ธุรกิจ Internet Healthcare  เติบโตก้าวกระโดดหลังโควิด

18 ธ.ค. 2563 | 09:15 น.

ธุรกิจ Internet Healthcare  เติบโตก้าวกระโดดหลังโควิด : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

ธุรกิจการบริการสุขภาพผ่านอินเตอร์ เน็ต (Internet Healthcare) เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจในประเทศจีนที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากโควิด และกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอีกอย่างน้อยสิบปี เพราะว่าชาวจีนตื่นตัวต่อปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล และนโยบายปฏิรูปของรัฐที่เกื้อหนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีธุรกิจเกิดใหม่ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซด้านเภสัชกรรม โรงพยาบาลอินเตอร์เน็ต ตลอดจนไปถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยี การบริการฐานข้อมูล ระบบขนส่งด้านเภสัชกรรม ระบบ AI เฉพาะด้านสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นที่สนใจอย่างสูงของนักธุรกิจและนักลงทุนทุกระดับในจีน

 

โรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตเพิ่ม 10 เท่าใน 3 ปี  

 

ระบบนิเวศด้านสุขภาพในประเทศจีนกระจุกตัวอยู่กับระบบโรงพยาบาล ซึ่งมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง คือไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ทั่วถึง โดยที่ประเทศจีนมีประชากรสูงวัยและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน โรงพยาบาลระดับแถวหน้าสุด ซึ่งเรียกว่า Class III Grade A hospitals จึงมีอัตราการใช้เตียงเกินกว่า 100% มาโดยตลอด 

 

มองอีกนัยหนึ่ง โรงพยาบาลระดับ Class III Grade A นี้ มีอยู่กว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นเพียง 7% ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด แต่กลับต้องให้บริการคนไข้กว่าพันล้านรายต่อปีหรือคิดเป็นกว่า 45% ของจำนวนคนไข้ต่อปีทั่วประเทศ ในขณะที่ จำนวนโรงพยาบาลระดับล่างๆ มีอัตราการใช้เตียงเพียง 50-60% เท่านั้น หากถอยมาดูสถิติมหภาค ก็จะพบว่าระบบการให้บริการสุขภาพในจีนที่ผ่านมายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่มาก ยอดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวของชาวจีนคิดแล้วไม่ถึง 1 ใน 10 ของสหรัฐและญี่ปุ่น 

 

ปัญหาเหล่านี้เองเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจ Internet Healthcare เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน หลักๆ แล้วสามารถแบ่งได้เป็นสองกระแส ได้แก่

 

กระแสอีคอมเมิร์ซด้านเภสัชกรรม (Pharma E-commerce)

 

การซื้อยาผ่านช่องทางออนไลน์ในจีนเริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2015 เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มประกาศนโยบายกำหนดเพดานของรายได้จากการขายยาต่อรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลรัฐ และนโยบายห้ามโรงพยาบาลคิดกำไรจากการขายยา ทำให้โรงพยาบาลทั้งหลายผลักการซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ออกไปนอกโรงพยาบาล เป็นเหตุให้การซื้อยาผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการซื้อยาออนไลน์ต่อรายการทั้งหมดยังคงอยู่ที่ 6% เท่านั้นในปี 2020 จึงไม่แปลกที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนต่างก็เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ อาทิ AliHealth จากค่ายอาลีบาบา, PingAn Good Doctor, Yihaodian จากค่าย JD.com โดยบริษัทเหล่านี้ใช้ความได้เปรียบเรื่องของฐานผู้ใช้และระบบนิเวศน์ดิจิตัลที่มีอยู่แล้ว

 

กระแสการก่อตั้งโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ต

 

ในอีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตได้ถูกจัดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 26 แห่งในปี 2016 เป็น 269 แห่งในปี 2019 หลังจากที่รัฐบาลจีนได้มีการประกาศนโยบายปฏิรูประบบการบริการสุขภาพครั้งใหญ่ในปี 2018 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจสามด้านให้มีความชัดเจนขึ้นได้แก่ Internet medical care, Internet hospitals, และ Telemedicine และแน่นอนโรคระบาดโควิดเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลในเมืองต่างๆ อนุมัติโรงพยาบาลรูปแบบใหม่นี้อีกมาก คาดว่าหากรวมที่กำลังก่อสร้างอยู่จะมีจำนวนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ มีการคาดการณ์ว่าโรงพยาบาลระดับแนวหน้าล้วนแล้วแต่มีแผนก่อตั้งโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตควบคู่กันกับธุรกิจเดิม นั่นก็หมายความว่าจะมีโรงพยาบาลออนไลน์เกิดขึ้นอีกนับหลายๆ พันแห่ง

 

ผู้เล่นในธุรกิจโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่เป็นโรงพยาบาลอยู่แล้ว และกลุ่มที่เป็นบริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียลกันแล้วบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อาจไม่มีความได้เปรียบเสมอไปเนื่องจากธุรกิจสุขภาพมีความละเอียดซับซ้อนเป็นเฉพาะตัว กอปรกับโรงพยาบาลดั้งเดิมก็สามารถปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยีได้หลากหลายจากการให้บริการด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่หลากหลายในประเทศจีน และมีฐานคนไข้และความน่าเชื่อถือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ธุรกิจ Internet Healthcare  เติบโตก้าวกระโดดหลังโควิด

 

เติบโตแบบก้าวกระโดดไปอีกสิบปี 

 

ธุรกิจการให้บริการสุขภาพบนอินเตอร์เนท เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอีกอย่างน้อยสิบปี เนื่องจากปัจจุบันการหาหมอผ่านออนไลน์คิดแล้วเป็นเพียง 7-8% ของตลาดทั้งหมด และยังเป็นเพียงกรณีแบบขั้นพื้นฐาน หากสัดส่วนการหาหมอออนไลน์เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 20-25% นั่นหมายถึงการเติบโตของมูลค่าตลาดสุขภาพอินเตอร์เน็ตในเชิงโครงสร้างไปอีกหลายๆ ปี 

 

สุดท้ายแล้วจะเป็นการพัฒนาไปสู่การกระจายตัวจากการมีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางไปสู่การเน้นความต้องการของคนไข้เป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานและลดความไม่มีประสิทธิภาพในระบบ มีธุรกิจที่เกิดใหม่ตามห่วงโซ่ธุรกิจนี้มากมายตั้งการให้บริการสุขภาพ การขายยาออนไลน์ที่ได้กล่าวไปถึงแล้ว ไปจนถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยี การบริการฐานข้อมูล ระบบขนส่งด้านเภสัชกรรม ระบบ AI ด้านสุขภาพ และอื่นๆ 

 

รัฐบาลส่งเสริมจริงจัง – เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศจีน นโยบายรัฐมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง โดยปี 2014 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบริการสุขภาพอินเตอร์เน็ต โดยรัฐบาลเริ่มอนุญาตให้แพทย์ให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ได้และผ่อนปรนเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาผ่านช่องทางออนไลน์ และนี่ก็เป็นจุดที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และบริษัทยาต่างเข้ามาแข่งขันในตลาดใหม่นี้ 

 

ในปี 2015 บริษัท WeDoctor จากค่าย Tencent ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตแห่งแรกในเมืองอูเจิ้น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทั่วประเทศ และหลังจากนั้นโรงพยาบาลอินเตอร์เน็ตก็ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็วตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น  ปีทองของการปฏิรูปน่าจะอยู่ที่ปี 2018 ที่รัฐบาลจีนได้กำหนดกรอบการพัฒนา “Internet + Healthcare” และเปิดให้ทั้งโรงพยาบาลดั้งเดิมและบริษัทแพลตฟอร์มบุคคลที่สาม สามารถเข้ามาให้บริการด้านสุขภาพบนอินเตอร์เน็ตได้ 

 

จนทำให้มีความตื่นตัวเรื่องการกระจายการให้บริการและปรับปรุงรูปแบบธุรกิจของโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว การพัฒนาได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2019 จนกระทั่งมาปีนี้ที่โรคระบาดโควิดผลักดันยกระดับความตื่นตัวของธุรกิจนี้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงแม้โรคระบาดเกือบหายไปจากประเทศจีนแล้วแต่ความต้องการการบริการสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 

 

ธุรกิจนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่อาจกำหนดผู้ชนะได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เล่นที่ได้เปรียบน่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับ Class III ที่มีโครงข่ายในเมืองชั้นสองชั้นสามด้วย ส่วนผู้เล่นที่เป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่จะแข่งขันได้ต้องสามารถรวบรวมทรัพยาการด้านการแพทย์มาอยู่ในระบบนิเวศของตนเองให้ได้ โดยทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้มีระบบการให้บริการออนไลน์เป็นของตนเอง 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3637 วันที่ 20-23 ธันวาคม 2563