เช็กด่วน “เยียวยาเกษตรกร” ผู้เลี้ยงโคนม

13 ม.ค. 2564 | 14:05 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเงื่อนไข “เยียวยาเกษตรกร”  ผู้เลี้ยงโคนม เล็งจัดสรรงบกระจายกว่า 1,400 ล้าน ต้นเดือน ก.พ.นี้

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

วันที่ 13 มกราคม 2564  นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ครั้งที่ 2/2564  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้า โครงการ "เยียวยาเกษตรกร” ผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม หลังการประชุมว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เด็กนักเรียนหยุดเรียน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

 

จากไม่สามารถส่งนมและทำให้ขาดรายได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอแนวทางการดำเนินงาน โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 1,477,758,400 บาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อนมโรงเรียน ยู เอช ที ให้เด็กนักเรียนดื่มเพิ่มเติม คนละ 30 กล่อง ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน

 

สำหรับขั้นตอนและวิธีการดำเนินการ ให้คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือ นมโรงเรียน จัดสรรสิทธิการจำหน่าย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่ม จัดสรรพื้นที่การจำหน่ายให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียนดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียนในโครงการ

 

 

ใช้วิธีการจัดซื้อลักษณะเดียวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ รวมทั้งจัดซื้อและส่งมอบนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มตามระยะเวลาโครงการ และหน่วยจัดซื้อ (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถื่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียน ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัด กำกับ ดูแล ติดตามตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา

 

ทั้งนี้ให้การดำเนินการโครงการฯ ครอบคลุม มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพมาตรฐาน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ได้มีรายได้ และผู้ประกอบการทุกคนได้รับการจัดสรรสิทธิอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ใช้เวลาการจัดสรรพื้นที่ประมาณ 1 สัปดาห์ และดำเนินการตามโครงการได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการถึงแนวทางการจัดนมโรงเรียนต่อไป