ไทยแอร์เอเชีย อ่วมไตรมาส1ปี2564ขาดทุน3,391ล้าน

14 พ.ค. 2564 | 14:10 น.

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมโควิดผลประกอบการไตรมาส1ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 3,391.1 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของAAV 1,865 ล้านบาท จากรายได้หดร้อยละ 86 ผู้โดยสารลดฮวบร้อยละ78

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมโควิดระลอก2 ฉุดผลประกอบการไตรมาส1ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 3,391.1 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนในส่วนของบริษัทเอเชียเอวิเอชั่น(AAV) 1,864ล้านบาท

ในช่วงไตรมาส1ปี2564 ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้จำนวน 1,350.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 86 จากรายได้ในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 9,398.9 ล้านบาท โดยหลักมาจากรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 1,146.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมไตรมาส1ปี2564ขาดทุน3,391ล้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มในช่วงปลายเดือน
ธันวาคม 2563 และการออกมาตรการคุมเข้มในบางพื้นที่ ส่งผลต่อต้องการเดินทางของผู้โดยสารในประเทศ กอปรกับการเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัด ทำให้จำนวนผู้โดยสารในงวดนี้หดตัวร้อยละ 78 มาอยู่ที่ 980,000คน

อย่างไรก็ดีด้วยการจัดการบริหารเที่ยวบินและปริมาณที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ66 หรือลดลง 18 จุดจากปีก่อน 

นอกจากนี้ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 952 บาทต่อคน เนื่องจากมีรายได้หลักจากเส้นทางบินในประเทศเท่านั้น 

ทั้งนี้ บจ.ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้บริการเสริมในไตรมาสนี้ที่เท่ากับ 221 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะรายได้ในส่วนของการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง(Checked Baggage) การจำหน่ายอาหารและสินค้าบนเครื่องบิน (Infight) และค่าธรรมเนียมการเลือกที่นั่ง (Seat Selection) 

โดยหลักมาจากการหดตัวของจำนวนผู้โดยสารทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและในประเทศที่ร้อยละ 100 และ ร้อยละ 68 ตามลำดับส่งผลให้รายได้บริการเสริมต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่เท่ากับ 226 บาท หรือลดลงร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 4.558.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 58 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับ 10,769.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดีต้นทุนขายและการบริการมีจำนวน 2,816.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 65 จากไตรมาส 1ปี 2563 ที่เท่ากับ 8.050.6 ล้านบาท 

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมไตรมาส1ปี2564ขาดทุน3,391ล้าน

โดยหลักมาจากลดปริมาณเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง เป็นผลให้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามปริมาณการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอ้างอิงที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายพนักงานซึ่งลดลง โดยหลักจากนโยบายขอความร่วมมือให้พนักงานใช้สิทธิการลาโดยไม่รับค่าจ้างในระยะสั้นและระยะยาว

เช่นเดียวกันกับค่าบริการในสนามบินและลานจอดจากส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Charge) ค่าบริการที่จอดอากาศยาน (Parking Charge)และค่าบริการการเดินอากาศ (Air Navigation Charge) รวมถึงค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาลดลงตามชั่วโมงบิน 

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารลดลงร้อยละ 46 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายพนักงานจากการปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้เกิดคล่องตัวในการดำเนินงาน ทั้งนี้ต้นทุนไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 2.88 บาท เพิ่มขึ้นจาก1.28 บาทในไตรมาส 1 ปี 2563

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมไตรมาส1ปี2564ขาดทุน3,391ล้าน เนื่องจากการผลิตด้านผู้โดยสารที่ลดลงร้อยละ 79 จากการแพร่ระบาดระลอกที่สอง ขณะที่ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 0.41 บาท ลดลงร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากราคาน้ำมันและปริมาณการใช้น้ำมันที่ลดลง

อย่างไรก็ดี บจ. ไทยแอร์เอเชีย ควบคุมการตรงต่อเวลาของเที่ยวบินอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการตรงต่อเวลาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 98 จากร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 6.0 ชั่วโมงปฏิบัติการบินต่อวันของจำนวนเครื่องบินที่ปฏิบัติการบินลดลงจาก 9.4 ชั่วโมงปฏิบัติการบินต่อวันจาก
ไตรมาส 1 ปี 2563

สำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชียมีค่าใช้จ่ายอื่นจำนวน 1,406.2 ล้านบาท โดยหลักเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1,387.0 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ยังไม่รับรู้จากเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่มีรายได้อื่นจำนวน 204.3 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่เท่ากับ 1,586 ล้านบาท จากการบันทึกกำไรการจำหน่ายเครื่องบินจำนวน 1,331.6 ล้านบาท เมื่อปีก่อน ส่งผลให้มีผลขาดทุนจากกิจกรรมดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 3,207.6 ล้านบาท

ทั้งนี้มีต้นทุนทางการเงินจำนวน 425.6 ล้านบาท ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่เท่ากับ551.3 ล้านบาท โดยหลักเป็นค่าธรรมเนียมเพื่อยกเลิกสัญญาการกู้ยืมเงินระยะยาวก่อนถึงเวลาที่กำหนดเมื่อปีก่อน ขณะที่มีรายได้ภาษีเงินได้จำนวน 212.8 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนทางภาษีในงวดที่นำไปใช้ได้ในอนาคต 

ส่งผลให้บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA)มีขาดทุนสุทธิสำหรับงวดจำนวน 3,391.1 ล้านบาท และมีผลกำไรในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจากการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดสุทธิจากภาษีเงินได้จำนวน 192.9 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขาดทุนจากกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดนี้จำนวน3,198.2 ล้านบาท

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย(TAA) กล่าวว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 เราได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากรวมระยะเวลาตั้งเเต่ปลายไตรมาส 1 ปีที่เเล้ว ถือว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละธุรกิจการบินได้รับผลกระทบมา 1 ปีเต็มเเล้ว เเละเราพยายามปรับตัวทุกวิถีทาง 

สันติสุข คล่องใช้ยา ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การร่วมใจของผู้บริหารเเละพนักงานสมัครใจลาโดยไม่รับค่าตอบเเทนทั้งระยะสั้นเเละระยะยาว การปรับลดเที่ยวบินเเละสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ อย่างดีที่สุด

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,351 ล้านบาท ขาดทุน 1,865 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุน 671 ล้านบาท (ผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งไตรมาส1 ในปีนี้ เเตกต่างจากไตรมาส 1 ปีก่อน ที่ได้รับผลกระทบเพียงช่วงปลายไตรมาส) 

โดย TAA มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยรวมทั้งไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 66 และมีสัญญาณฟื้นตัวในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอัตราขนส่งเพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 70 จากแผนเริ่มฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวปลอดภัย เเละการบริหารจัดการปริมาณเที่ยวบิน 

ในไตรมาสนี้ TAA ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศอยู่ร้อยละ 42 จากจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศยังงดให้บริการชั่วคราว พร้อมดำเนินตามเเผนลดจำนวนเครื่องบิน 1 ลำ เหลือเครื่องบิน 61 ลำ ณ สิ้นไตรมาส 

“เราจำเป็นต้องเข้าถึงเเหล่งเงินทุน เพื่อรอดจากสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งน่ายินดีที่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราทำแผนปรับโครงสร้างกิจการสำเร็จ และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน 

จากแผนนี้จะทำให้ TAA มีเงินทุนรวม 6,825 ล้านบาท มาเพิ่มสภาพคล่องประคองธุรกิจได้อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งแหล่งทุนจะมาจากนักลงทุนรายใหม่ เเละการนำ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเทน AAV ผ่านการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียทุกราย” นายสันติสุขกล่าว

ไทยแอร์เอเชีย อ่วมไตรมาส1ปี2564ขาดทุน3,391ล้าน

ทั้งนี้เรายังได้รับสัญญาณที่ดี จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อาทิ การที่ ครม. เห็นชอบอนุมัติขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อไปอีกจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน 

แผนการกระจายวัคซีนทั้งภายในประเทศเเละต่างประเทศ ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ แผนการใช้ IATA Travel Pass เป็นพาสปอร์ตวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจโควิด-19 และได้รับการฉีดวัคซีนเเล้ว 

รวมทั้งโมเดล “ภูเก็ต เเซนด์บ็อกซ์” ที่จะเป็นการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

“จากแผนที่กล่าวมาเเละปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เราเชื่อว่า เมื่อโอกาสมาถึงไทยแอร์เอเชียจะเป็นสายการบินที่พร้อมที่สุดในการเเข่งขัน และรักษาการเป็นผู้นำตลาดได้อย่างเเน่นอน” นายสันติสุขกล่าว

อย่างไรก็ตาม TAA ยังตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อความตรงต่อเวลา ความปลอดภัยและสุขอนามัยสำหรับทุกคน พร้อมก้าวสู่วงการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ปรับตัวให้เป็นมากกว่าสายการบิน นำเสนอบริการที่หลากหลายผ่าน airasia.com แพลตฟอร์มที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์

เช่น บริการ SNAP จองตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักในราคาสุดคุ้ม รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการบินที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เปิดตัวบริการ เทเลพอร์ต เพื่อขนส่งสินค้าคาร์โกทางอากาศ และสินค้าภาคพื้นถึงมือลูกค้า ตอบรับการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโตในปัจจุบัน

ข่าวเกี่ยวข้อง: