เมื่อ“เรืองไกร”ย้ายขั้ว ยุทธการใหม่บี้“ฝ่ายค้าน”

03 มิ.ย. 2564 | 11:02 น.

เมื่อ“เรืองไกร”ย้ายขั้ว ยุทธการใหม่บี้“ฝ่ายค้าน” รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3684 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.2564

เรียกเสียงฮือฮากันทั้งเมือง เมื่อเปิดรายชื่อคณะกรรมามิการ (กมธ.)วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 72 คน มีชื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นกมธ.โควต้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 

ทั้งที่บทบาททางการเมืองในอดีตเป็น “สมาชิกพรรคเพื่อไทย” หลังลาออกจากเพื่อไทย ได้เป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)  ก่อนเป็นอนุกรรมาธิการงบประมาณปี 2564 โควตา พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งล้วนอยู่คนละขั้วกับรัฐบาล  

ไม่แปลกที่หลายคนตั้งข้อสังเกตบทบาทของ เรืองไกร ข้ามฝากมาเป็น กมธ.งบประมาณฯ ปี 2565 สัดส่วนของ พปชร. น่าจะได้รับมอบหมายภารกิจ “ตรวจสอบและตอบโต้ฝ่ายค้าน” คู่ขนานไปกับการทำหน้าที่กมธ.งบประมาณฯ ปี 2565


ฝ่ายค้านทำงานไม่เต็มที่

หลังได้รับแต่งตั้งเป็น กมธ.งบประมาณฯ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยอมรับปนน้อยใจว่า เหตุผลสำคัญที่ย้ายมาอยู่กับซีกรัฐบาล และเตรียมสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  เพราะ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ให้เป็นกมธ.งบประมาณ 2564 ทั้งที่เตรียมการไว้แล้ว จนคืนวันที่ กรกฎาคม ปีที่แล้ว เอาชื่อตนออก

“ผมอยู่ไหนก็ทำงานให้ส่วนรวมได้ ปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ให้ผมทำงานตรงนี้ ทั้งที่เตรียมการไว้แล้วจนคืนวันที่ 3 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เอาชื่อผมออก แล้วคนทางฝั่งรัฐบาล คนที่เป็นรัฐมนตรี คนในสำนักงบประมาณ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล บอกว่าเรื่องแค่นี้ให้เป็นก็ได้ ผมก็บอกไปว่าไม่ได้เดือดร้อน

ผมได้เป็นคณะอนุกรรมการในโควตาพรรคเสรีรวมไทย ไม่ได้ขึ้นไปห้องใหญ่ เนื่องจากไม่ได้เป็นกมธ. ไม่ใช่พวกหิวแสง ทางฝั่งรัฐบาลเสียดาย เพราะไม่มีคนแม่นกฎหมายการเงินการคลัง ถ้าเป็นไปได้จึงอยากให้ผมมาทำงาน และถ้าตั้งให้เป็นก็ทำงานให้ มีหลายคนมาทาบทาม พรรคภูมิใจไทยก็มี เขาก็บอกว่า เรื่องแค่นี้สละให้ก็ได้ ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร มาปีนี้รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลอยากให้ผมเข้ามา และยังมีพรรคฝ่ายค้านพรรคเล็กที่ชวนด้วยเช่นเดียวกัน”

เบื้องหลังซบ พปชร.

หากย้อนเรื่องราวความหมางใจของ เรืองไกร กับ พรรคเพื่อไทย เริ่มเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นายเรืองไกร ได้ทำหนังสือถึง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเบื้องหลังการสลับชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 พ.ศ.2564   เนื่องจากมีแกนนำชื่อ “ภ.” โทรแจ้งว่าจัดคนไปเป็นกรรมาธิการฯ มีปัญหาจัดไม่ลงตัว จึงพูดจาโน้มน้าวจูงใจหาเหตุผลขอให้ เรืองไกร ไม่ต้องเป็นกรรมาธิการฯ โดยขอให้เป็นในปีหน้า 

“การเอาชื่อข้าพเจ้าออกนั้น ข้าพเจ้าเองก็เสียความรู้สึกอยู่มาก เพราะเกิดขึ้นหลังจากมีการแจ้งให้ทราบแล้ว ดังนั้น การที่มาเปลี่ยนชื่อข้าพเจ้าเป็นชื่ออีกคนหลังจากที่คุณ ภ. ขอนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรชี้แจง เพราะข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ กรณีนี้จึงควรอธิบายความกันอย่างเปิดเผยต่อไป เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ยังค้างคาใจต่อกัน”

                                                 เมื่อ“เรืองไกร”ย้ายขั้ว ยุทธการใหม่บี้“ฝ่ายค้าน”
 

บทบาทการเมืองในอดีต 

แท้ที่จริง บทบาทของ เรืองไกร โดดเด่นจากการยื่นฟ้องร้องเรื่องการที่กรมสรรพากร กรณี ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป  ไม่ต้องเสียภาษี เทียบกับ ซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท ต้องเสียภาษี เป็นการกระทำที่สองมาตรฐานหรือไม่ จากกรณีดังกล่าว เรืองไกร ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีการเงิน-การคลัง

เรืองไกร ได้ฉายา “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” จากกรณียื่นฟ้องร้อง สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นว่า การจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไป บ่นไป” ทางช่อง 3 เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ได้ตัดสินให้ นายสมัคร พ้นจากตำแหน่ง 

หลังจากนั้นบทบาทที่สังคมคุ้นเคยหนีไม่พ้นการยื่นร้องร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการเสียภาษี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยแจ้งบัญชีตอนเป็น รมว.กลาโหม ปี 2551 ว่ามีทรัพย์สินรวยผิดปกติหรือไม่  ยื่นตรวจสอบการเสียภาษีของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรี และนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน 

ล่าสุด เรืองไกร เคยออกมาระบุว่า ทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะเป็น “แมวที่จับหนูได้ทุกเมื่อ” 

ต่อนี้ไปน่าจับตาบทบาทของ เรืองไกร ที่พลิกจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” มาอยู่ “ฝ่ายรัฐบาล” เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 

เชื่อได้เลยว่า เรืองไกร จะเป็นผู้ “ตรวจสอบ-ตอบโต้” ฝ่ายค้านอย่างถึงพริกถึงขิงแน่...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :