ธนาคารออมสินจ่อเปิด “สินเชื่อที่ดิน” ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยชาวบ้าน

28 มี.ค. 2564 | 10:31 น.

ออมสิน เดินหน้า ธนาคารเพื่อสังคม เตรียมเปิดสินเชื่อที่ดินช่วงปลายปีนี้ ปล่อยกู้ช่วยชาวบ้าน ไม่ต้องทนดอกแพง 20-30% หวังแยกบริหารออกจากแบงก์

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารยังมีแนวคิดที่จะเปิดให้บริการธุรกิจ สินเชื่อที่เกี่ยวกับที่ดิน เพิ่มเติมจากที่เปิดให้บริการ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ไปแล้ว เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนฐานราก หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่มีปัญหาสภาพคล่อง ให้สามารถนำที่ดินเข้ามาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ยไม่สูงเกินไปตามนโยบายของรัฐบาล

 

โดยรูปแบบการทำธุรกิจจะแยกออกจากโครงสร้างของธนาคาร เพื่อให้บริหารได้คล่องตัว แต่จะเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทอื่น หรือตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเองหรือไม่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด

 

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวย ธนาคาร ออมสิน

 

“หลังจากที่เราให้บริการสินเชื่อ มีที่ มีเงิน ไปช่วงต้นปี พบว่า มีความต้องการใช้สินเชื่อจำนวนมาก ทำให้วงเงินกู้เต็มอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นได้ชัดว่า มีคนที่กำลังเดือดร้อนอยู่อีกเยอะ ดังนั้นเราจึงมีแนวคิดขยายให้บริการสินเชื่อที่ดิน ช่วยประชาชนเพิ่มเติมอีก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมไม่เสียดอกเบี้ยเยอะเกินไป และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของออมสินในการเดินหน้าไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม”

 

ปัจจุบัน การขายฝากที่ดิน หรือให้สินเชื่อเกี่ยวกับที่ดินมีการคิดดอกเบี้ยกันค่อนข้างสูง โดยหากเป็นการขายฝากที่ดินกับนอกระบบจะคิดดอกเบี้ยถึง 20-30% ต่อปี แต่ถ้าเป็นการขอสินเชื่อที่ดินกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) จะคิดดอกเบี้ย 15%  ซึ่งหากธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า ก็ถือว่าจะช่วยลดภาระให้กับประชาชนได้มาก และยังสามารถดึงดอกเบี้ยในระบบสินเชื่อที่ดินให้ลดลงมาได้อีกด้วย

สำหรับช่วงไตรมาสแรก ธนาคารได้ให้ สินเชื่อฉุกเฉิน และ สินเชื่อ มีที่ มีเงิน ไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงยังเปิดตัวสินเชื่อจำนำทะเบียนรถด้วย ส่วนไตรมาส 2  จะเร่งดูแลลูกหนี้ ให้กลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ โดยจะช่วยยืดหนี้ ลดเงินงวด รวมถึงลดดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้  ขณะนี้ได้ทำไปแล้ว 5 แสนราย และน่าจะมีอยู่อีก 2-3 แสนรายที่จะต้องเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

 

ส่วนแผนงานในครึ่งปีหลัง ธนาคารวางแผนเดินหน้าเป็นธนาคารเพื่อสังคมเพิ่ม โดยเน้นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือต้องย้ายถิ่นฐานกลับสู่ชนบทมีเป้าหมายนับหมื่นครัวเรือน  โดยรูปแบบช่วยเหลือมีประมาณ 4-5 โครงการ

 

อาทิ การร่วมมือกับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์  เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปช่วยสร้างอาชีพให้กับคนว่างงานที่อยู่ในเมือง หรือในชุมชน  เช่น แฟรนไชส์ขายลูกชิ้นทอด ขายเครื่องดื่ม ขายขนม ขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง ราคาไม่สูง และไม่ต้องใช้ทักษะในการบริหารที่ซับซ้อน โดยธนาคารพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเงินกู้  

นอกจากนี้ จะร่วมมือกับสถาบันอาชีวะในการนำนักศึกษาอาชีวะ ลงพื้นที่ไปช่วยฝึกสอนวิชาชีพประเภทต่างๆ แก่ชาวบ้านในชุมชน เช่น สอนให้มีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างปูน ช่างไม้ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีวิชาชีพติดตัว สามารถออกไปรับจ้างประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: