รัฐอัดฉีด"คนละครึ่งเฟส 2- เติมเงินบัตรสวัสดิการ" 4.35 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งแรกปี 64

03 ธ.ค. 2563 | 01:12 น.

กระตุ้นกำลังซื้อหนุนศก.โค้งแรกปี 64 รัฐอัดฉีด 4.35 หมื่นล้าน ผ่าน“คนละครึ่ง” เฟส 2 เพิ่มอีก 5 ล้านราย จ่าย 3,500 บาท/ราย เป็นเวลา3 เดือนรัฐร่วมจ่าย และเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการอีกเดือนละ 500 บาท "อาคม" ย้ำยังจำเป็น สัญญาณกำลังซื้อยังแผ่ว ส่วนจะต่อ"คนละครึ่ง"ไปตลอดปี 64 หรือไม่ ขอดูเป็นรายไตรมาส

 

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)  ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 2 โครงการ วงเงินรวม 43,500 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่

 

1.มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 วงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท เป็นมาตรการมีรูปแบบการดำเนินเช่นเดียวกับระยะแรกที่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน มาตรการในระยะ 2 มีรายละเอียดเพิ่ม คือ จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน โดยจะได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท 

 

ทั้งนี้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดไว้หลังจากที่ลงทะเบียนรับสิทธิไปแล้ว จะยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ มีกำหนดการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564  และเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่ง อีกคนละ 500 บาท โดยจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่งออกไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564  โดยมีรายงานว่ากระทรวงการคลังเตรียมเปิดให้มีการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 7 เงื่อนไข “เที่ยวไทยวัยเก๋า”รัฐจ่ายไม่เกิน5พันบาทให้ผู้สูงวัยเที่ยว

ศบศ.เคาะแล้ว "คนละครึ่งเฟส2" แจก 3,500 บาทต่อคน

เฮ! "คนละครึ่ง"เฟส 2 - "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"เคาะแล้ว

 

2.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน วงเงินรวม 21,000 ล้านบาท จากเงินกู้ส่วนการเยียวยาเศรษฐกิจ โดยมีเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 

 

นอกจากนี้ ศบศ.ยังเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แจงรายละเอียด ดังนี้ 

 

1.ปรับปรุงการใช้สิทธิการจองห้องพักจากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ  

 

2.ขยายช่วงเวลาการจองจากเวลา 06.00–21.00 น.เป็นเวลา 06.00–24.00 น.   

 

3.เพิ่มจำนวนห้องพักจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน ทั้งนี้ จำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนค่าที่พัก 

 

4.ขยายเวลาใช้สิทธิถึง 30 เม.ย.2564  

 

5.เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตแต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ร่วมโครงการได้

 

6.อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวใช้ระบบคูปองออนไลน์ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ 

 

7.ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุน 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และ เชียงราย

 

8.กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

 

ส่วนโครงการกำลังใจได้เห็นชอบปรับปรุงโครงการ โดยให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ โดยบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก โดยมีเวลาเปิดให้สมัครภายใน 15 ธ.ค.2563

 

นอกจากนี้ ศบศ.เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ (ท่องเที่ยววัยเก๋า) โดยมีรายละเอียดคือ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยวโดยมีระยะเวลาของโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) โดยมีราคาค่าใช้จ่ายต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคนต่อโปรแกรม และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท 

 

สำหรับบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจ ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ทั้งนี้ บริษัทนำเที่ยวแต่ละรายสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย โดยโครงการมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงวัยเข้าร่วมโครงการ 1 ล้านคน และรัฐจะอุดหนุนเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยใช้วงเงินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกันตามที่ได้มีการของบประมาณไว้

 

"อาคม" ชี้"คนละครึ่ง"ยังจำเป็นช่วงกำลังซื้อแผ่ว

 

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังต้องเดินหน้าในการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศต่อเนื่อง ด้วยการขยายอายุมาตรการคนละครึ่งออกไปอีก 3 เดือน หรือถึงเดือนมี.ค.2564 เพราะยังเห็นสัญญาณการแผ่วตัวของกำลังซื้อในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าอยู่ ประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีผลกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพียงครึ่งหนึ่งของการเติบโตการท่องเที่ยวในประเทศปกติที่อยู่ที่ 6% ของจีดีพี ดังนั้นจึงต้องยังคงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป
   

“รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติที่เข้ามาในไทยมีสัดส่วน 12% ของจีดีพี ขณะที่ท่องเที่ยวภายในประเทศคิดเป็น 6% ของจีดีพี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีผลกระตุ้นแค่ครึ่งหนึ่งของ 6% เท่านั้น ดังนั้นหากมีการเปิดประเทศ แต่ยังคงระมัดระวัง ก็จะทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าวมากขึ้น”นายอาคม กล่าว

 

ส่วนรัฐบาลจะขยายทั้งโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกันออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 หรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า ขอดูเป็นรายไตรมาสก่อนว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรือไม่ และการเติบโตของทุกภาคส่วนเป็นอย่างไร ส่วนการตั้งกองทุนพยุงการท่องเที่ยวนั้นเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน ที่รัฐบาลพร้อมรับพิจารณา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกัน
 

รมว.คลัง ยังกล่าวว่า แม้คาดการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า แต่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังจะต้องสอดประสานกัน เพื่อร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากนโยบายการเงินไม่เอื้อ​ เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้​ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจต้องการการฟื้นฟู จำเป็นจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อเอื้อต่อภาคเอกชน​ และเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายเงินลงไป​ เม็ดเงินต้องอยู่ในระบบ​ นโยบายการเงินจะเริ่มเข้มงวดไม่ได้​ เพราะการฟื้นตัวต้องใช้เวลา