ย้อนตำนาน ‘คณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์’

04 พ.ย. 2563 | 04:55 น.

ย้อนตำนาน ‘คณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์’ : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,624 หน้า 10 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน 2563

หนึ่งในข้อเสนอจากการประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกประเทศ ที่รัฐบาลลุงตู่รับลูกด้วย คือ ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือ ปรองดอง ก็สุดแล้วแต่จะตั้งชื่อ ขึ้นมาชุดหนึ่ง

 

โดยคาดว่ามีตัวแทนทุกฝ่ายของคู่ขัดแย้ง ตัวแทน ส.ส. ส.ว. รัฐบาล ภาคประชาชน นักวิชาการ ม็อบฯ ถกกันในวงนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 4 พ.ย.63

ม็อบคณะราษฎร ลั่นไม่ร่วม "คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์"

ปรองดองสมานฉันท์ หัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ประธานกรรมการ’

“ชวน”ทาบ“อดีตนายกฯ-อดีตปธ.รัฐสภา”ผลักดันปรองดอง

 

จากประสบการณ์ทำข่าวความขัดแย้งในยุคหลัง ตั้งแต่ ปลายปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างทางหรือปลายทางของความขัดแย้งก็มักจบด้วย “คณะกรรมการสมานฉันท์-ปรองดอง” ที่เป็นกลไกที่มักหยิบมาใช้

 

ปี 2552 “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ตั้งขึ้นมาหลังมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” โดยกลุ่มนปช. 

 

 

ย้อนตำนาน ‘คณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์’

 

 

ตอนนั้นรัฐสภาเป็นเจ้าภาพในการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้ง 40 คน มีข้อสรุปในการสมานฉันท์ ข้อเสนอในระยะเร่งด่วนเรียกร้องทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้ชุมนุม สื่อมวลชนและภาคประชาชน 

 

ปี 2553 มีการตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” หลังเหตุการณ์สลายชุมนุม ช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน เพื่อเข้ามาค้นหาความจริง และทำข้อเสนอในการสร้างความปรองดอง

 

 

 

ชุดนี้ใช้เวลาทำงาน 2 รัฐบาล เพราะเสร็จสิ้นในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รายงานมีความยาว 276 หน้า แต่สุดท้ายรายงานฉบับนี้ส่วนใหญ่อยู่บนหิ้งมากกว่านำมาปฏิบัติ

 

แต่แล้วปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้ง “คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)” ขึ้นมาปัดฝุ่นรายงานของ คอป.  

 

ข้อเสนอที่ผลักดันสำเร็จคือ จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2548-2553 ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 7.75 ล้านบาท ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ก็เยียวยาลดหลั่นลงมา และเปิดเวทีประชาเสวนาหาทาง ออกประเทศ 108 เวที ซึ่งเป็นการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 

 

 

 

ส่วนในยุคคสช. หลังการชุมนุมของกปปส. ปี 2557 มีการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ปี 2558 คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปี 2560 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

 

ดังนั้น ก็ต้องติดตามรูปร่างหน้าตา ของคณะกรรมการปรองดองในปี 2563 ภายใต้บริบทที่มีความละเอียดอ่อนกว่าทุก ครั้ง ว่าจะออกมาอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใด และผลออกมาอย่างไรบ้าง