“บิ๊กป้อม”ห่วง 430 ตำบล อีสาน เสี่ยงแล้ง

15 ก.พ. 2564 | 10:08 น.

​​​​​​​สทนช. เปิดพื้นที่เสี่ยงแล้งอีสาน ผงะ 430 ตำบลผวา “บิ๊กป้อม” สั่ง อุดช่องขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน เล็งขยายผลจุดจ่ายน้ำบาดาลตามถนนสายหลักทั่วประเทศ ทันที

สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

วันนี้ (15 ก.พ.64) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์แล้งหลายพื้นที่ในปีนี้ จึงสั่งการให้ สทนช.กำกับ ติดตาม ความก้าวหน้าแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่

 

รวมถึงเร่งรัดแผนงานโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สร้างความมั่นคงน้ำอย่างยั่งยืนควบคู่ด้วย โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของประเทศที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าฝนปกติ แต่จากมาตรการบริหารจัดการน้ำและเร่งเก็บกักน้ำบริหารจัดการน้ำ รวมถึงอิทธิพลของพายุทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 3,145 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำต้นทุนฤดูแล้ง 63/64 ( ณ 1 พ.ย.63 ) เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา

 

ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3,978 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 (ปีน้ำน้อย) จำนวน 1,601 ล้าน ลบ. ม. และมากกว่าปี 2562 และปี 2561 จำนวน 695 ล้าน ลบ.ม. และ 770 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งแต่อย่างใด ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ประสบภัยแล้ง 430 ตำบล 75 อำเภอ 11 จังหวัด โดยอยู่ในลุ่มน้ำชี     3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ 

 

โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่บริการการประปาส่วนภูมิภาค ( กปภ.) และนอกเขตพื้นที่บริการ กปภ. รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในเขตและนอกเขตชลประทาน โดย กอนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนรับทราบ เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดตาม 9 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64

สถานการณ์น้ำใช้การได้ ภาคอีสาน

 

สำหรับโครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลักทั่วประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการแล้ว 25 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 981,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี  และยังมีพื้นที่ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ซึ่งเป็นโครงการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนอีก 279 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริม ช่วยลดค่าครองชีพ และเพิ่มจุดให้บริการน้ำบาดาลแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ 189,210 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 12 ล้าน ลบ.ม./ปี  ขณะที่การพัฒนาบ่อบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคอีสานในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 1,305 แห่ง แล้วเสร็จ 937แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลประมาณ 14 ล้าน ลบ.ม.

 

โดยแบ่งเป็น 1.งบปกติ 308 แห่ง แล้วเสร็จแล้วทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 22 แห่ง จ.ชัยภูมิ 20 แห่ง 2. งบกลาง 997 แห่ง ปัจจุบันแล้วเสร็จ 629 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน เม.ย.นี้ แบ่งเป็น จ.ขอนแก่น 97 แห่ง แล้วเสร็จ 80 แห่ง จ.ชัยภูมิ 92 แห่ง แล้วเสร็จ 91 แห่ง ส่วนงบประมาณในปี’64 มีแผนสร้างบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นอีก 185 แห่ง อยู่ใน จ.ขอนแก่น 10 แห่ง จ.ชัยภูมิ 9 แห่ง

 

ขณะที่แผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  สทนช.ได้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติพัฒนาแหล่งน้ำตามกลุ่มลุ่มน้ำเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะลุ่มน้ำชีแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วหลายแห่ง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำน้ำพุง และเขื่อนลำปาว เป็นต้น

 

แต่พื้นที่ที่พัฒนาดังกล่าวจะอยู่ในตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีการพัฒนาน้อยมาก ทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำในลุ่มน้ำชีไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นประจำ ดังนั้น แผนการพัฒนาลุ่มน้ำชีต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ตอนบนของลำน้ำชี และลำน้ำสาขาที่สำคัญ

บ่อบาดาลแก้แล้งอีสาน

 

อาทิ ก่อสร้างระบบส่งน้ำและสูบน้ำ เพื่อกระจายน้ำใหัพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำในลำน้ำสายหลัก ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตตัวเมืองป้องกันการบุกรุกล้ำแนวลำน้ำสาธารณะ อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น

 

“สภาพลำน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ ลงมามีความลาดชันสูง น้ำไหลแรงจนมาเข้าเขต จ.ขอนแก่น ไหลต่อลงไปที่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ความยาวถึง 1,047 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำมีแหล่งเก็บน้ำช่วยชะลอน้ำอยู่บ้างแต่ไม่มากพอและหลายแห่งตื้นเขิน จึงต้องวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ”

ที่ผ่านมาลุ่มน้ำชีมีการพัฒนาปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บน้ำไปแล้ว 138 แห่ง    เก็บน้ำได้ 136 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ถึง 113,236 ไร่ ขณะเดียวกัน ยังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชี

 

โดยภายในปี 2565 กรมชลประทานมีแผนพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีก 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 258 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่ ขณะที่การพัฒนาอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ มีทั้งสิ้น 8 แห่งแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ โปร่งขุนเพชร และอ่างฯลำปะทาวบน-อ่างฯลำปะทาวล่าง  ปริมาณน้ำเก็บกักรวม 104 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวม 55,000 ไร่

 

อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง ได้แก่ อ่างฯลำน้ำชี  อ่างฯ ลำสะพุง อ่างฯ พระอาจารย์จื่อ อ่างฯ ลำเจียง และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ  (ระยะที่ 1) เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดเก็บกักน้ำได้ 197.73 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 178,160 ไร่ และมีแผนจะดำเนินการในปี 2566 จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ลำชีบน ปริมาณน้ำ 325 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,000 ไร่” ดร.สมเกียรติ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ประกันรายได้เกษตรกร” ปี2 ผลงานสุดปัง ครบทุกตัวแล้ว

“สหกรณ์ปาล์มกระบี่” ระงม โดนเบี้ยวค่าจ้าง