เอกชนขอรัฐต่อมาตรการลดภาษีนิติบุคคล 100% หนุนใช้หุ่นยนต์

13 ส.ค. 2563 | 10:05 น.

ภาคเอกชนหวังต่อมาตรการลดภาษีนิติบุคคล 100% หนุนการใช้หุ่นยนต์ในประเทศ ชี้ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยนำเข้าเครื่องจักรกลกว่า 4 แสนล้านบาท ตั้งเป้า 10 ปีเป็นฮับส่งออกระบบอัตโนมัติอาเซียน

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) ถึงการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค.2563 เพื่อสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% หากโครงการมีการใช้ระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยไม่น้อยกว่า 30% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ให้ผู้ซื้อระบบหรือนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คาดว่าเร็วๆ นี้จะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้  ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยนำเข้าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 4 แสนล้านบาท และส่งออกระบบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าและส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 10% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท  โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียนภายใน 10 ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เกษตร และอาหาร รองรับการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์แห่งอนาคตมากขึ้น

“จากที่อุตสาหกรรมของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค 2.0 และ 3.0 ไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการเป็นสมาร์ท แฟคทอรี่ (Smart Factory) ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งให้หลายอุตสาหกรรมของไทยเดินหน้าสู่การปรับทัพเป็น Smart Factory อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการหันไปใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์ IOTs ระบบออโตเมชั่นสำหรับการปฏิบัติการ และ Big Data เข้าเสริมเพื่อการอยู่รอด”

นายสมหวัง กล่าวอีกว่า ต่อจากนี้จะมีการเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมไทยใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านผลิตภัณฑ์ (products) ด้านกระบวนการผลิต (process) ด้านการใช้แรงงานมนุษย์ (people) ซึ่งจะปรับไปสู่การใช้หุ่นยนต์ ระบบ IOTs เพื่อการดำเนินงานของทั้งสามด้านมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S Curve ทั้ง 10 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการพัฒนาของไทย แต่อาจมีการชะลอไปบ้างในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) แต่ อุตสาหกรรมอื่น ๆ  อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), และ อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub) จะมีการพัฒนาและเติบโตไปอย่างมากในปีนี้และอนาคต

เอกชนขอรัฐต่อมาตรการลดภาษีนิติบุคคล 100% หนุนใช้หุ่นยนต์

นายกัมปนาท ตันติพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการเสนอให้รัฐบาลทำการโปรโมทมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้งานหุ่นยนต์ในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการที่ต้องใช้งานหุ่นยนต์บางรายยังไม่รับทราบและเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ส่งเสริม รวมถึงระยะเวลาที่โครงการจะหมดอายุอาจจะทำให้การเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นนั้นไม่ทัน

ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานเพื่อคัดแยกหมวดหมู่การใช้ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน จากปัจจุบันมีการนิยามเหมารวมการใช้งานระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องจักรกลทั้งหมด ทำให้หน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ตรงจุด ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาการขอสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่ใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี  ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากตื่นตัวศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับกระบวนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 30-40% ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการปรับทัศนคติในการพัฒนากระบวนการผลิตในแบบเร่งด่วน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน เกิดความแม่นยำในการทำงานซ้ำๆ ด้วยแรงงานคน ช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

“ปัจจุบันไม่เพียงแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่สนใจนำเทคโนโลยี โรโบติกส์ และการใช้หุ่นยนต์ทดแทนในสายการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่เริ่มพร้อมปรับตัวเพราะปัจจุบันราคาหุ่นยนต์ปรับลดลงและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องลดการสัมผัสของมนุษย์และการสูญเสียของวัตถุดิบ ซึ่งประเมินว่าอาจเกิดการลงทุนด้านเครื่องจักรรองรับการผลิตรูปแบบดิจิตอลในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า”

นายกัมปนาท กล่าวว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปรับกระบวนการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและยา เครื่องดื่ม การเกษตร โลจิสติกส์มีแนวโน้มตื่นตัวมากที่สุด เพื่อทดแทนแรงงานที่มีข้อจำกัดและกำลังขาดแคลนในขณะนี้ สามารถทดแทนแรงงานที่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะทางไปทำงานด้านอื่นที่คุ้มค่ากว่า หลังผู้ประกอบการมีการลดจำนวนแรงงาน และลดเวลาทำงานของแรงงาน

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการตื่นตัวในการพัฒนาและปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะหุ่นยนต์ หรือ โรโบติกส์ และInternet of Things (IOTs) มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบเดิม ๆ ในยุคดิจิทัล(Disruption’ Digital) เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และยิ่งไปกว่านั้นกับการเกิดวิกฤติของโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก จึงเป็นตัวเร่งทำให้ผู้ประกอบการไทย ปรับทัศนคติในการพัฒนากระบวนการผลิตในแบบเร่งด่วนเพื่อฝ่าฟันธุรกิจให้อยู่รอดและเดินหน้าไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หากการผลิตในวันนี้ ยังคงพึ่งพาแรงงานมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดหรือการเฝ้าระวังรอบใหม่ ผู้ประกอบการไทยได้เริ่มศึกษาการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการลดการสัมผัสของมนุษย์ ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้จะใช้เวลาช่วง 4-5 เดือน ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 63 ในการศึกษาหาข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดการลงทุนด้านเครื่องจักรที่รองรับการผลิตรูปแบบดิจิทัล ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและสถานะการเงินของธุรกิจ

ซึ่งรายใดสามารถลงทุนได้ก่อนก็จะได้เปรียบในการปรับตัวสู่อนาคตที่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ให้น้อยลง จากการลดจำนวนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ความต้องการความแม่นยำที่ผ่านการทำงานซ้ำๆ โดยมนุษย์ การลดการสัมผัสและการสูญเสียของวัตถุดิบ และลดเวลาการทำงานของแรงงาน และทดแทนแรงงานคนที่จำเป็นต้องมีการ reskill ไปทำงานด้านอื่นที่เหมาะสมและคุ้มค่ากว่าการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งหากโรงงานได้มีการปรับกระบวนการผลิตก็ไม่ต้องกังวลกับวิกฤตอื่น ๆ ที่จะเกิดในอนาคต ฉะนั้นในช่วงนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพาอุตสาหกรรมไปสู่อนาคตได้อย่างแท้จริง

เอกชนขอรัฐต่อมาตรการลดภาษีนิติบุคคล 100% หนุนใช้หุ่นยนต์

สอดคล้องกับในช่วงวันที่ 23-26 กันยายนนี้ จะมีการจัดงานอินเตอร์แมค ที่เลื่อนจากกำหนดการเดิมคือ เดือนพฤษภาคม ก็จะมาเป็นช่วงเวลาดังกล่าวที่กำลังจะมาถึงนี้ นับได้ว่า เป็นจังหวะที่ดี ที่ผู้ผลิตจะได้มาชมความก้าวหน้าของเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆอย่างครบถ้วนที่สุด  ภายในงาน จะมีการจัดแสดงหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนาจนสามารถมีลูกตาอัจฉริยะเพื่อการมองเห็น ทั้งยังมีหุ่นยนต์ที่เพิ่มประสาทสัมผัสที่สามารถแยกแยะพื้นผิว ต่อยอดในการทำความสะอาดพื้นที่สแตนเลสหรือเงามัน หุ่นยนต์ 3D Printing gripper 

และการแสดง VR simulator หรือห้องจำลองภาพเสมือนจริงให้ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในสายการผลิตของตนได้เห็นถึงการทำงานอย่างจำลอง ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนสภาพงานแบบ Interactive ให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนได้เองตามรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งงานอินเตอร์แมค ครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์กับผู้ประกอบไทยที่ต้องการเรียนรู้และอัพเดทความก้าวหน้าของนวัตกรรมระดับโลกได้ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการจัดแสดงทางอุตสาหกรรมน้อย แต่เทคโนโลยีไม่ได้หยุดนิ่ง มีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ มาตลอด หากผู้ประกอบการไม่มาเรียนรู้ก็จะไม่ได้ไอเดียไปพัฒนาธุรกิจ หากจะมัวแต่จะรอให้โควิดหมดไปก็จะไม่ทันคนอื่น ซึ่งผู้ประกอบการรู้ดีว่าใครลงมือก่อน ก็ย่อมคว้าโอกาสได้ก่อนเสมอ