้”

 

นายเกษม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ปลอมปน ชาวนาถูกหลอกขายเมล็ดพันธุ์ มีมาตลอด ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ พอมีปัญหาเกิดขึ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะมองไปที่ภาคเอกชน กลายเป็นจำเลย  ซึ่งผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ ทำไมถึงไม่ปฏิเสธ เพราะด้วยมีสมาชิกทั่วประเทศกับไม่ใช่สมาชิกก็มี

 

สืบเนื่องมาจากนโยบายของกรมการข้าวการตรวจสอบ ยังไม่มีแนวทางชัดเจน จึงทำให้แต่ละบริษัทก็ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่ในส่วนของสมาชิกสมาคม มีการปลูกฝัง ส่งเสริม ในส่วนที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือ เกษตรกร เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเกิดขึ้นสมาคมจะเป็นคนดำเนินการแก้ไข และรับเรื่องต่างๆ มาจากสมาชิก จากการร้องเรียนจากชาวนา เพราะฉะนั้นปัญหาเมล็ดข้าวปลอมปน

 

“วันนี้ทางสมาคมทำงานเชิงรุก เปิดสายตรงฮอตไลน์ร้องเรียนปัญหา มาได้ที่ เบอร์โทร สมาคม 089-836-132-6 ว่าในวันนี้พื้นที่ใดมีปัญหาในการทำเมล็ดพันธุ์ หรือราคาแพงเกินไป หรือลักษณะของข้าวที่ปลูกไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ต้องการ โดยเราจะเข้าไปดำเนินการให้ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้กาาประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป”

      

ข่าวทีเกี่ยวข้อง

เอาจริง “ปลูกข้าวตามออร์เดอร์” บันทึกใหม่ชาวนาไทย

ลุยปฏิวัติชาวนา ปลูกข้าวตามออร์เดอร์ ดึง 5 หมื่นไร่ร่วมวง