ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย

03 ก.พ. 2564 | 11:50 น.

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย : คอลัมน์ห้ามเขียน หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย...พรานบุญ

 

     อื้ออึงกันทั้งธุรกิจโรงแรม เมื่อผู้ว่าฯหนุ่ย-ภัครธรณ์ เทียนไชยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564
 

     สั่งปิดโรงแรม สถานประกอบการในลักษณะคล้ายโรงแรม และปิดสถานที่ท่องเที่ยวทั้งของราชการ และเอกชน ในจังหวัดชลบุรีเป็นการชั่วคราวจนกว่า จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง  
 

     เป็นการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจของคณะกรรมการควบคุมโรคในระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน
 

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย

     เป็นการออกประกาศปิดสถานประกอบการ ทั้งๆที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจังหวัดชลบุรี  มียอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 6 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22-27 มกราคม 2564
 

     แต่พอสืบเสาะถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของคำสั่งปิดโรงแรมและสถานประกอบการ แหล่งท่องเที่ยวแล้ว ผู้ประกอบการทุกคนต่างปรบมือให้กับ “การตัดสินใจ” ของ “ผู้ว่าฯหนุ่ย ชุมแพ”
 

     เพราะประกาศปิดโรงแรม สถานประกอบการในวันที่ 28 มกราคม 2564 นั้น กลายเป็น ใบเบิกทาง ให้เจ้าของโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในจังหวัดชลบุรีกว่า 4,000 แห่ง พนักงานราว 5-6 หมื่นคน หายใจคล่องคอทันที
 

     เนื่องจากสามารถใช้ประกาศปิดโรงแรมเป็นข้ออ้างทางกฎหมายในการ เคลมสิทธิ์เงินชดเชย จากสำนักงานประกันสังคมได้ เนื่องจากเป็น “เหตุสุดวิสัย”
 

     คนงาน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ที่ทำงานในธุรกิจนี้จะได้รับเงินชดเชยการว่างจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) ในสัดส่วน 50% ของฐานเงินเดือน แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน เช่น พนักงานมีเงินเดือน 15,000 บาท และอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยาราว 7,500 บาท เป็นเวลา 2-3 เดือน

 

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย
 

     ข้อเรียกร้องของ 8 องค์กร ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวชลบุรี ซึ่งประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี, สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา, สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก, สมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี ,สมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก, ชมรมร้านอาหารเมืองพัทยา ที่รวมพลังกันทำหนังสือยื่นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ก่อให้เกิดอานิสงส์กันทั้งธุรกิจ
 

     ผู้ประกอบการพัฒยาที่ตอนนี้ กินไข่ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดหายไป รายได้ปีละประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เหลือไม่กี่ล้านบาทต่างพากันโล่งอกในเรื่องการรับภาระจ่ายเงินเดือนค่าจ้างลูกน้องไปทันที ไม่ต้องกัดฟันจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง หรือจ่ายตามชั่วโมงทำงานให้หนักสมองอีกต่อไป
 

     อีกาพญายมส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวบอกว่า ตอนนี้ ผู้ว่าฯหนุ่ย ชุมแพ อดีตนักสนุกเกอร์ชื่อดังในวัยเด็กผู้เคยหักไม้คิวของ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” “หนู ดาวดึงส์” “เต็ก หัวหิน” “เทพ มังกรหยก” “ป้อม เนาวรัตน์” ที่ถือเป็นเซียนสนุกเกอร์ในยุคนั้นได้รับเสียงชื่นชมไปถ้วนหน้าใน
 

     ยุทธจักรเมืองน้ำเค็ม....
 

     ขณะที่ รัฐมนตรีเฮ้ง-“สุชาติ ชมกลิ่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อดีตนักฟุตบอลทีมโอสถสภา ซึ่งเป็น “The man behind the sceen” ในการเปิดประตูสู่เงินชดเชยให้ผู้ประกอบการ ก็เดินโอ่อ่า สง่างาม ผ่าเผย อย่างยิ่ง
 

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย
 

     อีเห็นบอกว่า ความจริงข้อเสนอของผู้ประกอบการโรงแรมท่องเที่ยว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดสั่งปิดโรงแรมเกิดขึ้นหลากหลายพื้นที่ แต่ไม่มีที่ไหนที่เด็ดขาดสะเด็ดยาดเหมือนพ่อเมืองชลบุรี
 

     14 มกราคม 2564 นายจีระเกียรติ  ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ออกคำสั่ง ที่ 200/2564 ปิดสถานที่ โรงแรม และรีสอร์ท รวมถึงสถานที่ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ทำมาได้ 6 วัน ก่อนที่จะออกประกาศผ่อนคลายมาตรการ ในวันที่ 20 มกราคม 2564 เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายอย่างมากต่อธุรกิจ หากมีการบังคับใช้โดยเคร่งครัด
 

     พนักงานได้รับชดเชยจากเหตุสุดวิสัยๆไปกลุ่มหนึ่ง แต่ตอนนี้ “ใช้ไม่ได้” อีกต่อไป เพราะผ่อนผันการปิดโรงแรมไปแล้ว
 

     ผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสงคราม ก็พยายามเรียกร้องให้รัฐสั่งปิดกิจการโรงแรม สถานบริการเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากภาครัฐแต่อย่างใดทั้งๆที่เจอวิกฤตหนักหน่วงที่สุด และน่าจะเป็นพื้ที่สุดวิสัยที่สุด
 

     ความพยายามเหล่านี้เกิดขึ้นจาก ช่องว่างของมาตรการอะไรนะหรือมาดูนี่

 

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย
 

     วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2563  บอร์ดประกันสังคมได้อนุมัติกฎกระทรวง หลังจากนั้นนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และผ่านมติ ครม.ออกมา ให้ออกกฎกระทรวงชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) ในอัตรา 50% ของฐานเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะชดเชยไม่เกิน 90 วัน
 

     ทั้งนี้ มีเงื่อนไขชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) คือ จะต้องมีคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคแต่ละจังหวัดสั่งหยุดกิจการ หรือขอความร่วมมือหยุดกิจการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
 

     กฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นช่องในการนำเงินกองทุนประกันสังคม ไปใช้เยียวยาผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกอยู่ 11 ล้านคน ที่เดือดร้อนจากการว่างงาน ไม่มีรายได้ ถูกตัดเงินเดือน จากพิษของโควิดทันที
 

     เพียงแต่มีจำนวนผู้ได้รับการเยียวยา ชดเชยน้อยมาก
 

     พอมี “ผู้ฝูง” นำร่องที่ชลบุรี ขุมทรัพย์ของประกันสังคมจึงกลายเป็นบ่อที่ทุกคนถวิลหาในการเยียวยาพนักงานทันที
 

     อีการ้องกึกก้องว่าคอยดูหลังจากนี้ไปใครจะตามผู้ฝูงเมืองชลมาบ้างและถ้าตามมาเป็นพรวนจะเกิดอะไรขึ้น
 

     กองทุนประกันสังคมที่มีการกำหนดให้สมาชิกจ่ายเงินสมทบ 3% นายจ้าง 3% รัฐบาล 2.75% มีเงินอยู่ในมือทั้งสิ้น 2,224,716 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ก้อน
 

     ก้อนแรก เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) 119,052 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.35
 

     ก้อนที่สอง เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) 1,925,217 ล้านบาท และเป็นเงินสำรองจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 1,549,791 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.54
 

     ก้อนที่สาม  เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 165,212 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.43
 

     ก้อนที่สี่ เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 15,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.68
 

     เงินทั้งหมดขณะนี้ ได้มีการจัดสรรเงินไปลงทุนไว้หาผลตอบแทนทั้งสิ้น 2,104,508 ล้านบาท ถ้าจะนำมาจ่ายชอดเชยต้องบริหารการลงทุน หรือไม่ก็ต้องขายหุ้น ขายพันธบัตร ขายหุ้นกู้ออกไป
 

     คราวนี้มาดูจำนวนโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ปัจจุบันโรงแรมและที่พัก โฮสเท็ลในไทยมีอยู่ราว 5 หมื่นแห่ง รวมห้องพักกว่า 1.5 ล้านห้อง กว่าร้อยละ 95 ของโรงแรมทั้งหมดล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19
 

     ถ้ายึดตามข้อมูลของ ก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ถ้ายังเปิดทำการห้องพัก 1 ห้อง จะต้องใช้พนักงานโรงแรม 1.3 คน จำนวนพนักงานโรงแรมทั้งหมดจะตกกว่า 1.8-2.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่รับค่าจ้างในระดับต่ำ
 

     ถ้าเดินตามชลบุรีด้วยการสั่งปิดกิจการเพื่อเอาเงินจากเหตุสุดวิสัยมาใช้จะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่าเดือนละ 14,000 ล้านบาท ระยะเวลา 2 เดือนก็ปาเข้าไป 28,000 ล้านบาท 3 เดือนก็ปาเข้าไป 42,000 ล้านบาท
 

     สมาชิกประกันสังคมในมาตรา 33 ที่มีไม่ได้รับการเยียวยา “เอางัย” เงินในอนาคตจะถูกดึงมาใช้ก็ตอนนี้ละขอรับ
 

     สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามา ประตูทองกองทุนประกันสังคมเปิดอ้าซ่ารอแล้ว...อย่าห้ามที่อื่นทำนะ “พะณะท่าน”
 

ตบเท้าเข้ามาเล้ย เงินชดเชยสุดวิสัยพร้อมจ่าย