ทิศทาง DOW ประเทศไทยปี64 รักษาผู้นำนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง

27 ธ.ค. 2563 | 02:30 น.

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกาศทิศทางธุรกิจปี 64 รักษาผู้นำนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งช่วยคู่ค้าลดขยะพลาสติก และลดโลกร้อนตามวิสัยทัศน์บริษัทแม่ มั่นใจธุรกิจดีกว่าปี 63

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของดาวโกลบอลในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีฐานการผลิต 14 โรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของดาว มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.วัสดุประสิทธิภาพสูงและสารเคลือบผิว 2. เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ 3.พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และพลาสติกชนิดพิเศษ

 

 ตลาดที่สำคัญของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีและสารเคลือบผิว และอุตสาหกรรมสารยึดติดและสารกันรั่วซึม โดยสินค้าที่ผลิตในไทย ได้แก่ กลุ่มผลิต ภัณฑ์พลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิสไตรีน อีลาสโตเมอร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิยูริเทน และสไตรีนบิวทาไดอีน เลเทกซ์ และอื่น ๆ รวมมากกว่า 100 ชนิด  นอกจากนี้ยังมีสินค้านำเข้าจากกลุ่มดาวในต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทยด้วย (ดาวมีฐานผลิต 103 แห่งใน 31 ประเทศ) เช่น ตัวทำละลาย เคมีภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ซิลิโคน และพลาสติกชนิดพิเศษ เป็นต้น

 

ลุยเปิดตัวสินค้าใหม่

นายสุพจน์ เกตุโตปราการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมาดาวได้เปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการ อาทิ  INNATE  นวัตกรรมเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดพิเศษ ที่ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรง เหนียวและทนทานกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป ทำให้ลูกค้าสามารถลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกลงได้ถึง 18% ขณะที่ได้ถุงที่เหนียวและแข็งแรงขึ้น 1 เท่าตัว อีกทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ (ถุงข้าวที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกหลายชนิดรวมกันจะรีไซเคิลไม่ได้) ช่วยลดปัญหาโลกร้อน สามารถพัฒนาเป็นถุงบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นถุงรีฟิล ถุงใส่อาหารแห้ง ถุงใส่อาหารสัตว์ ถุงวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่ต้องรองรับสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆ ประกาศใช้แล้วในประเทศไทยโดย “ข้าวตราฉัตร”

 

ทิศทาง DOW ประเทศไทยปี64 รักษาผู้นำนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง

                                      สุพจน์ เกตุโตปราการ

นอกจากนี้มี RETAIN Polymer modifier ช่วยในการผสานให้แพ็กเกจจิ้งที่ผลิตจากพลาสติกหลายชนิดรวมกัน (ซึ่งตามปกติรีไซเคิลไม่ได้เพราะมาจากพลาสติกต่างชนิด) สามารถหลอมรวมกันแล้วนำไปรีไซเคิลได้ ช่วยให้นำเศษถุงในโรงงานผลิตแพ็กเกจจิ้งไปหลอมใช้ซ้ำได้ และช่วยให้แพ็กเกจจิ้งที่เคยรีไซเคิลไม่ได้สามารถรีไซเคิลได้ เป็นต้น

 

โควิดดันตลาดแพ็กเกจจิ้งโต

 “จากที่ปีนี้มีโควิดระบาด และมีการกักตัวของผู้คนมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ฟู้ดแพ็กเกจจิ้งในส่วนของฟู้ดดีลิเวอรี่มากขึ้น ขณะที่โซลูชั่นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกของดาวจะตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์สินค้า (Brand Owner)ที่ส่วนใหญ่ประกาศออกมาว่าแพ็กเกจจิ้งของเขาจะต้องรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2030 ซึ่งดาวมีโซลูชั่นและเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้  รวมถึงเพื่อช่วยหยุดหรือลดขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากในแต่ละปีเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งในปีหน้า และในปีต่อ ๆ ไปทางดาวยังมีโพรดักส์เกิดขึ้นมาตลอดเวลา โดยวัสดุของเราถือเป็นผู้นำในตลาดเพราะมีคุณสมบัติพิเศษต่างจากคู่แข่งและช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้”

 

 

ทิศทาง DOW ประเทศไทยปี64 รักษาผู้นำนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง

 

ยอดขายโตต่อเนื่อง

 นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ยอดขายของดาว ประเทศไทยปีนี้คาดจะดีพอสมควร แต่ไม่อาจเปิดเผย เพราะเป็นข้อมูลทางการค้าที่ไม่อยากให้คู่แข่งรู้ โดยตลาดที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วจากอานิสงส์โควิดได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวลง ในภาพรวมตลาดก็มีทั้งขึ้นและลง แต่โดยภาพรวมปีนี้ของบริษัทดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในปี 2564 หลังไทยมีวัคซีนโควิดและทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม คาดตลาดและยอดขายของบริษัทจะขยายตัวมากกว่าปีนี้ ขณะที่กำลังผลิตของบริษัท ณ ปัจจุบันยังมีเพียงพอรองรับความต้องการสำหรับปีหน้าได้

 

 “อีกโครงการหนึ่งที่เราทำคือถนนพลาสติก ที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเอสซีจี เมื่อเดือนตุลาคม เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้นำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต จากที่ผ่านมาเรามีการทำถนนพลาสติกร่วมกับเอกชน เช่นนิคมอมตะซิตี้ และเครือซีพี ซึ่งถนนพลาสติกมีต้นทุนที่ถูกกว่าถนนยางมะตอยหรือแอสฟัลต์  ในอนาคตหากมีดีมานต์ความต้องการพลาสติกมาเพื่อใช้ทำถนนมากขึ้น ซัพพลายจากครัวเรือนก็จะมากขึ้น และจะกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการแยกขยะพลาสติกเพื่อขาย จะช่วยลดต้นทุนถนนพลาสติก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3639 วันที่ 27-30 ธันวาคม พ.ศ.2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ข้าวตราฉัตร”ชิงธงผู้นำ ถุงข้าวลดโลกร้อนแบรนด์แรก

“Dow” ผนึก “โตโยโก” ผุดนวัตกรรมหลังคากันร้อนเจาะอาเซียน

“Dow” สร้างศูนย์เรียนรู้จัดการขยะครบวงจรกลางคลองเตย

Dow ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ปีที่ 21