10 เรื่องน่ารู้ องค์กร 130 ปี “โอสถสภา”

01 เม.ย. 2564 | 11:30 น.

การยืนหยัดบนเส้นทางธุรกิจมายาวนานถึง 130 ปีของ “โอสถสภา” ตำนานนี้ไม่ธรรมดา

ตลอดเส้นทางที่ผ่านมาของ "โอสถสภา" จากผู้บุกเบิก จวบจนปัจจุบันก้าวสู่รุ่นที่ 4 จากยอดขายหลักล้านทะยานสู่ 2.61 หมื่นล้านบาท เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายนับครั้งไม่ถ้วน

10 เรื่องน่ารู้ที่ นำมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับ “โอสถสภา” มีอะไรบ้างมาดูกัน

1. โอสถสภา เดิมชื่อ “เต๊กเฮงหยู” เป็นร้านค้าเล็กๆ ตึกแถวในย่านสำเพ็ง ก่อตั้งขึ้นในปี 2434 โดย นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม ต้นตระกูลโอสถานุเคราะห์ ซึ่งเดินทางจากแผ่นดินจีนมาก่อร่างสร้างตัวในสยามประเทศ  เริ่มต้น “เต๊กเฮงหยู” ขายของเบ็ดเตล็ด เช่น นาฬิกา ร่ม ถ้วยชาม โดยเน้นขายส่งไปตามต่างจังหวัด หรือมีลูกค้าจากต่างจังหวัดมาซื้อ

โอสถสภา

2. จุดเปลี่ยนของนายแป๊ะ เกิดขึ้น เมื่อห้างบี.กริมม์ แอนด์ โก นำยาชื่อ “ปัถวีพิการ” ซึ่งมีสรรพคุณแก้เมื่อ แก้แพ้ มาฝากขายที่ร้านเต๊กเฮงหยู เขาจึงมองเห็นโอกาสค้าขายของตัวเอง โดยนำ “ตำรายากฤษณากลั่น” ซึ่งเป็นสูตรยาโบราณ ของบรรพบุรุษติดตัวมาด้วย ชื่อของ “ยากฤษณากลั่น” สรรพคุณแก้ปวดท้อง ท้องร่วง เริ่มเป็นที่รู้จักพร้อมกับสัญลักษณ์ “กิเลน”

3. หลังกองเสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทำการซ้อมรบที่จ.นครปฐม เกิดล้มป่วยด้วยอาการท้องร่วงรุนแรง  และมีผู้นำยากฤษณากลั่นตรากิเลนมาให้กินจนหายป่วย  ร.6 จึงทรงแนะนำให้นำมาใช้ในกิจการเสือป่า และทรงบันทึกกิตติคุณของยากฤษณากลั่นตรากิเลนไว้ในหนังสือ “พระราชนิพนธ์กันป่วย”

4. หลังนายแป๊ะ เสียชีวิต นายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ลูกชายคนที่ 3  ก้าวขึ้นมารับหน้าที่สานกิจการต่อด้วยวัย 17 ปี และสร้างชื่อ “ยาทันใจ” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นยาทัมใจ) ด้วยวิธีคิดและกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่าง สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับคนไทย ทั้งการแจกใบปลิว โปสเตอร์ แคตตาล็อก รถแห่ ฉายหนังกลางแปลง การจัดโปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1 การใช้ “หมอลำ ลิเก ลำตัด” เป็นสื่อกลางโฆษณา รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มระบบเครดิตขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทำให้ “ยาทัมใจ” เติบโตและฮิตไปทั่วเมือง

ยาทัมใจ

5. ภาพโลโก้ ผู้หญิงบนซองยาทัมใจคือ “คุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์” ภรรยาคุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ นายหญิงแห่งโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) ชื่อในสมัยนั้นนั่นเอง

6. ก่อนใช้ชื่อ “โอสถสภา” เคยใช้คำว่า “โอสถสถาน” มาก่อน ซึ่งมีแนวคิดมาจากนามสกุล แต่เลิกไปเพราะขณะนั้นมีร้านขายยาจำนวนมาก นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านจนคล้ายกันไปหมด จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โอสถสภา” และมีวงเล็บ “เต๊กเฮงหยู”  ซึ่งคำว่า “โอสถสภา” เป็นชื่อเดิมที่รัฐบาลใช้ หมายถึงที่ขายยาของรัฐบาล คล้ายกับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งภายหลังรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้คำว่า “โอสถศาลา”

7. “โอสถสภา” เป็นผู้สร้างตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานเป็นเจ้าแรกของไทย โดยนำเข้า “ลิโพวิตันดี” มาจากประเทศญี่ปุ่น 

8. “โอเล่” เป็นลูกอมที่มีอายุยาวนาน 50 ปี มีเรื่องเล่าว่า ที่มาของชื่อ “โอเล่” (OLE’) อาจมาจากเสียงร้องเชียร์ในการแข่งขันสู้วัวกระทิงในสเปน ซึ่งวันนี้จากลูกอมโอเล่ในตำนาน กลายมาเป็น OLE’ Skin Care

โอเล่

9. ก่อนจะมีเป็น “M-150” เคยใช้ชื่อว่า “แม็กนั่ม M-150” และเคยมีทั้ง M-150 และ M-100 ก่อนจะเหลือเพียงแบรนด์ M-150 เท่านั้น 

10. โอสถสภา แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เคลื่อนไหวแล้ว "เพชร โอสถานุเคราะห์" หลังทิ้งหุ้น OSP

'Orizon-เพชร โอสถานุเคราะห์’ ขายบิ๊กล็อต OSP รวม 1.2 หมื่นล้านบาท

OSP ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ไม่กระทบการดำเนินงาน

OSP บิ๊กล็อต 2.5 หมื่นล้านบาท

“เพชร โอสถานุเคราะห์”' วางมือเปิดทางมืออาชีพบริหาร "โอสถสภา"