ป้องอีสานปลูกข้าวพื้นนุ่ม ผวา “หอมมะลิ” กลายพันธุ์ จริงหรือ?

02 ก.ย. 2563 | 06:25 น.

เปิดนานาทรรศนะ วงการข้าว หลังจากสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ผวาข้าวพื้นนุ่มยึดนาไทยอีสานแทนข้าวหอมมะลิ ด้าน “รศ.สมพร”  ผวาความหอมหายไป จะโดนลดเกรดไปขายในตลาดข้าวพื้นนุ่มแทน น่าห่วงมากกว่า

จากการที่รัฐบาลได้มีการรณรงค์ให้ปลูกข้าวพื้นนุ่ม ทำให้สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)   มีความกังวลว่าผู้บริโภคจะมีความสับสนในเรื่องคุณภาพข้าวระหว่าง "ข้าวหอมมะลิ" กับ "ข้าวพันธุ์นุ่ม" เพื่อให้ได้ของแท้ ก็คือ "ข้าวหอมมะลิ"จึงมีการรณรงค์ให้ซื้อผ่านสมาชิกโรงสีในสมาคม 160 โรง  และไม่เห็นด้วยที่จะมีการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวนุ่มมาในพื้นที่อีสาน ในแต่ละภาคส่วนมีความคิดเห็นอย่างไร

 

“หอมมะลิ” กลายพันธุ์

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ  กล่าวว่า ความจริงพื้นที่นาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "ปลูกข้าวพื้นนุ่ม" ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นนารับน้ำฝน จะปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงไม่ได้  ซึ่งข้าวพื้นนุ่มจะอยู่ในพื้นที่นาชลประทาน เช่น ข้าวปทุมธานี1  จะอยู่ในแหล่งชลประทาน เป็นต้น ซึ่ง ให้ผลผลิตสูงก็จริง แต่ว่าวันนี้ถ้ายังรักษาความเป็นสาวสวยของ “ข้าวหอมมะลิ” ให้คงอยู่ จะได้ราคาที่สูงอยู่ ก็คือให้รักษาความนุ่มและความหอมให้ได้

 

“แต่เมื่อ ความหอมหายไป เหลือแต่ความนุ่ม จะกลายพันธุ์ และ ถูกกดคุณภาพลงกลายเป็นแค่ “ข้าวพื้นนุ่ม” จะถูก ลดระดับลงมาแข่งกับตลาดข้าวพื้นนุ่มในพื้นที่ชลประทานแทน เหมือนข้าว “จัสมิน ไรซ์” ประเทศเวียดนาม ที่มาตีตลาดข้าวไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะต้องรักษาคุณภาพข้าวโดยเฉพาะ "ความหอม" ให้อยู่ให้ได้ เพื่อยกระดับราคาข้าวเกรดพรีเมี่ยม

 

อย่างไรก็ดีข้าวหอมมะลิ จะมีคุณภาพความนุ่มดีกว่าข้าวนุ่มทั่วไป เย็นแล้วยังนุ่มอยู่ แต่ข้าวที่มีพื้นฐาน กข.ปน ไม่ไวแสง เวลาข้าวเย็นจะแข็ง กระด้างนิดหนึ่ง รับประทานร้อนไม่มีปัญหา แต่เวลารับประทานข้าวเย็นจะมีความต่างของเนื้อข้าวอย่างชัดเจน สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องรักษาไว้ให้ได้ อย่าดึงสาวสวยให้ลดลงมา คุณภาพข้าวหอมมะลิจะไม่เชื่อถือ แต่จะต้องมีกลไกยกระดับราคาหอมมะลิขึ้นไปเพื่อให้คงอยู่ในระดับเกรดพรีเมี่ยม

 

 

 

ถ้ากลัวก็ไม่ต้องทำอะไร

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า เห็นแก่ภาพใหญ่ของประเทศ ปัญหาที่มีการหารือกัน "ข้าวขาว" ปกติส่งออกปีละ 5 ล้านตัน ปัจจุบันเหลือ 2-3 ล้านตัน  สิ่งที่สนใจก็คือจะทำอย่างไรให้การส่งออกข้าวคืนกลับมา เนื่องจากไม่มีสินค้าที่จะขาย จุดประสงค์ที่มาทำข้าวพื้นนุ่ม ทำอย่างไรที่จะทำให้มีสินค้าไปขายแข่งกับเวียดนาม เพราะข้าวหอมมะลิ ก็มีการตรวจดีเอ็นเออยู่แล้ว เพราะถ้าเกิดเรากลัวก็ไม่ต้องทำอะไร

 

“คิดว่าไม่น่าเป็นห่วง และเชื่อว่าผู้ส่งออกสามารถเช็กได้ว่าข้าวไหนเป็นข้าวหอมมะลิ หรือข้าวพื้นนุ่ม มีมาตรฐาน บริษัทผมส่งออกข้าวหอมมะลิด้วย 90% ไม่กังวล แต่ที่ต้องการก็คือภาพใหญ่ของประเทศ เพราะเราไม่มีข้าวพื้นนุ่มที่จะไปส่ง จึงเป็นที่มาให้ชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่ม”

 

อย่าปิดกั้น เล็งตอบโต้โรงสีแบนขายข้าว

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  กล่าวว่า ปิดกั้นไม่ได้ เพราะเกษตรกรมีสิทธิ์ที่จะเลือกปลุกพันธุ์ไหนราคาดี สามารถที่จะปลูกได้ทุกที่ในประเทศไทย คือ ไม่มีอำนาจที่จะมาสั่งการว่า ในพื้นที่ภาคอีสานจะต้องปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ แม้แต่ ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ภาคกลางก็สามารถปลูกได้ เช่นเดียวกัน หรือจะไปปลูกพื้นที่ไหนก็ได้ ทำได้หมด

 

“อย่างสมาคมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ผมไม่เห็นด้วย เกษตรกรเราจะต้องหลากหลาย ข้าวสามารถที่จะซื้อได้ทั่วประเทศ และที่สำคัญชาวนามีสิทธิ์ที่จะปลูกข้าวพันธุ์ชนิดไหนก็ได้ทุกที่ในประเทศไทย ส่วนโรงสีจะซื้อหรือไม่ไม่ได้สนใจ เพราะหากไม่มีชาวนาคุณก็ไม่มีข้าวที่จะขาย ดังนั้นหากโรงสีข้าวอีสานจะแบนข้าวพื้นนุ่ม  ผมก็จะแบนโรงสีเช่นเดียวกัน เพราะ ผมคิดว่าโรงสีที่มีคุณธรรมก็มีมาก อย่าขีดวงกรอบเฉพาะภาคอีสาน อย่าแบ่งชั้นวรรณะ”

 

ป้องอีสานปลูกข้าวพื้นนุ่ม ผวา “หอมมะลิ” กลายพันธุ์ จริงหรือ?

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ตอนนี้ชาวนาเราทำยุทธศาสตร์แล้ว เรียกว่ามีการตอบโต้แบนไม่ขายข้าวให้โรงสี ผมถามหน่อยว่าหากชาวนาไม่ส่ง ผมไม่ง้อ ต่อไปนี้ ปฏิวัติ และปฏิรูปชาวนาใหม่ชาวนาต้องลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องไปง้อโรงสี เชื่อว่ายังมีโรงสีมีมากที่จะมารับซื้อข้าวชาวนา อย่าแบ่งเหนือ อีสาน ภาคตะวันตก เกษตรกรทนไม่ได้

 

“ต่อไปนี้ สมาชิกสมาคมในฐานะผมเป็นนายกผมปฏิรูป หมด 1.จะต้องทำพันธุ์ข้าวที่ส่งออกได้ ตามที่ต่างประเทศต้องการ  ตอนนี้เราต้องหาข้าวพื้นนุ่มมาทำ แล้วถ้า ในโซนอีสานที่ปลูกได้ก็ให้ปลูก อย่าไปกีดกั้น จะต้องภาคนั้นภาคนี้ ย้ำเป็นทางเลือกของชาวนา  ไม่มาขีดเส้นว่าจังหวัดนี้จะต้องให้ชาวนาปลูกพันธุ์นั้นพันธุ์นี้”

 

ห่วงโอเวอร์ซัพพลายมากกว่า

 

เกษม ผลจันทร์

 

ด้านนายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์  กล่าวว่า การเลือกพันธุ์ข้าวปลูกชาวนามีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะปลูกข้าวพันธุ์ไหน ตามราคาและสภาพพื้นที่ คงจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ “ข้าวหอมมะลิ” จะปลูกในพื้นที่น้ำฝน ถ้าจะเอาข้าวพื้นนุ่มจะไปปลูกอย่างไร แต่ถ้าจะปนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คงไม่มีใครทำด้วยราคาและคุณภาพที่ต่างกัน "ข้าวหอมมะลิ"  เป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยม ไม่มีใครไปแตะอยู่แล้วด้วยคุณภาพของข้าว และพื้นที่ที่ได้รับรองก็คือ พื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วน ปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิ มาปลูกในพื้นที่อื่นด้วย ทำให้จำนวนข้าวมะลิเพิ่มขึ้นเกินความต้องการ หรือโอเวอร์ซัพพลาย แล้วถ้าเกิดว่ามะลิภาคอีสานปีละครั้ง ผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 350 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตก็ไม่โอเวอร์ แต่ด้วย ณ ปัจจุบันนี้ปลูกกันทั่วประเทศแล้ว อาทิ พิจิตร พิษณุโลก อ่างทอง และสุพรรณบุรี เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เปิดตัวสมาคมน้องใหม่ “โรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

"มั่นใจในพื้นที่ภาคอีสาน จะไม่มีใครนำข้าวพื้นนุ่มไปปลูกอยู่แล้ว เพราะอีสานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชลประทานแล้วนำข้าวนาปรังไปปลูกไม่ได้อยู่แล้ว แล้วข้าวนิ่ม ได้แค่ ความนิ่ม แต่ไม่ได้ความหอม เหมือนข้าวหอมมะลิ แล้วการที่จะนำข้าวเกรดพรีเมี่ยมกับข้าวธรรมดา จะไปปลอมปนทำให้เสียคุณภาพข้าวหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกไม่ได้ เพราะต้องตรวจดีเอ็นเอ ว่าใช่ "ข้าวหอมมะลิ" แท้หรือไม่"