ลุยปฏิวัติชาวนา ปลูกข้าวตามออร์เดอร์ ดึง 5 หมื่นไร่ร่วมวง

25 ก.พ. 2564 | 22:05 น.

ลุย“ปฏิวัติชาวนา” สร้างมิติใหม่ ปลูกข้าวตามออร์เดอร์ ดึงเกษตรกรผนึกโรงสี-อคส. ผลิต-ขายข้าวพื้นนุ่มตีตลาดจีน เกษตรกรร่วมวงแล้วกว่า 5 หมื่นไร่ “โรงสีภาคกลาง-อีสาน” ตบเท้าเข้าร่วม ด้านบิ๊ก อคส. ชูตลาดนำการผลิต ลั่นพร้อมสู้ทุกเวที

อาชีพทำนาข้าวเผชิญความเสี่ยงมาทุกยุคสมัย ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ต้นทุนสูง ถูกกดราคา ราคาข้าวตกต่ำ ปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่พอรายจ่าย แต่ล่าสุดกำลังจะมีหลักประกันใหม่ช่วยลดความเสี่ยง คือการรวมกลุ่มปลูกข้าวตามออร์เดอร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าฯ ความชื้น 25-30% ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวนาขายได้เฉลี่ยที่ 9,000-9,500 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่น่าพอใจ หากไม่ต่ำกว่า 7,500 บาทต่อตันชาวนาอยู่ได้ อย่างไรก็ดีเพื่อลดปัญหาผู้ค้าหรือผู้ส่งออกมากดราคาข้าวในประเทศ ล่าสุดทางสมาคมฯได้ผุดโครงการนำร่อง “กำแพง เพชรโมเดล” ปลูกข้าวพื้นนุ่มเพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยดึงนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย มานั่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมชาวนาฯ หลังจากที่นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) มีแผนจะซื้อข้าวจากสมาชิกสมาคมชาวนาฯ โดยจะมีโรงสี 5-6 โรง ช่วยสีแปรข้าว ป้อนให้ อคส.ทำตลาดในประเทศรวมถึงการส่งออกไปประเทศจีน

 

 

ทั้งนี้นโยบายของผอ.อคส. ต้องการให้ชาวนาเป็นผู้ผลิตข้าวคุณภาพดี โรงสีเป็นผู้แปรรูป โดยมีการทำเอ็มโอยูร่วมกันว่าอคส.ต้องการข้าวชนิดใด  ปริมาณกี่ตัน โดยกระบวนการคือโรงสีที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ภาคกลางและอีสานจะซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาในราคายุติธรรม โดยส่วนหนึ่งจะส่งข้าวให้กับ อคส.ตามออร์เดอร์ที่สั่งมา อีกส่วนหนึ่งโรงสีไว้ทำตลาดข้าวในประเทศ และทำตลาดส่งออกโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ปัจจุบันมีเครือข่ายชาวนาจะนำร่องประเดิม 3 หมื่นไร่ ชนิดข้าวพื้นนุ่ม กข79 และข้าวเจ้าชนิดแข็ง ที่นำไปผลิตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เป้าหมายในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร อยุธยา ชัยนาท กรุง เทพฯ และสุพรรณบุรี  ส่วนข้าวหอมมะลิ จะเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5-6 จังหวัด เจรจาเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว รวมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นไร่ 

“ผมทำไม่ผ่านสมาคมโรงสีฯ สมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ และตัดพ่อค้าคนกลาง (หยง) เหตุที่เช่นนี้มองว่าชาวนาจะไม่ถูกกดขี่ ซึ่งนับตั้งแต่ผมมานั่งบริหารสมาคมฯ ก็พยายามยกระดับชาวนาและต่อยอดขึ้นไป ถือเป็นการปฏิวัติชาวนา และสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตของรัฐบาล” 

ปฏิวัติชาวนา

สอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวนาเสียเปรียบมาโดยตลอด ขณะที่พันธกิจ ของอคส. รับใช้เกษตรกร 100% วันนี้จึงต้องมาทำพันธกิจให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้าวไทยของกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2563-2567) ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตในข้าว 7 ชนิดได้แก่ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมไทย, ข้าวพื้นนุ่ม, ข้าวพื้นแข็ง, ข้าวนึ่ง, ข้าวเหนียว และข้าวคุณภาพพิเศษที่มีตลาดเฉพาะ  เพื่อให้ผู้ส่งออกได้มีของไปขายมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ อคส.ได้เริ่มส่งข้าวไปให้คู่ค้าต่างประเทศชิมแล้ว ทั้งนี้อคส.จะมาช่วยเกษตรกรทำตลาดข้าวถุงผ่านช่องทางจำหน่ายของ อคส. ทั้งในและต่างประเทศ

“วันนี้จะเริ่มตั้งแต่ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาฯ และข้าวหอมมะลิ ลพบุรี ยอมรับว่าผมลงทุนเยอะมาก ส่วนต่างประเทศก็พร้อมที่จะสู้ทุกเวที ถ้าขาดทุนก็ยอมขาดทุน 3 ปีแรก จะมีงบสร้างตลาด รีแบรนด์ ภาพลักษณ์ใหม่ และใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งกำลังจะเสนอเรื่องต่อบอร์ด”

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากแนวความคิดของนายกสมาคมชาวนาฯ จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่นั้น มองว่าศักยภาพ “ชัยนาท” เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม และมีพันธมิตรส่งออกที่จะรับซื้อข้าวได้ เพียงแต่ต้องให้สมาคมรวบรวมชาวนาฯ ขึ้นมา สนับสนุนข้าวคุณภาพดี โดยมีโรงสี-ผู้ส่งออกรับซื้อแน่นอน 

“เบื้องต้นไม่ควรเอาราคาเป็นตัวตั้ง แนะนำให้ดึงสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยเพราะจะได้พันธุ์ข้าวที่ดี ลองทำสัก 1 ฤดูชาวนาพอใจที่ไหนสามารถขายได้เลย ไม่บังคับ อยากให้ชาวนารู้เป้าหมายที่จะปลูกข้าว อย่าไปแห่ปลูกตามราคา แต่ต้องวางแผนเพาะปลูก ขายแล้ว มีเหลือเงินเท่าไรมากกว่า” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564