เงินกู้ 4 แสนล้าน ความจำเป็น ใช้ฟื้นฟูศก.

13 มิ.ย. 2563 | 06:00 น.

มีคำถามจากหลายฝ่ายถึงความจำเป็นในการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  เพื่อนำมาใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ใช้เพื่อทางการการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นบ้านบาท และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งใน 2 ส่วนแรกอาจจะไม่มีฝ่ายใดท้วงติงมากนัก เพราะเป็นเม็ดเงินที่ส่งต่อถึงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการสู้กับไวรัสโควิด-19

ขณะที่เม็ดเงินที่นำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น  อาจจะยังมีข้อติดใจในการใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ที่มองว่าหลายภาคส่วนอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์จากเงินกู้ก้อนนี้ โดยลืมนึกว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศส่งผลต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกภาคส่วนโดยตรง

เมื่อพิจารณาจุดนี้ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมเห่งชาติ(สศช) ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการใช้เม็ดเงินก้อนดังกล่าวนี้ไว้

ศก.โลกหดตัว 2-3%

สศช.ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ฉุดการหดตัวของเศรษฐกิจโลกลงมา จากการประมาณการของหน่วยงานระหว่างประเทศ คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะลดตัวลงราว 2-3 % ส่งผลโดยตรงต่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชน การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  ทำให้ทางเลือกในการการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆของปีนี้และในระยะถัดไปมีอยู่อย่างจำกัด

นอกจากนี้ การจ้างงานภายในประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานในสาขาท่องเที่ยวและกิจการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีแรงงานกว่า 4 ล้านคน แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถควบคุมการะบาดได้ แลจะมีผลเกี่ยวเนื่องกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก จากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว    การบริการ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม

เงินกู้ 4 แสนล้าน  ความจำเป็น ใช้ฟื้นฟูศก.

ห่วงโซ่ผลิตหยุดชะงัก

อีกทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก ส่งผลต่อการฟลิตสินค้าขั้นสุดท้าย การขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น เช่น เวชภัณฑ์ ยา อาหาร การเดินทางระหว่างประเทศ และวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ

รวมทั้ง จะเกิดการเปลี่ยน แปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต ที่แต่ละประเทศจะกลับมา สร้างความมั่งคงและขีดความสามารถในการรองรับวิกฤตของประเทศตัวเองมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนในช่วงวิกฤติ และอาจมีการกำหนดมาตรการห้ามส่งออกสินค้าบางประเภทที่จะส่งผลต่อความมั่งคงของประเทศ

อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล จะเร่งตัวขึ้นและมีบทดบาทในการดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ และวิถีชีวิตของประชานที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า

นอกจากนี้  การเดินทางระหว่างประเทศ  หลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 คลี่คลายแล้ว จะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศต่างๆ จะกำหนดมาตรการด้านสุขภาพของผู้ที่จะเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของประเทศต้นทางและปลายทาง เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่อาจจะอุบัติขึ้นใหม่ได้  แม้ว่าจะมีการค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ก็ตาม แต่ประเทศต่างๆ อาจจะไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชนภายในประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น

จากปัจจัยที่กล่าวมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนของประเทศ  เป็นวงกว้างโดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทำให้จำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือในการพยุงเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ให้สามาถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และรักษาการจ้างงานในภาพรวมของประเทศไว้ให้ได้

พึ่งโครงสร้างศก.ใหม่

ขณะเดียวกันความปกติใหม่ (New Normal) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  ทำให้ประเทศไทย จำเป็นต้องปรับโครงสร้างในการพึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนใหม่  เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก และการ   ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ มาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการต้านทานผลกระทบจากวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทั้งหมดจึงเป็นที่มา ของความจำเป็น ในการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่สศช.  ชี้ว่า การใช้เงินดังกล่าว จะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ละช่วงเวลา ตามกรอบการดำเนินงานไว้ 4 แผนงาน ทั้ง การลงทุนกิจกรรมพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  การฟื้นฟูเศรษฐกิจและชุมชนฐานราก  การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน  และ 4 .สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11-13  มิถุนายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกซเรย์เงินกู้ 4 แสนล้าน

รุมทึ้ง "เงินกู้" ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยอดทะลุ 8.4 แสนล้าน

เงินกู้ 4 แสนล้าน  ความจำเป็น ใช้ฟื้นฟูศก.