ทิศทางส่งออกไทย ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน 

18 พ.ย. 2563 | 06:40 น.

ทิศทางส่งออกไทย ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ หน้า 8 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2563 โดย... ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ครั้งนี้ในปี 2020 แตกต่างจากทุกครั้ง เนื่องจากว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางไปรษณีย์จึงมีความสำคัญมาก บางรัฐไม่ให้มีการลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งเพื่อต้องการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

ในขณะเดียวกันบางรัฐอนุญาตให้มีการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ประชาชนต้องการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ เนื่องจากว่าไม่ต้องการไปยังสถานที่ที่มีคนหนาแน่น การเลือกตั้งจึงใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะต้องรอนับคะแนนเสียงจากไปรษณีย์ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต คว้าชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา 

 

นโยบายเศรษฐกิจภาพรวมของประธานาธิบดีไบเดน ประกอบไปด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้า 

 

ในขณะเดียวกันมีนโยบายที่จะหารายได้เข้าคลังมากขึ้น โดยการเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และเก็บภาษีส่วนต่างจากการลงทุน 

 

ทิศทางส่งออกไทย ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน 

 

ทางด้านนโยบายต่างประเทศ นายไบเดน มีท่าทีประนีประนอม สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศระบบพหุภาคี และจะไม่ใช้นโยบายแข็งกร้าวกับประเทศคู่ค้าเหมือนกับนโยบายที่ผ่านมาของประธานาธิบดีทรัมป์

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด การค้าระหว่างประเทศ คือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรายได้ของประเทศ การค้าระหว่างประเทศหมายถึงการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ความแตกต่างทางด้านทรัพยากรและความแตกต่างในเรื่องของเทคโนโลยี และความชำนาญในการผลิตสินค้าและบริการก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ แต่ละประเทศจึงพยายามเลือกผลิตสินค้าบางประเภทที่มีความถนัดและมีต้นทุนในการผลิตตํ่า และเลือกซื้อสินค้าบางชนิดที่ผู้บริโภคในประเทศต้องการแต่ผลิตในต้นทุนที่สูงหรือไม่สามารถผลิตได้ 

 

ปี 2019 ขนาดเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 0.62% ของ GDP โลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขึ้นกับการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคือ การส่งออกบริการ 

 

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ชี้ว่าส่งออกสินค้าและบริการของไทยมีมูลค่า 10.6 ล้านล้านบาท นำเข้ามีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น มูลค่าการค้าซึ่งคือมูลค่าส่งออกรวมกับมูลค่านำเข้าเท่ากับ 19.1 ล้านล้านบาท ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย 3 อันดับแรกคือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้คิดเป็น 38.5% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด 

 

รองลงมาได้แก่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

ประเทศไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด อาทิ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมนี คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และ สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 

 

ส่งออกของไทย คือส่วนของอุปสงค์ของต่างชาติซึ่งมีต่อสินค้าของไทย ส่งออกของไทยจึงขึ้นอยู่กับรายได้ของต่างชาติ เมื่อเศรษฐกิจในต่างประเทศมีการเติบโต มีผลผลิตมากส่งผลให้ต่างประเทศมีรายได้สูง หมายความว่าความต้องการของต่างชาติสูงขึ้นสำหรับสินค้าทั้งหมด รวมทั้งสินค้าต่างชาติเองและสินค้าของไทย ดังนั้น รายได้ต่างชาติสูงขึ้นจึงนำไปสู่ระดับการส่งออกของไทยที่สูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ ส่งออกของไทยยังขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาสินค้าของไทยแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับสินค้าต่างชาติ หรือเมื่อบาทแข็งโดยเปรียบเทียบแล้วทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นในต่างประเทศ กล่าวคือเงินบาทแข็งค่าแท้จริงส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยของต่างชาติลดลง ส่งออกของไทยลดลง ในขณะที่นำเข้าของไทยคือส่วนของอุปสงค์ของไทยซึ่งมีต่อสินค้าต่างชาติ เมื่อประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการของไทยสูงขึ้นสำหรับสินค้าทั้งหมด ทั้งสินค้าไทยเองและสินค้าต่างชาติ 

 

กล่าวได้ว่ารายได้ของไทยสูงขึ้นทำให้นำเข้าของไทยสูงขึ้น นอกจากนี้นำเข้าของไทยยังขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทิศทางความสัมพันธ์มีความไม่แน่นอน

 

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเศรษฐกิจโลกกับการส่งออกของไทย จากข้อมูลที่ได้ศึกษาในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยจากวิกฤตการเงินของสหรัฐในปี 2008-2009 เมื่อเศรษฐกิจโลกหดตัว 1% จะส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง 2.14% ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัว ในปี 2009-2014 เมื่อเศรษฐกิจโลกมีการเติบโต 1% ส่งออกของไทยมีการขยายตัว 1.32% 

 

และช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตระหว่างปี 2015-2018 พบว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโต 1% ส่งออกของไทยมีการขยายตัว 0.84% จะเห็นได้ว่าแม้ว่าส่งออกของไทยกับเศรษฐกิจโลกมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่ขนาดของการส่งออกของไทยยังมีความผันผวนซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของไทยเอง สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทกับการส่งออกของไทย ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากปี 2015-2019 เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และพบว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่า 1% จะส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัว 1.1%

 

การคาดการณ์ว่านโยบายของประธานาธิบดีไบเดน จะส่งผลในทิศทางใดต่อการส่งออกของไทย จำเป็นต้องประเมินว่า นโยบายจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยอย่างไร และในขณะเดียวกันนโยบายมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร 

 

จะเห็นได้ว่านโยบายของนายไบเดน จะทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศผ่อนคลายลงจากสภาวะสงครามการค้า กรอบความร่วมมือระบบพหุภาคีจะถูกใช้เป็นเวทีในการเจรจาทางการค้ามากขึ้น อาทิ องค์การการค้าโลก หรือ WTO และมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะกลับเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางการค้าข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTCC ที่สหรัฐ เป็นประเทศหลักในช่วงเวลาที่นายไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี 

 

ถ้าไทยเข้าร่วม CPTCC แม้ว่าจะส่งผลให้ไทยมีโอกาสทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งออกมากขึ้นแต่ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสีย และควรมีมาตรการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วม CPTCC อาจเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนในระยะยาว แม้ว่านโยบายของนายไบเดนจะส่งเป็นบวกต่อการค้าโลก 

 

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้คงจะไม่เห็นผลในทันที ในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้านโยบายคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ที่สำคัญเศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างชัดเจน จากมาตรการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างทางสังคมในหลายประเทศทั่วโลก เดือนตุลาคมที่ผ่านมา IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะติดลบ 4.4% ซึ่งทำให้คาดคะเนได้ว่าปี 2020 นี้ ส่งออกของไทยน่าจะติดลบอยู่ที่ประมาณ 9.4% 

 

แม้ว่าสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 ของโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง หลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่เป็นจำนวนมากและหลายๆ ประเทศในยุโรปได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบสอง ไม่มีความชัดเจนว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะยุติลงเมื่อไหร่และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน 

 

อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2021 จะดีขึ้นและมีการเติบโต 5.2% เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีการเติบโต 4% การส่งออกของไทยซึ่งขึ้นกับเศรษฐกิจโลกจะได้รับประโยชน์เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ในการใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ค่อยจะดีนัก จะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทางลบต่อการส่งออกของไทย

 

สรุปได้ว่า นโยบายของประธานาธิบดีไบเดน จะมีผลดีต่อการค้าโลก แต่จะไม่เกิดขึ้นในทันที ในระยะสั้นการส่งออกจะค่อยๆ ดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว แต่เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลลบกับการส่งออก  แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นแต่จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในระยะต่อไป การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตมากขึ้นประกอบกับนโยบายการค้าของนายไบเดนที่ได้ดำเนินการไป แต่ค่าเงินบาทจะต้องถูกควบคุมไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563