“อัจฉริยะ”บุกพาณิชย์ ล้วงข้อมูลเส้นทางหน้ากากฯ

17 มี.ค. 2563 | 08:23 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม  เดินทางมากระทรวงพาณิชย์เพื่อขอข้อมูลการจ่ายหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.)รักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน  มาพบและชี้แจงข้อซักถามของนายอัจฉริยะ

โดยนายอัจฉริยะ กล่าวว่ามาเพื่อยื่นหนังสือขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ ข้อมูลการจ่ายหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ เช่น  รายชื่อบริษัททั้ง 11 แห่ง ทำไมจึงกำหนดแค่ 11 แห่งมีโรงงานแห่งอื่นอีกหรือไม่ และมีวิธีการจัดส่งหน้ากากอนามัยแก่กรมการค้าภายในอย่างไร วิธีการขออนุญาตส่งออก เป็นต้น โดยสงสัยว่ากรมมีวิธีการขั้นตอนการส่งให้หน่วยงานต่าง ๆอย่างไร เพราะมีภาพออกมาว่ามีการส่งหน้ากากเป็นกระสอบไปให้สมาคมร้านขายยาไม่ได้เป็นกล่อง รวมทั้งการส่งไปให้กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลทั้ง 7 แสนชิ้น ที่ได้รับข้อมูลมากระทรวงสาธารณสุข ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลจริงหรือไม่ มีการยักยอกทำให้เล็ดลอดไปที่ไหนที่กรมการค้าภายในไม่ทราบหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนในการชี้แจงของภาครัฐเพราะมีเอกชนร้องเรียนว่าสินค้าที่จัดส่งให้กรมกลับถูกนำไปส่งออก หรือนำไปขายในตลาดมืดหรืออยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นจึงอยากทราบว่ามีขั้นตอนการจัดส่งบริหารจัดการอย่างไร และต้องการให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงโดยละเอียด เพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่าง ถูกต้องโปร่งใส

“อัจฉริยะ”บุกพาณิชย์  ล้วงข้อมูลเส้นทางหน้ากากฯ

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.)รักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมพร้อมจะชี้แจงทุกข้อสงสัยรายชื่อโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่งกรมการค้าภายในได้ข้อมูลมาจากองค์การอาหารและยา(อย.) และองค์การเภสัชกรรม เพื่อชี้เป้าว่าโรงงานมีอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะทั้งสองหน่วยงานมีข้อมูลโรงงานที่ไหนบ้าง ซึ่งต้องเข้าใจว่าหน้ากากอนามัยเป็นเวชการทางการแพทย์อย่างหนึ่งมี 2 กลุ่ม ถ้าเป็นเวชการทางการแพทย์ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  และบางกลุ่มเป็นหน้ากากทั่วไปเช่น หน้ากากใช้ในโรงงาน หน้ากากแฟชั่น ที่ไม่ได้เป็นเวชการทางการแพทย์ที่ไม่ต้องได้รับการรับรองจากอย.แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมอ. นั่นคือเหตุผลว่าทำไมกรมจึงเริ่มต้นที่ 11 โรงงาน  และจากนั้นก็เรียกตัวแทนโรงงานเหล่านี้มาหารือกัน ซึ่งก็หารือกันตั้งแต่ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5แต่เน้นในเรื่องของหน้ากากคาร์บอน ดังนั้นฐานข้อมูลหลักโรงงานของกรมมาจากอย. เพราะทุกโรงงานจะจำหน่ายหรือส่งออกไม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากอย. ถ้านอกเหนือจากนี้ถือว่าไม่ได้รับการรับรองส่วนมีการแอบอ้างหรือไม่อย่างไรนั้นต้องมีการตรวจสอบต่อไป

“อัจฉริยะ”บุกพาณิชย์  ล้วงข้อมูลเส้นทางหน้ากากฯ

ส่วนที่มีการกักตุนหน้ากากอนามัยนำไปขายผ่านระบบออนไลน์นั้นกรมก็ดำเนินคดีไปหลายราย และไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมหน้ากากถึงเล็ดลอดออกไป เพราะกรมการค้าภายใน เริ่มเข้ามาดูเข้มงวดเรื่องกากอนามัยในวันที 4 ก.พ.2563 และให้โรงงานชี้แจงข้อมูลปริมาณหน้ากากวันที่ 6 ก.พ.2563 ทำให้กรมได้ทราบถึงปริมาณหน้ากากในเบื้องต้น จากนั้นก็กำหนดให้โรงงานแจ้งข้อมูลทุกวันที่ 10 ของเดือน ดังนั้นคำถามที่ว่าทำไมถึงมีหน้ากากอนามัยไปขายในระบบออนไลน์ก็อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่กรมจะเข้าไปกำกับดูแลก็ได้ ซึ่งกรมย้ำว่าเข้ามาดูแลเรื่องนี้ในวันที่ 4 ก.พ.2563