FTA เกาหลีใต้-กัมพูชา โอกาสใหม่ทัพลงทุนไทย

31 ม.ค. 2564 | 10:31 น.

กัมพูชาเร่งเจรจา FTA เกาหลีใต้ คาดแล้วเสร็จในปีนี้ มั่นใจดันส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่ม Richfarm Asia เร่งขยายฟาร์มมะม่วงแก้วขมิ้นเพิ่มผลผลิตส่งออกไปเกาหลี ทูตพาณิชย์ชี้เป็นโอกาสไทยลงทุนกัมพูชาเพิ่ม ขณะค้าไทย-กัมพูชา ปี 63 วูบกว่า 6.7 หมื่นล้าน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ ทูตพาณิชย์) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสื่อของกัมพูชา ว่า จากข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลี(KITA) ระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างกัมพูชากับเกาหลีใต้มีมูลค่ารวม 884.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.77 จาก 1.032 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.4 และ นำเข้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 567 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.6

 

นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า การส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้นาย Lim คาดว่า เมื่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) กัมพูชา - เกาหลีใต้เสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้การส่งออกของกัมพูชาไปเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นทั้งนี้และได้ดุลการค้า มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ข้อตกลงฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ 

 

FTA เกาหลีใต้-กัมพูชา โอกาสใหม่ทัพลงทุนไทย

 

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่กัมพูชาส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าเดินทาง เครื่องดื่ม ยางพารา ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้านำเข้าหลักจากเกาหลีใต้ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องครัว และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

 

นาย Hun Lak ประธานบริษัท Richfarm Asia จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ลงทุนทำฟาร์มปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นเพื่อส่งออกไปยังเกาหลีใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผักและผลไม้สดจากกัมพูชาส่งออกไปเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมะม่วง ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นทำให้สินค้าจากกัมพูชาเริ่มเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ชาวเกาหลีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นาย Hun กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มปริมาณการส่งออกมะม่วงไปยังตลาดเกาหลีให้มากขึ้นในปีนี้ ปัจจุบันบริษัทได้มีการเจรจากับบริษัท Hyundai เพื่อร่วมกันผลิตเครื่องมือกำจัด ศัตรูพืชของมะม่วง เพื่อให้ผลผลิตที่ส่งออกไปยังเกาหลีใต้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเริ่มเก็บ เกี่ยวผลผลิตในเดือนหน้า

 

FTA เกาหลีใต้-กัมพูชา โอกาสใหม่ทัพลงทุนไทย

 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่ารวม 3.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมะม่วง ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกอันดับต้น ๆ ของกัมพูชา ที่ปริมาณรวม 850,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

สคต. ณ กรุงพนมเปญ ได้ชี้ถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย ว่าปัจจุบันกัมพูชาพยายามปรับตัวขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาสหภาพยุโรป(อียู)เป็นส่วนใหญ่เหมือนที่ผ่านมา โดยเริ่มมีการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ เพื่อขยายตลาดส่งออกและดึงดูดนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐาน การผลิตในกัมพูชาให้มากขึ้น โดยเน้นผลักดันส่งออกสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและอุปกรณ์สำหรับเดินทาง รวมทั้งสินค้าเกษตร ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจึงถือเป็นโอกาสของไทยในการ ขยายธุรกิจนำความรู้ความชำนาญต่างๆ ในการผลิตสินค้าต่างๆ เหล่านี้เข้าไปในกัมพูชา ไม่ว่าจะในรูปแบบของ การร่วมทุน การเป็นบริษัทที่ปรึกษา หรือการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะผู้ประกอบการจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ข้อตกลงที่กัมพูชาได้ทำความร่วมมือกับ ประเทศต่าง ๆ ได้

 

ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2563 การค้าไทยกัมพูชา มีมูลค่ารวม  224,226 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 23% (จากปี 2562 มีมูลค่าการค้า 292,127 ล้านบาท หรือลดลง 67,901 ล้านบาท) โดยไทยส่งออก 188,484 ล้านบาท ลดลง 15% และไทยนำเข้า 35,742 ล้านบาท ลดลง 50% โดยการค้าไทย-กัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 1.6% ที่ไทยค้ากับโลก

 

สำหรับสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปกัมพูชาในปี 2563 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าการส่งออก, เครื่องดื่ม สัดส่วน 8%, สินค้าปศุสัตว์ สัดส่วน 6%, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วน 5% และอัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วน 4.2%

 

ส่วนสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สัดส่วน 30%, ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สัดส่วน 25%, สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัดส่วน14%, ลวดและสายเคเบิ้ล สัดส่วน 8% และเสื้อผ้าสำเร็จรูป สัดส่วน 6.4% ของการนำเข้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อียูตัดสิทธิ-โควิดทุบ ฐานผลิตกัมพูชาสลบ บิ๊กการ์เมนต์ไทยกัดฟันสู้

โควิดพ่นพิษไร้คำสั่งซื้อ กัมพูชาปิด 100 โรงงาน

“ฮุนเซน” ยันแจกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ชาวกัมพูชา “ฟรี”

"ซีพี ออลล์" ยืนยันเดินหน้าขยายธุรกิจกัมพูชา ลาว ตามแผน

TQM บุกตลาดประกัน “กัมพูชา-ลาว”