เตือน 14 จังหวัด ใต้ “ฝนถล่ม" ต่อเนื่องลากยาวถึง ก.พ. ปี64

03 ธันวาคม 2563

กรมอุตุฯ เตือน 14 จังหวัดใต้ ระทึก เตรียมรับมือ ฝนถล่มหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ลากยาวถึง ก.พ. ปี64

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝนภาพรวมในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนธันวาคม 2563 -กุมภาพันธ์ ปี2564 "ภาคใต้" จะมีฝนมากกว่าค่าปกติประมาณ 20% แบ่งเป็น ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประมาณ 350-530 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 368 มม.) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประมาณ 100-210 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 129 มม.) ซึ่งต้องการติดตาม เฝ้าระวัง ฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เตรียมแผนป้องกันผลกระทบอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมในปัจจุบันด้วย

 

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ว่า จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 62 อำเภอ 323 ตำบล 2,186 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

เตือน 14 จังหวัด ใต้ “ฝนถล่ม" ต่อเนื่องลากยาวถึง ก.พ. ปี64

 

ควบคู่ไปกับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังโดยเร็ว ซึ่งจากการติดตามภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda  เมื่อเทียบกับวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเริ่มลดลงในหลายพื้นที่ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ลดลงกว่า 6 หมื่นไร่ โดยปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 153,852 ไร่ ซึ่ง อ.หัวไทร และร่อนพิบูลย์  ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมมากที่สุด ขณะที่ จ.สงขลา ลดลงประมาณ 15,000 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ที่ 62,000 ไร่ โดย อ.ระโนด ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

เตือน 14 จังหวัด ใต้ “ฝนถล่ม" ต่อเนื่องลากยาวถึง ก.พ. ปี64

 

อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ฝนจะลดลงอย่างมากจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยอ่อนกำลังลง ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะเร่งการระบายมวลน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมขัง ขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. แต่ปริมาณฝนจะไม่รุนแรง เป็นเพียงฝนระดับปานกลาง โดยจะตกหนักเป็นแห่ง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

“หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และหน่วยงานในจังหวัด ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือในการเร่งผลักดันน้ำ สูบน้ำเร่งระบายออกจากพื้นที่เกษตร รวมถึงชุมชน ตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ลำน้ำต่าง ๆ โดยเร็ว พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าหากปริมาณฝนลดลงจะช่วยทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้” ดร.สมเกียรติ กล่าว